วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รมว เกษตรฯ "เฉลิมชัย"เป็นตัวแทนรัฐบาลร่วมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สร้างความมั่นใจต่อประชาชนเชื่อมั่นปลอดภัยเต็มร้อย


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเข้าร่วมรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน และตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ครั้งแรกในประเทศไทย ณ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวคจะฉีดให้กับคนที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ส่วนแอซตราเซนเนกาจะฉีดให้กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 



ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่าพร้อมที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวันนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถฉีดได้ และพวกเราก็อยากสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าวัคซีนโควิด-19 ที่นำมามีคุณภาพ ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนก็ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะมั่นใจว่าวัคซีนมีคุณภาพ และอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นด้วยว่าวัคซีนโควิด-19 ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้






วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ หนุนอาเซียน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based รองรับเทรนด์อาหารในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือ โปรเว็ก เอเซีย (ProVeg Asia) ร่วมสนับสนุนการแข่งขันนวัตกรรมอาหารจากพืชของอาเซียนปี 2564 (Asean Food Innovatioin Challenge 2021) เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้คิดสร้างสรรค์อาหารในอนาคต โดยเฉพาะอาหารที่มาจากพืช                      

นางอรอนุช ทัพพสารดำรง รองกรรมการผู้จัดการด้านกฎระเบียบอาหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า  ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและวิจัยอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” โดยมีเป้าหมายผลิตอาหารปลอดภัยและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างอาหารทางเลือกและส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มุ่งเน้นสุขโภชนาการ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ซึ่งปัจจุบันมากกว่า 30% ของผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี ขณะเดียวกัน ในปี 2563 เด็ก เยาวชนและผู้บริโภค 1.3 ล้านคน ในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงอาหารและเรียนรู้เกี่ยวกับอาหาร โภชนาการและการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อให้การผลิตและการบริโภคมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ในปีนี้ ซีพีเอฟ ร่วมกับผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลกและระดับภูมิภาคหลายราย ให้การสนับสนุน โปรเว็ก เอเซีย ซึ่งเป็นองค์กรวีแกนที่ไม่แสวงหากำไรและมีเป้าหมายในส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค (Food Innovation Challenge)  ภายใต้แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่มาจากพืช “Plant-based innovation” มุ่งเน้นส่งเสริมนักศึกษา รวมทั้งนักวิจัยและพัฒนาอาหารรุ่นใหม่  ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ Startup ในอนาคตโดยมีมหาวิทยาลัย 20 แห่ง จาก 9 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลรวม 5,000 เหรียญสหรัฐ   กำหนดส่งผลงานเข้าประกวดได้จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2564  และจะมีพิธีประกาศรางวัลในเดือนมิถุนายน 2564 นี้                

นางอรอนุช กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้กำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ การพัฒนาโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารจานหลักในวิถีเอเซีย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและวางแผนการเปิดตัวสินค้าให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ จะร่วมเป็นโค้ชให้กับนักศึกษาที่เข้ารอบ โดยจะมีการประชุมออนไลน์ร่วมกัน เพื่อติดตามความคืบหน้า ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย โดยแนวคิดที่เสนอในโครงการ อาจมีโอกาสพัฒนานำไปสร้างธุรกิจ Startup ในอนาคต เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างเครือข่ายธุรกิจของคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกในเอเซีย 

“ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำ ซีพีเอฟ มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนศักภาพของประเทศตามหลักการ BCG Model: เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อร่วมผลักดันการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน  ในรูปแบบการพัฒนาโปรตีนทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งโปรตีนจากสัตว์ โปรตีนทางเลือก เช่น จากพืช จากแมลง ซึ่งโปรตีนเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญในทุกช่วงวัย” นางอรอนุช กล่าว

ทั้งนี้  โปรเว็ก เอเซีย อ้างถึงรายงานของ World Economic Forum ว่าชนชั้นกลางในอาเซียนขยายตัวควบคู่ไปกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการดูแลสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มความต้องการของอาหารโปรตีนจากพืช ซึ่งเอเซีย-แปซิฟิค เป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะมีสัดส่วนการตลาดของอาหารโปรตีนจากพืชใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต  การแข่งขันฯ ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายนวัตกรรมที่ดีที่สุด ส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาหารคุณภาพดีและโปรตีนทางเลือกจากพืชอย่างยั่งยืน

"อลงกรณ์"นำคณะร่วมทำบุญไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมลงพื้นที่ เยียมชาวประมงพื้นบ้านปากพูนขับเคลื่อนการทำประมงพื้นบ้าน



นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ในฐานะตัวแทนกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมพิธี บวงสรวงผ้าพระบฏต่ออนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมโสกราช และนำผ้าขึ้นธาตุ ที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ที่เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช ที่หลั่งไหลมาร่วมงานบุญด้วยศรัทธา เนื่องในวันมาฆบูชาจากนั้นได้เดินทางไป เยี่ยมเยียนดูงานกลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์กระจูด อ.ชะอวด ที่นำมาแสดง ม. ราชภัฏ นครศรีธรรมราช 



ขณะเดียวกันยังได้เดินทางต่อเพื่อไปเยี่ยมเยียนและพบปะกลุ่มประมงพื้นบ้าน ปากพูน อ.ปากพูน จังหวัด นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ทางกลุ่มประมงพื้นบ้าน ได้รายงาน ถึงการทำงาน ในการมีส่วนร่วมในการป้องกันการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิด กฏหมาย และขอความสนับสนุนจากรัฐในการดูแลอาสาสมัครผู้ช่วยงานราชการดังกล่าว 


นอกจากนั้นยังได้รายงานถึงความสำเร็จในการตลาดออนไลน์ของชุมชนประมงท้องถิ่นและพร้อมต่อยอดไปสู่ การท่องเที่ยวชุมชนประมง ตามแนวทางโครงการFisherman Village Resort ของกระทรวงโดยนายอลงกรณ์ ได้ให้กำลังใจการทำงานของชุมชนประมง และมอบแนวทางการเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว ต่อไปด้วย





รมช.ประภัตร’ เดินหน้าหนุนเกษตรกรเลี้ยงควายไทย สร้างมูลค่าหลักล้านให้เกษตรกร


นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เยี่ยมชม ก.เจริญฟาร์ม พัฒนาสายพันธุ์ควายไทย ของนายกล บัววังโปร่ง นายกอบต.นครป่าหมาก กลุ่มอนุรักษ์กระบือไทย ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โดยฟาร์มแห่งนี้มีการส่งเสริมเลี้ยงควายไทยที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม เนื่องจากมีความสวยงาม และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เลี้ยง เพราะแต่ละตัวมีมูลค่ากว่าหลักแสน จนถึงหลักล้าน


ทั้งนี้ รมช.เกษตรฯ บอกว่าต้องการส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเห็นความสำคัญต่อการผลิตควายคุณภาพ ทั้งการจัดการเลี้ยงดูในระบบที่ได้มาตรฐาน การปรับปรุงพันธุ์กระบือ และร่วมกันอนุรักษ์ควายไทยมากขึ้น ตลอดจนเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเพื่อเป็นการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มของควายไทย ต่อไป





วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รวมพลคนวิจัย ระดมสมองพัฒนากลไก ผลักงานวิจัย - นวัตกรรมไทยใช้ประโยชน์

สกสว. เปิดฟลอร์ระดมสมอง เร่งพัฒนากลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หวังงานวิจัย-นวัตกรรมไทย สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้คุ้มค่าการลงทุน

25 กุมภาพันธ์ 2564 --- หลังจากวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) รัฐสภาลงมติรับหลักการร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ที่ถือเป็นการปลดล็อคกฎหมายให้นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมออนไลน์ระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบ และการกำหนดนิยามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์” เพื่อให้นักวิจัย ผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ทั้งจากหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิตงานวิจัย หน่วยงานที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย และหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกว่า 100 ท่าน ร่วมกันระดมสมองหารือเกี่ยวกับนิยามและกรอบแนวคิด รวมถึงกลไกที่ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในแต่ละด้าน เพื่อจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ สกสว.นำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบระบบ รวมถึงการออกคู่มือให้กับหน่วยงานและนักวิจัยในระบบ ววน. ได้ใช้เป็นแนวทางในการผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อไป

รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ตามที่ได้มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณวิจัยได้อย่างมีทิศทางและมีความคล่องตัว ลดความทับซ้อนของงานวิจัย ผลิตผลงานวิจัยได้ตรงกับความต้องการของประเทศ ที่ผ่านมาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรมตามที่ภาคนโยบายและสาธารณชนคาดหวังได้อย่างเต็มที่  สกสว.เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นอกจากจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงระบบส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของประเทศ ซึ่งระบบดังกล่าวจะไปเกี่ยวข้องกับระบบติดตามประเมินผลซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้สังคมเห็นผลลัพธ์และความสำคัญในการลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรม  เนื่องจากระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเกี่ยวกับกรอบแนวคิดและนิยามการใช้ประโยชน์ รวมถึงกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯในวันนี้ขึ้น

ด้าน รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์  สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า  ปัจจุบัน สกสว. แบ่งประเภทของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization หรือ RU) ตามผู้ใช้ประโยชน์ (Users)  4 ด้าน คือ นโยบาย เศรษฐกิจ สังคม  และวิชาการ  ในด้านนโยบาย ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานระดับนโยบาย เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดนโยบาย แผน แนวปฏิบัติ ระเบียบ มาตรการ กฎหมาย หรือใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยผู้ประกอบการทุกขนาดรวมถึง สตาร์ทอัพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ด้านสังคม  ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยชุมชน สังคม หรือคนในพื้นที่เป้าหมายเปลี่ยนระบบคิด พฤติกรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และด้านวิชาการ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยนักวิชาการ นักวิจัยหรือคนในแวดวงวิชาการ นำไปสู่การเรียนรู้  จนเกิดการเผยแพร่และต่อยอดองค์ความรู้  โดยทั้ง 4 ด้าน ต้องสามารถแสดงหลักฐานการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน

ทั้งนี้จากการระดมความเห็น ได้ข้อสรุปสำคัญ คือ ทางด้านนโยบาย  มีข้อเสนอแนะว่า ควรคำนึงการใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมทั้ง  3 ฝ่าย  คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ปัญหาสำคัญที่ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการนโยบาย คือ 1)ส่วนใหญ่ความต้องการงานวิจัยมาอย่างรวดเร็ว กระบวนการทำวิจัยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการให้ทุนในรูปแบบใหม่ 2)ข้อเสนอแนะทางนโยบายขาดความคมชัด 3) งานวิจัยไม่ตอบโจทย์ ขาดเวทีสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ ควรมีการจัดตั้งหน่วยเชื่อมประสานเพื่อให้มีการรับส่งโจทย์วิจัยจากผู้ใช้ รวมไปถึงกระบวนการออกแบบนโยบายร่วมกัน 4) ขาดนักวิจัยด้านนโยบายรุ่นใหม่ ควรมีกลไกสนับสนุนงบประมาณสร้างนักวิจัยด้านนโยบาย เป็นต้น ทางด้านเศรษฐกิจ มีข้อเสนอแนะที่คล้ายคลึงกันคือ ยังขาดการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและงานวิจัยเช่นกัน การสร้างนวัตกรรมต้องมีกลไกภาครัฐคอยขับดันเช่นภาครัฐการันตีการเป็นผู้ซื้อนวัตกรรม  ผู้ประกอบการยังไม่สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการพัฒนานวัตกรรมไปถึงขั้นที่พร้อมใช้ สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เพียงตัวต้นแบบ  โดยทุกภาคส่วนต้องเห็นภาพเดียวกันตลอดห่วงโซ่ (Value Chain) ทางด้านสังคม  จากการระดมความเห็น มีการให้ปรับนิยาม และข้อเสนอแนะว่าควรสร้างกลไกให้นักวิจัยสามารถมองเห็นเป้าหมายทั้งเป้าหมายหลักและรองได้  นอกจากนี้ในการสนับสนุนงบประมาณ ควรมีการจัดสรรงบด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากงบประมาณวิจัยกล่าวคือมีการแยกส่วนกัน  ท้ายที่สุดนักวิจัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกที่ทำให้มองเห็นปลายทาง และการประเมินผลกระทบ (Impact Pathway)  ได้ ทางด้านวิชาการ มีข้อเสนอแนะว่า นิยามควรมีการเพิ่มเติม ผลกระทบทางวิชาการในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นจริยธรรม กำหนดผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ ในศาสตร์หลายศาสตร์อย่างมนุษยศาสตร์ให้ชัดเจนขึ้น ในเรื่องการตีพิมพ์ การประเมินผลควรนับการตีพิมพ์อื่นๆนอกเหนือจากการตีพิมพ์ทางด้านวิชาการด้วย เพราะเข้าถึงสาธารณชน ด้านผลกระทบ ควรตั้งเป้าหมายไปถึง นักวิชาการไทยได้รับการยอมรับระดับสากล เป็นต้น  นอกจากนี้ในความป็นจริง งานด้านวิชาการไม่สามารถระบุผลกระทบได้ในระยะเวลาสั้น ควรมีหน่วยงานกลางสนับสนุนงานด้านข้อมูลได้ทั้งหมด ควรสร้างกลไกเชื่อมโยงประสานการทำงาน ซึ่งจากการประชุมจะเห็นได้ว่าระบบ ววน.ยังคงต้องการกลไกและหน่วยที่จะเชื่อมโยงการทำงานกัน 

ข้อสรุปจากการระดมสมองวันนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ สกสว. จะนำไปออกแบบแนวทางการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนให้งานวิจัยและนวัตกรรมจนสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำให้การติดตามและประเมินผลลัพธ์และผลกระทบการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สกสว. เดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย พร้อมขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

“ รัฐสภาลงมติรับหลักการ ร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้าน สกสว. พร้อมเดินหน้าปลดล็อคกฏหมาย ขับเคลื่อนระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ”

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง)  มีการประชุมวาระสำคัญในการพิจารณาด่วน โดยคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….  ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอไปแล้วนั้น ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายและลงมติรับร่าง จำนวน 525  เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง สรุปที่ประชุมรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผลักดันร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ 

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2. กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม

3. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยนโยบายและหน่วยงานให้ทุนเพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล และนำกลับมากำหนดนโยบายและการให้ทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต 

4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

5. กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี

6. กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใด ๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน ทั้งนี้กฎหมายฉบับบนี้มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม จากก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว 

นอกจากภารกิจในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับบนี้แล้ว สกสว. ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งการผลักดันมาตรการอื่นๆที่สำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการ กช. รับมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวส่งต่อโรงเรียนเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกฯ

เมื่อวัรที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในการรับมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัว ณ ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช. โดยมี นายประสิทธิ์ ทองทิตย์เจริญ ประธานศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีน นางรัตติยา ธานี ผอ.กลุ่มงานนโยบายพิเศษ ผู้แทนโรงเรียนเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัว เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

ดร.อรรถพล กล่าวว่า ศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีนและบริษัทสื่อการสอนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวได้จัดทำโครงการมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบสื่อการสอนภาษาจีนให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 20 โรง ซึ่งสื่อการสอนภาษาจีนประกอบด้วยหนังสือเรียนชุด “ภาษาจีนง่าย (Easy Chinese)” และสื่อการสอนชุด “สุขสันต์เทศกาลจีน (Happy Chinese Festival)” เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการสอนภาษาจีนของโรงเรียนเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีระบบการวัดระดับความรู้ที่ชัดเจน และกระตุ้นความกระตือรือร้นของนักเรียนในการเรียนภาษาจีน ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้ประชาสัมพันธ์โครงการมอบสื่อห้องเรียนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวให้โรงเรียนเอกชนในกำกับทราบ และได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งบัดนี้การพิจารณาได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงเรียนอรรถวิทย์ โรงเรียนมันตานุสรณ์ โรงเรียนจุ๋งฮัวโซะเซียว โรงเรียนเมตตาวิทยา โรงเรียนเสรีศึกษา โรงเรียนหัวเฉียว โรงเรียนเก้งเต๊ก โรงเรียนวานิชวิทยา โรงเรียนอนุบาลภูบดินทร์ โรงเรียนมารีวิทยา โรงเรียนพงศ์สิริวิทยา โรงเรียนเลาหจิตรวิทยา โรงเรียนโกวิทธำรงเชียงใหม่ โรงเรียนขจรเกียรติพัฒนา โรงเรียนดรุณาราชบุรี โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนมูลนิธิภูมิตะวันวิทยา โรงเรียนเหลียนหัว โรงเรียนอนุบาลปราณี โรงเรียนพัฒนเวชศึกษา ซึ่งทั้ง 20 โรงเรียนได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฯ เพื่อนำสื่อการเรียนการสอนกลับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป

ต้องขอขอบคุณศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาไทย – จีนและบริษัทสื่อการสอนภาษาจีนระบบดิจิทัลซินหัวได้จัดทำโครงการดีๆ แบบนี้ เพื่อนำมาแบ่งปันให้เด็กไทยได้เรียนรู้ คาดว่าจะเห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการของห้องเรียนภาษาจีนในโรงเรียนเอกชนในอนาคต และให้เป็นห้องเรียนภาษาจีนที่มีการใช้สื่อการเรียนการสอนนี้อย่างจริงจัง และเป็นต้นแบบของห้องเรียนภาษาจีนอีกด้วย ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย









รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...