วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดเวทีนำเสนอผลงาน AI Innovation Jumpstart Batch2 BKK : Demo Day ภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARI Skill Development Project)” จำนวน 20 ผลงาน ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลงานที่พร้อมจะพัฒนาสินค้าและบริการ และนำเสนอต่อนักลงทุนแล้ว รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ ARIPOLIS หรือเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในเขตพื้นที่ EECi ด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไป พร้อมกันนี้ ทุกทีมยังได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ทีมละ 100,000 บาท โดยมี 3 ผลงานเข้าตาคว้า Popular Vote รางวัลละ 5,000 บาท
ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. กล่าวว่า งานส่งเสริมเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สวทช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ หรือ Automation Robotics and Intelligent System: ARI Skill Development Project เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรขั้นสูงอันเป็นความต้องการของประเทศ คือ โครงการ ARI Academy มุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดนวัตกร แก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้ และโครงการ AI Innovation JumpStart เพื่อฝึกทักษะให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ARI ต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ และต่อยอดใช้ได้จริงในอนาคต อันเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันตามนโยบายของประเทศ โดยการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้มีการจัด Boot Camp เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ Design Thinking และ Lean Canvas Business Model ให้แก่นักพัฒนาเทคโนโลยีและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมกับนำต้นแบบดังกล่าวไปให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน และได้คัดเลือกทีมที่มีความพร้อม ความสามารถในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คงเหลือ 20 ทีม เพื่อรับทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นผลงานที่พร้อมแล้วจะนำเสนอสู่สาธารณชน พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ และพร้อมที่จะนำเสนอต่อนักลงทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไป
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งาน Demo Day ครั้งนี้ เป็นวันสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มเติมในเรื่อง soft skills ได้แก่ ทักษะการทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การเจรจาต่อรอง การบริหารเวลา และการบริหารงบประมาณ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้กับทุกเรื่องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันผลงาน ARI ที่ได้พัฒนาต้นแบบขึ้นให้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป ซึ่ง สวทช. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านกลไกบริการภาคเอกชนต่าง ๆ ที่มีรวมถึงกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย โครงการนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในสาขาด้าน ARI ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นการรองรับเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ ARIPOLIS ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วยส่วนหนึ่ง
ด้านหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับทุนต้นแบบและคว้ารางวัล Popular Vote จากผลงานเรื่อง AI Blood Pressure Monitor: ส่งค่าความดัน เบาหวานจากบ้าน ผ่านมือถือ ถึงมือแพทย์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข นายแพทย์นุสิทธิ์ ชัยประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพัฒนานิคม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า BP & Glucose Monitor เป็นแอปพลิเคชัน ที่สามารถอ่านค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดจากเครื่องวัดความดันโลหิตและเครื่องวัดน้ำตาลทั่วไป แล้วแปรผลค่าให้คำแนะนำ แจ้งเตือนความผิดปกติไปยังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่สังกัดโดยอัตโนมัติในทันที โดยแอปนี้จะสามารถอ่านค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดจากเครื่องวัดฯ พร้อมส่งค่าตัวเลขไปยังฐานข้อมูลโรงพยาบาล แปลผลความผิดปกติ และให้คำแนะนำเบื้องต้น พร้อมสามารถตรวจสอบรายงานย้อนหลังค่าความดันโลหิตและค่าน้ำตาล แสดงผลเป็นกราฟ ซึ่งใช้งานง่าย เพียงใช้โทรศัพท์ส่องที่หน้าจอเครื่องวัดฯ กับเครื่องวัดยี่ห้อใดก็ได้ที่ได้รับมาตรฐานในท้องตลาด ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สภาวะสุขภาพของคนไข้ สามารถให้การช่วยเหลือได้เหมาะสมทันท่วงทีแม้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล และเมื่อคนไข้มารับบริการที่โรงพยาบาลจะได้รับบริการอย่างรวดเร็ว พร้อมลดความผิดพลาดจากการคีย์ค่าความดัน ค่าน้ำตาลในเลือดเข้าไปในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล รวมถึงลดปัญหาความดันโลหิตสูงขณะวัดที่โรงพยาบาล และที่สำคัญเหมาะกับยุค New Normal ที่ลดความแอดอัดของโรงพยาบาล ทำให้แพทย์มีเวลาดูแลคนไข้หนักมากขึ้น
ทั้งนี้ 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1: การแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ 1) AI Blood Pressure Monitor: ส่งค่าความดัน เบาหวานจากบ้าน ผ่านมือถือ ถึงมือแพทย์ 2) Adasoft: ระบบนับ-มัดแพ็คยาอัตโมัติ Smart Pre-Pack Medical 3) Arcadia: ผู้ช่วยตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ก่อนและหลังการผ่าตัด กลุ่มที่ 2: ARI สำหรับการอนุรักษ์พลังงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 4) AI Trash: Auto Trash ยิ่งทิ้ง ยิ่งฉลาด 5) AltoTech: ช่วยธุรกิจโรงแรมลดการใช้พลังงานลง 30% ด้วย AI และ IoT 6) FireFire: หัวดับเพลิงอัจฉริยะ กลุ่มที่ 3: ARI สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ 7) IMERsInnovation: ระบบจัดการฟาร์มและหุ่นยนต์บริการในไร่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 8) vdev (วิเดฟ): คาดการณ์การผลิตพืชปลอดภัย
กลุ่มที่ 4: ARI สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ได้แก่ 9) SME IOT: Intelligence Industrial Business Platform 10) QC Robot: ระบบส่งมอบสินค้าอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ 11) ThaiHand AI: เซนเซอร์เเละปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจสอบความเสียหายเครื่องจักร 12) iCube: Plant information management system as a service กลุ่มที่ 5: ARI สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ 13) Mulberrysoft: Fast and reliable solution for container survey job 14) OZT Robotics: PosText One pic, All info 15) AI Route: Best route best logistics for the environment และ กลุ่มที่ 6: ARI สำหรับสินค้าและบริการเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ 16) Senses: IoT Service Robotic 17) Robot of Things: The right laundry service you need 18) DRX: Buy online pet insurance with the best fair price 19) MetaSmart56: ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีของตลาดทุนต่างประเทศ และ 20) WONGREE GROUP: AUTOMATION ADMIN DOCUMENT PROCESS FOR CORPORATE
โดยมี 3 ผลงานที่คว้ารางวัล Popular Vote พร้อมรับเงินรางวัลละ 5,000 บาท ได้แก่ ผลงาน OZT Robotics ผลงาน AI Blood Pressure Monitor และผลงาน SME IOT สามารถติดตามรายละเอียดของแต่ละผลงานที่เป็นนวัตกรรมด้าน ARI เพิ่มเติมได้ที่เพจ https://www.facebook.com/SWPJUMPSTART/ หรือ http://swpark.or.th/jumpstart
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น