วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565

เปิดเทคนิคป้องโรคหมู เตรียมความพร้อมเกษตรกร...หลังเว้นวรรค


การรับมือสถานการณ์ ASF ในเรื่องของการป้องกันโรค นับเป็นประเด็นสำคัญที่เกษตรกรควรเรียนรู้และเตรียมความพร้อม เมื่อเร็วๆนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดงานสัมมนาสัญจรขึ้น ณ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ ภายใต้หัวข้อ “หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยพร้อมกลับเข้ามาในระบบและทำการเลี้ยงหมูอีกครั้ง เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายสถานการณ์หมูหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุของโรคระบาดที่เกิดขึ้น


นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่างานดังกล่าวได้รับความร่วมมือด้วยดีจากบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัทปลอดภัยจากโรคระบาดได้สำเร็จ และยังคงเลี้ยงหมูป้อนตลาดได้จนถึงปัจจุบัน ส่งผู้แทนนักวิชาการของบริษัทร่วมถ่ายทอดเทคนิคความรู้ดังกล่าว ร่วมกับ ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน


ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การพิจารณาข้อมูลระดับจังหวัด โดยทำการโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยงแล้วแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.) พื้นที่เสี่ยงสูง หรือ เขตโรคระบาด 2.) พื้นที่เฝ้าระวัง หรือติดกับเขตโรคระบาด และพื้นที่เสี่ยงต่ำ หรือพื้นที่นอกเขตเฝ้าระวัง จากนั้นเจาะลึกลงไปในพื้นที่เสี่ยงสูง หรือ เขตโรคระบาด แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอีกครั้ง ดังนี้ ส่วนพื้นที่วิกฤต ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด และส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด วัดตามระยะห่างจากจุดเกิดโรค 1 กม., 5 กม., และมากกว่า 5 กม. ตามลำดับ


ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือระยะห่างจากฟาร์มอื่นที่เกิดโรคในรัศมี 1-5 กิโลเมตร ต้องทำการแยกวิธีป้องกันโดย แบ่งโซน แยกคน  แยกรถ งดกิจกรรม และตรวจติดตาม ควบคู่การลงรายละเอียดถึง 15 ข้อ อาทิ แยกเขตที่พักอาศัยกับเขตเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน อาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าเขตเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนรองเท้าบู๊ท-จุ่มฆ่าเชื้อ แยกรองเท้าใส่ภายนอก เจ้าของฟาร์มต้องซื้ออาหารจากแหล่งปลอดโรคที่มีมาตรฐาน ห้ามรถภายนอกเข้าฟาร์ม  ให้รถส่งอาหารสัตว์มาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง และพักอาหาร 24 ชม. พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันก่อนเข้าฟาร์ม ป้องกันสัตว์พาหะทุกชนิด ใช้น้ำบาดาลในการเลี้ยงสุกร พ่นยาฆ่าเชื้อรอบประตูโรงเรือน โรยปูนขาวบนถนนและพื้น บ่อทิ้งซากใช้งานได้จริง ไม่นำซากสุกรออกนอกฟาร์ม ติดตั้ง CCTV หน้าฟาร์ม หน้าห้องอาบน้ำและในโรงเรือน เป็นต้น โดยทั้งเจ้าของฟาร์มและคนงานต้องใส่ใจปฏิบัติอย่างเคร่งคร้ด ห้ามมิให้หละหลวมตกหล่นแม้แต่ข้อเดียว


อนึ่ง มาตรฐานฟาร์มสุกรในระบบไบโอซีเคียวริตี เป็นทางเดียวที่จะป้องกัน ASF ได้ เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับโรคนี้  และถือว่าเป็นพื้นฐานของระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ป้องกันสัตว์พาหะทั้งหนู นก แมลงต่างๆ โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้ภายในฟาร์มไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรืออื่นๆ จะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มา ซึ่งทุกฟาร์มจะรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมรถขนส่งเข้า-ออกฟาร์มอย่างเข้มงวด รถทุกคัน-พนักงานทุกคนต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนหรือพาหนะนั้นๆ จะไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงการกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากฟาร์ม ทั้งหมดนี้ทำให้ยืนยันได้ในความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสุกรเพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565

ชป.ขานรับ กอนช. คุมเข้มแผนใช้น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดแล้งนี้

 

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง เน้นย้ำน้ำกินน้ำใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ พร้อมวอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ ตามนโยบายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ภาคกลาง ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมกำหนดแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญ เหตุรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการสำคัญต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นั้น

สถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(18 ม.ค. 65) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,457 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,761 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,225 ล้าน ลบ.ม. จึงได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน ที่สำคัญให้จัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุไว้รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้าด้วยแล้ว

ในส่วนของการทำนาปรัง ปัจจุบันมีการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 3.25 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 16 (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่) เกษตรกรส่วนหนึ่งจะใช้น้ำจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำของตนเองในการทำนาปรัง ส่วนที่ใช้น้ำจากระบบชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า  

ชป.ชวนแกล้งข้าว ทำนา“เปียกสลับแห้ง”ช่วยประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิต ทางรอดภัยแล้ง

 

โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต่อยอดงานวิจัยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ชวนชาวนาเปลี่ยนวิธีการทำนา หวังลดต้นทุนการผลิต และช่วยประหยัดน้ำจากการทำนาได้มากกว่าร้อยละ 30 - 40 ทั้งยังเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีอยู่ในเกณฑ์จำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้น้ำค่อนข้างมาก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯไม่ถึงร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2564 - ต้นปี 2565 อาจจะเกิดภัยแล้งได้ในบางพื้นที่ กรมชลประทาน ได้รณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า 

จากสถานการณ์น้ำข้างต้น โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ต่อยอดงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำในการทำนา แบบเปียกสลับแห้ง โดยสมาชิกกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ได้ร่วมกันทำแปลงสาธิตทดลองการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ในพื้นที่หัวงานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำเพาะปลูกข้าวโดยวิธีประหยัดน้ำในช่วงวิกฤติ เนื่องด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน มีปริมาณน้ำเก็บกักในเกณฑ์น้ำน้อย จึงรณรงค์ให้มีการทำนาปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าการปล่อยน้ำท่วมขังในแปลงนา ด้วยวิธีการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว โดยจะเรียกว่า“ทฤษฎี เปียก 5 แห้ง 15” 

โดยสรุปผลการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในพื้นที่ของโครงการชลประทานเชียงใหม่ 

💧ใช้ปริมาณน้ำเพียง 480 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ จากปกติใช้น้ำฤดูแล้งประมาณ 800 ลบ.ม./ไร่ และฤดูฝน 1,200 ลบ.ม./ไร่ 

🌾 สามารถทำผลผลิตได้ถึง 770  กก./ไร่ เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 170 กก./ไร่ 

ถือเป็นการทดลองที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปขยายผลได้อีกด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้พอสมควร 


ด้านนายดำรง เล็กดี รองประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน กล่าวว่า “ผลผลิตที่ได้เกินคาดเป็นที่น่าพอใจและก็รู้สึกประหลาดใจ ตนเองจะได้เอาวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้สร้างการรับรู้และนำไปต่อยอดให้เกษตรกรสมาชิกผู้ใช้น้ำทดลองทำในแปลงนาตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังได้ประหยัดน้ำต้นทุน มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูกาลต่อไป” 


สำหรับการขยายผลโครงการฯ ในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 นี้ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีการเผยแพร่และส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ไปยังพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5000 ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรในพื้นที่ใด สนใจเรื่องการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทาน โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ในวันเวลาราชการ

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565

“กรมชล” เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี-สร้างความมั่นคงด้านน้ำ จ.น่าน

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดน่าน เป็นโครงการที่กรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2560 ให้กรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกันพิจารณาจัดหาน้ำให้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

โดยให้พิจารณาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำรี เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว พร้อมกับเร่งปรับปรุงข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อนำเสนอรายงานชี้แจงเพิ่มเติมและเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 14 มกราคม 2565 นี้ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการฯ ตามลำดับในระยะต่อไป


สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถม สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอเชียงกลาง ได้มากกว่า 22,100 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งขยายและเพาะพันธุ์ปลาแห่งใหม่ เสริมสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน ร่วมมือกับญี่ปุ่น ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักฯ

 


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoC) ระหว่างกรมชลประทานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ซึ่งมีนายโนซากิ มาซาโตชิ อธิบดีกรมวิทยุ สำนักงานสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายโฮโซโนะ เคสุเกะ เลขานุการเอกด้านดิจิทัล สารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การลงนาม MoC ในวันนี้ เป็นการริเริ่มความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ด้วยการปรับปรุงการบริหารจัดการอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อาทิ การหาความสัมพันธ์ของน้ำฝน-น้ำท่า การประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทันต่อสถานการณ์ ตอบสนองต่อภารกิจของกรมชลประทาน รวมทั้งสนับสนุนให้กรมชลประทานนำระบบดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการป้องกันภัยพิบัติของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

สำหรับระบบเรดาร์ X-Band จะมีการส่งข้อมูลเป็นระบบ Real time มีความละเอียดสูงในการประเมินปริมาณฝน ส่งสัญญาณด้วยระบบ Dual polarization ส่งคลื่นออกไปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน สามารถเพิ่มศักยภาพในการวัดปริมาณฝนได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ใช้ประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทันต่อเหตุการณ์ ปัจจุบัน สถานีตรวจวัดอากาศดังกล่าวได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 80% โดยรอการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในฤดูฝนปี 2565 นี้



ชป.ส่งเครื่องสูบน้ำช่วยเกษตรกรชาวผักไห่-เจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา

กรมชลประทาน ส่งเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการชลประทานผักไห่และโครงการฯเจ้าเจ็ด-บางยี่หน หลังปริมาณน้ำในพื้นที่เริ่มแห้งไม่เพียงพอทำการเกษตร ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางแห่งเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ในเขตตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำที่เคยเก็บไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำแห้งขอด ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาน้ำไม่พอทำการเกษตรฤดูแล้ง จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำ ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 12 นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด 4 เครื่อง เพื่อสูบน้ำย้อนจากแม่น้ำน้อยเข้าคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน  ก่อนส่งเข้าระบบชลประทาน และกระจายน้ำให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักกลติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกที่บริเวณประตูน้ำผักไห่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในทุ่งผักไห่ได้เป็นอย่างมาก

สำหรับปริมาณน้ำที่สูบส่งให้เกษตรกร เป็นปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรังตามแผนที่ได้วางไว้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

“เฉลิมชัย” สั่งรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 2565 ล่วงหน้า มอบ “อลงกรณ์” ลุยเหนือติดตามความคืบหน้าตรวจด่านเชียงแสน-เชียงของ ขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดโดยเฉพาะด่านนำเข้าจีน และส่งผลต่อการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรผลไม้ของไทย ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board)ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ตนเองในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค. 65 เพื่อติดตามความคืบหน้าในหลายด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการผลไม้ของภาคเหนือ ฤดูการผลิตปี 2565 (ลำไย) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ภาคเหนือ การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center :AIC) จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมด่านเชียงของและด่านเชียงแสนในการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรทางบกและทางเรือลำน้ำโขง โดยเฉพาะมาตรการ SPS และโควิดฟรี (Covid Free) และแนวทางแก้ไขปัญหาการขนส่งผ่านด่านบ่อเตนและด่านโมฮ่าน ตลอดจนการประชุมหารือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนากาแฟอาราบิก้า (Arabica) ตลอดห่วงโซอุปทาน การบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานภาคเหนือตอนบนและการขับเคลื่อนโครงการโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือเพื่อพัฒนาการเกษตรในเมืองและส่งเสริมเพิ่มพื่นที่สีเขียวเพื่อแก้ปัญหา pm.2.5 และลดก๊าซเรือนกระจกตอบโจทย์ Climate Change ตามแนวทาง COP26.

  สำหรับข้อมูลการส่งออกนำเข้าผักผลไม้โดยรวมระหว่างไทยกับจีน ปรากฎว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าจีนกว่า 3 เท่าตัว โดยในปี 2563  ไทยส่งออกผลไม้ไปจีน 1.02 แสนล้านบาท  ไทยนำเข้าผลไม้จากจีน 30,735 ล้านบาท ไทยได้เปรียบจีน 7.2 หมื่นล้าน ครองตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนตลาด (Market Share) เป็นอันดับ 1 สูงถึง 45% ขณะที่เพียง 10 เดือนของปี 2564 (เดือน ม.ค-ต.ค2564) ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.48 แสนล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การนำเข้าส่งออกผักในปี 2563 จีนส่งออกออกผักมาไทย 8 พันล้าน ไทยส่งออกผักสดผักแข็งผักแห้งและมัน หัวมัน 30,000 ล้าน  (รหัส07) แต่ถ้าแยกผักออกมาไทยส่งออกผักไปจีน 1 พันล้านบาท เสียดุลการค้าจีนด้านผัก 7 พันล้านในขณะที่ไทยได้เปรียบการส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 7 หมื่นล้าน

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

ชป. คุมเข้มแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 64/65 พร้อมจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

 


 กรมชลประทาน ขานรับ กอนช.ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(7 ม.ค. 65) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,117 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 33,187 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,858 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,162 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง(1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65) ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 7,762 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 14,518 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,864 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 3,836 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรม โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง เป็นอันดับแรก และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ด้านการเกษตรกรรมได้จัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม 


สำหรับการดำเนินการตามมาตรการที่ 5 (วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง) ตามข้อสั่งการพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ นั้น ปัจจุบันกรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 6.41 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการเพาะปลูก ข้าวนาปรัง 2.81 ล้านไร่  จนถึงขณะนี้(7 ม.ค. 65)  มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว4.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.16 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99.68 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับเกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด 

ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(7 ม.ค. 65 เวลา 06.00น) ที่สถานีประปาสำแล  วัดค่าความเค็มได้ 0.25 อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง  (มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ยังไม่กระทบต่อสถานีสูบน้ำดิบสำแล ของการประปานครหลวง ด้านแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน  และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง (6 -10 ม.ค. 65) 

 

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำ ด้วยความประณีตและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

ชป.ชูนวัตกรรมเรือเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำลำแรกของไทย เสริมประสิทธิภาพภารกิจงานชลประทาน

 


กรมชลประทาน คิดค้นนวัตกรรมเรือ “อุทกชลประทาน 1” เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำลำแรกของไทย ปลอดภัย ทุ่นแรง ลดเวลาการทำงานให้รวดเร็วขึ้น นำร่องทดลองเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี แห่งแรก


นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำบางพระ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความจุเก็บกัก 117 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร การท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี


แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯ เฉลี่ยเหลือประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สวนทางกับการคาดการณ์ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่ความต้องการใช้น้ำในอ่างฯ บางพระจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงจำเป็นต้องนำน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำอื่น ๆ มาเสริมน้ำต้นทุนในอ่างฯ บางพระ โดยการสูบผันน้ำส่วนเกินจากแหล่งอื่นในช่วงฤดูฝน ได้แก่ ระบบสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดสมุทรปราการ และระบบสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นประจำ แต่ในส่วนของอ่างฯ บางพระจะพิเศษกว่าแหล่งน้ำอื่น ๆ 


ที่มีระบบโทรมาตรตรวจวัดคุณภาพน้ำ ที่สามารถตรวจวัดได้แบบ Real Time ทั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำและปลายท่อสูบผันน้ำที่สูบมาจากแหล่งน้ำอื่นก่อนที่น้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับตะกอนดินและคุณภาพน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำ 


โดยคิดค้นนวัตกรรมเรือเก็บตัวอย่างตะกอนและคุณภาพน้ำ “อุทกชลประทาน 1” ซึ่งเป็นเรือลำแรกของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ฝ่ายตะกอนและคุณภาพน้ำ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS : United States Geological Survey) ด้านการจัดการตะกอนในอ่างเก็บน้ำ และ The Australian Partnership (AWP) 



ด้านการจัดการคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาการจัดการตะกอนและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานในการนํามาวิเคราะห์วางแผนการระบายและขุดลอกตะกอนดิน รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพน้ำ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่มีค่าความขุ่นมากหรือมีอายุการใช้งานมายาวนาน จะเกิดการตกตะกอนมาก ซึ่งส่งผลให้พื้นที่เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลง อีกทั้งตะกอนยังสามารถดูดซับค่าความเค็มสะสมไว้จนน้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้นในช่วงที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย


ด้าน นายไวรุจน์ เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทาน ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เรือเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ำ "อุทกชลประทาน 1" จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเก็บตัวอย่างตะกอนดินและคุณภาพน้ําได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความปลอดภัย ทุ่นแรง และใช้เวลาดําเนินการลดลง สำหรับคุณสมบัติของเรืออุทกชลประทาน 1 ได้ดำเนินการออกแบบโดยสำนักเครื่องจักรกล ความยาวของเรือตลอดลำ 6.35 เมตร พื้นเรือกว้าง 2.50 เมตร สามารถรองรับน้ำหนักเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์การตรวจวัดคุณภาพน้ำได้มากถึง 1,200 กิโลกรัม และมีช่องเปิดบริเวณท้องเรือสำหรับหย่อนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บตะกอนอีกด้วย

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ฟาร์มเกษตรกรเดินหน้าแก้ไขปัญราคาสุกร

 


วันที่ 5 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร เพื่อหาแนวทาง "มาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ส่งผลเนื้อสุกรราคาสูง " ณ ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี 


ทั้งนี้ หลังการหารือนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ภายหลังมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่าง ขณะที่ปริมาณการเลี้ยงสุกร ลดลง จากปัญปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัวจึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น  

สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคซึ่งจะขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ให้ผลิตลูกหมูให้รายย่อยและรายเล็กไปเลี้ยง ทั้งยังมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพอีกด้วย    

ขณะที่ นายภวพรรธน์ ปฐมโพธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม (สะพานหิน) กล่าวว่า  เป็นฟาร์มขนาดกลาง มีการจัดการฟาร์มที่ดี เป็นระบบปิด มีมาตรการระบบป้องกันทางชีวภาพ มีสุกรประมาณ 2,500 แม่ จำหน่ายสุกรขุน ลูกสุกร มีโรงผสมอาหารเอง มีโรงฆ่าสุกรมาตรฐาน GMP มี Shop ขายเนื้อสุกรเองอีกด้วย

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...