วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กรมชลประทาน มอบของขวัญปีใหม่ชาวไทยจัดกิจกรรม “ส่งความสุขปีใหม่ พ.ศ.2565” พร้อมจัดกิจกรรมเปิดถานที่ราชการ ปรับภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว เชิงเกษตรเรียนรู้วิถีไทย


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันจัดกิจกรรม “ส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี พ.ศ.2565”  ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ มอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง , เพิ่มพลังปีใหม่ จำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพ และ ปีใหม่เที่ยวทั่วไทย สุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อมอบความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน 


ทั้งนี้ในส่วนของกรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรม เพื่อร่วมส่งความสุขให้กับเกษตรกรและประชาชน กิจกรรมแรก เป็นการมอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง พัฒนา/ปรับปรุง/ซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบชลประทาน อาทิ อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ ฯลฯ ครอบคลุม 68 จังหวัด กว่า 2,479 รายการ  ปรับปรุงคันคลองและกำจัดวัชพืชคลองชลประทาน ปรับปรุงแก้มลิงและกำจัดวัชพืชในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เพื่อให้คันคลองส่งน้ำใช้งานได้ดี สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย  


ส่วนกิจกรรมที่สอง สินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพ เปิดสถานที่ให้เกษตรกรนำสินค้าทางการเกษตร อาทิ ผักปลอดสารพิษ มาขายในสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  และกิจกรรมสุดท้าย เพิ่มสุขปีใหม่ เที่ยวทั่วไทย สุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดสถานที่ราชการ ปรับภูมิทัศน์รองรับนักท่องเที่ยว (ศูนย์ศึกษา/ศูนย์เรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร) จำนวน 17 แห่ง เปิดสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรให้ประชาชนเข้าชมฟรี จำนวน 3 แห่ง

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ขอเชิญชวนแวะพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำ เขื่อนทดน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ ของกรมชลประทานที่เปิดให้บริการทั่วประเทศ และ ขอให้เดินทางท่องเที่ยวและไปกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ และขอส่งความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปี 2565 นี้

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วช.นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยคว้ารางวัลจาก 3 เวที การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในรูปแบบออนไลน์


        เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ 3 ประเทศแบบออนไลน์ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า ทาง วช. ได้ร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยที่มีศักยภาพในด้านต่างๆส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมแบบออนไลน์ จาก 3 เวที ได้แก่ เวที SIIF 2021 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี , เวที KIDE 2021 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน และเวที ITEX 2021 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเข้าสู่เวทีนานาชาติในระดับโลกและได้รับการยอมรับในระดับสากล


            เวที “Seoul International Invention Fair 2021” (SIIF 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 ธันวาคม 2564 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ทาง วช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทยที่คว้ารางวัล Grand Prize จากผลงาน “การทำวัคซีนปลาด้วยนวัตกรรมแบบไร้เข็ม” ทางนักวิจัยเล็งเห็นปัญหาจากการฉีดวัคซีนแบบรายตัว ที่ทำให้เกิดการเสียหายและส่งผลเสียต่อปลา จึงได้คิดค้นนวัตกรรมจากองค์ความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการห่อหุ้มและนำส่งแอนติเจนของเชื้อก่อโรคในปลา และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมและการเกาะติดเยื่อเมือก ทำให้สามารถใช้วัคซีนในรูปแบบแช่หรือกิน ทั้งยังถูกหลักสวัสดิภาพของสัตว์



            เวที “2021 Kaohsiung International Invention & Design Expo” (KIDE 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 ธันวาคม 2564 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ซึ่งนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล WIIPA Special Award จากผู้จัดการ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นายพิรัชย์ อัศวกาญจน์ และคณะ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ฝ่ายมัธยม ในผลงานเรื่อง “ชุดทดสอบบอแรกซ์และกรดบอริกชนิดเจล” และเภสัชกรหญิง ดร.พรวนิช เจริญพุทธคุณ และคณะ จากบริษัท เซน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด ในผลงานเรื่อง “อิมัลชันเจลฟาร์อินฟราเรดกระท่อมเพื่อบรรเทาปวด”

            เวที “The 32nd International Invention , Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2564 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยทาง วช. ได้ส่งนักวิจัย/นักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมการประกวด จำนวน 27 ผลงาน จาก 13 หน่วยงาน ทั้งในระดับนักวิจัยและระดับเยาวชนสามารถคว้ารางวัลต่างๆได้มากมาย

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วช. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 “The 1st Thailand Weather and Climate Symposium 2021”


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 “The 1st Thailand Weather and Climate Symposium 2021เมื่อวันที่ 1617 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Webex) โดยมีนายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมกล่าวในพิธีเปิดงาน

 

 งานประชุมวิชาการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ การประยุกต์ผลงานวิจัย การนำข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาพอากาศและภูมิอากาศไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมในระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศและภูมิอากาศสุดขั้ว (Weather and Climate Extremes) และเพื่อเฝ้าระวัง พยากรณ์ และหามาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับการตัดสินใจและการปรับตัว โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น 


 ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนในทุกๆด้าน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ เช่น ภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว วช. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้ทุนของประเทศได้สนับสนุนข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ภายใต้กรอบวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2565 แพลตฟอร์มที่ 2 โปรแกรมที่ 7: แก้ไขปัญหาท้าทายและยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  และการเกษตรเพื่อให้ได้นโยบาย แนวทาง และมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อเสนอแนะ แนวทาง มาตรการในการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัว เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ ดร. วิภารัตน์ฯ ยังได้แสดงความยินดีที่การประชุมในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการประชุม โดยเชื่อว่าการประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการขยายและพัฒนาเครือข่ายการวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ เกิดความตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นในการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อในที่สุดเราจะสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศและภูมิอากาศสุดขั้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ


วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปลัด อว. สุดปลื้ม ปิดงานยิ่งใหญ่ "มหกรรมดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564" "มทร.ธัญบุรี" จัดเต็ม วงดนตรีไทย โชว์กลางกรุง

 


วันที่ 19 ธันวาคม 2564 บรรยากาศงาน "มหกรรมดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์” อบอวลไปด้วยความสุข คณะผู้บริหาร อว. ร่วมร้องเพลงพรปีใหม่ กับคณะวงดนตรีไทย และที่มาร่วมงาน

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวว่า มหกรรมดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ปิดฉากอย่างสมบูรณ์ สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดงาน "มหกรรมดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์” นี้ กว่า 70 แห่ง ทุกภูมิภาคของประเทศ ในวันที่ 5 ธันวาคม จัดเกือบทุกจังหวัด ในกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน "มหกรรมดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์” โดยมีวงดนตรีของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของ อว. ผลัดเปลี่ยนและหมุนเวียนกันมาจัดแสดง รวม 15 วันที่จัดแสดง ระหว่างวันที่ 5-19 ธันวาคม 2564 ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2564 ณ ลานพาร์คพารากอนโดยมีวงดนตรีจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ช่วงที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม 2564 ณ ไอคอนสยาม ริเวอร์พาร์ค โดยมีวงดนตรีจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, และมหาวิทยาลัยศิลปากร และช่วงที่ 3 จัดระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2564 ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิล์ด โดยมีวงดนตรีจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยสยาม, สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  รร. สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวงดนตรีสากล วงดนตรีไทย วงดนตรีเครื่องสาย ร่วมถึงการแสดง 70 สถาบัน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีประชาชนให้ความสนใจมาฟังดนตรีเทิดพระเกียรติ ที่สำคัญมีน้อง ๆ นิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่าของสถาบันต่าง ๆ ร่วมจัดแสดงเป็นการเทิดพระเกียรติมหกรรมการรวมตัวกันของสมาชิกของ อว. ครั้งใหญ่ที่สุด ที่ได้ร่วมใจมาน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงเป็น “อัครศิลปิน” ในโอกาสเดียวกัน ได้ส่งความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย อีกด้วย




มหกรรมดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมคับคั่ง ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาร่วมชมการแสดง พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความชื่นชม และขอบคุณ คณะดนตรีที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เข้าร่วมชมการแสดงฯ 





มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำวงดนตรีไทย จากภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มาบรรเลงเพลงส่งท้ายในงานมหกรรมดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ได้บรรเลงเพลงทั้งหมด 7 เพลง อาทิ การแสดงรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพลงโหมโรงมหาราช (วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย) เพลงแขกขาว เถา (วงเครื่องสายเครื่องคู่) เพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น (วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย) เพลงไทยดำเนินดอย เพลงเขมรโพธิสัตว์ (วงดนตรีไทยพิเศษ) และเพลงเงี้ยวรำลึก (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง) ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความตั้งใจในการทำนุบำรุง สืบสานศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของไทย และการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้ซาบซึ้งอยู่ในใจของผู้ที่ได้รับชม และรับฟัง


ช่วงท้ายของการจัดงานมหกรรมดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมคณะผู้บริหาร ขึ้นเวทีร้องเพลง พรปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่กำลังจะมาถึงนี้








วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัยแผนงานจัดการน้ำ วช. สร้างความรู้การใช้น้ำต้นทุนให้เกษตร รับมือสถานการณ์โลก

 


นักวิจัยโครงการการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างมีส่วนร่วมฯ จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติฯ ให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 20 ตำบล ของ จ.กำแพงเพชร สร้างความเข้าใจทิศทางการขับเคลื่อนโครงการฯ การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่อาชีพและรายได้บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุนที่มี พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์โลก 


จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ได้มีความพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก เพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม 200 กว่าปี โดยชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จนเกิดวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้ง และฝนตกแบบผิดฤดูกาล ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยการประกาศแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้ง บ่อยครั้งยังขาดความเข้าใจในสถานการณ์ ทำให้เกิดเป็นสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ซึ่งแหล่งน้ำหลัก ณ ปัจจุบันมีที่มาจากน้ำฟ้าเพียงอย่างเดียว การวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ 


คุณธีติธร จุลละพราหมณ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยขับเคลื่อนในพี้นที่ฯ เปิดเผยว่า แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปีที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร บนที่ตั้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) โดยเลือก 10 พื้นที่นำร่องที่อยู่ในการดูแลของคบ.ท่อทองแดงครอบคลุมทั้ง 3 สบ.(ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา) และดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรไม่กลัวการขาดน้ำ และยังเข้าใจคุณค่าของการใช้น้ำ รู้จักกลไกรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแชร์และแบ่งปันน้ำตลอดสาย (ต้น-กลาง-ปลาย) บวกกับเทคโนโลยี ก่อเกิดวิธีคิดแบบใหม่ โดยใช้ข้อมูลความรู้ในการตัดสินใจ เพื่อให้รู้จักการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเข้าใจ เกิดการตระหนักรู้ เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก 


และในระยะที่ 2 ทีมวิจัยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยี(IOT) และการจัดการเพาะปลูก โดยการปรับเปลี่ยนพืชเพื่อลดการใช้น้ำ และยกระดับการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ไปสู่การเชื่อมโยงกลไกการตลาดจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน และขยายผลข้อมูล/กระบวนการ/รูปธรรมในการบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกการมีส่วนร่วมไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเมื่อวันที่ 1012 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร นำโดย คุณชิษนุวัฒน์  มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการฯ จัดเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติฯ ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งเจ้าหน้าที่ คบ.ท่อทองแดง เกษตรกรในพื้นที่ 20 ตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางในการขับเคลื่อนโครงการและติดตั้งหลักคิด ความรู้และเทคนิคเครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชนในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ทบทวนทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การสร้างอาชีพบนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน และแลกเปลี่ยนแนวทางการหนุนเสริมยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน 


ซึ่งผลลัพธ์การอบรมทำให้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามตำบล เกษตรกรได้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงของสายน้ำ หน่วยงานในพื้นที่เกิดความเข้าใจในแผนการดำเนินงานของโครงการวิจัยฯ พร้อมร่วมมือให้การสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ยังทำให้เกิดการวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เตรียมรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ หนุนเสริมยกระดับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ บนฐานทรัพยากรน้ำต้นทุน และผลักดันให้เป็นโครงการความร่วมมือระดับจังหวัดกันต่อไป เพราะน้ำไม่ได้มีเหลือเฟืออีกต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ การจะหวังพึ่งแต่น้ำฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องอยู่ได้ บนน้ำต้นทุนที่มี และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

นายชิษนุวัฒน์  มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร


จุฬาฯ ชู CU Band สาธิตจุฬาฯ แสดงพลัง “ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติฯ” ตามรอยเพลงพ่อหลวง ประชาชนสุขล้น




วันที่ 18 ธันวาคม 2564 ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ : ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมรับชม ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ Still on my mind” ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 พบกับดนตรี และศิลปินจากสถาบันอุดมศึกษา เตรียมอุดมศึกษาชั้นนำ พบกับวง CU Band / V Harmonica / CUD World / วงวันสุข มาสร้างความสนุก ความสุข ความประทับใจ พร้อมรำลึกถึงเอกอัครศิลปิน ในหลวง รัชกาลที่ 9 




ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติฯ ได้ดำเนินตามเจตนารมณ์ ในการนำดนตรี และบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาถ่ายทอดแก่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติอีกครั้ง โดยจัดอย่างยิ่งใหญ่ เป็นปีแรก ยาวนานถึง 15 วัน กระหึ่ม ณ ใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร และทั่วทั้ง 48 จังหวัด รังสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าโดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของ กระทรวง อว.ชั้นนำของประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ 




สมดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวไว้ว่า กระทรวง อว. นอกจากจะทำหน้าที่ให้ความรู้ ทำวิจัย ทำนวัตกรรมและประดิษฐกรรมต่าง ๆ แล้ว เรายังทำงานศิลปะ โดยเฉพาะดนตรีที่มีอยู่มากมายหลากหลายประเภทในมหาวิทยาลัยสังกัด อว. ทั่วประเทศ มหกรรมดนตรี อว.เทิดพระเกียรติฯ  จะทำให้คนไทยได้เห็นฝีมือด้านดนตรีของนักเรียน นิสิต นักศึกษาของเราว่ามีความสามารถเพียงใด และยังแสดงให้เห็นว่า อว. มีของดีและสิ่งดี ๆ อยู่ไม่น้อย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

 



โดย จุฬาฯ ได้หยิบยก วงดนตรีจากชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่มีชื่อเสียง ในนาม CU Band โดยได้รับเกียรติแสดงในงานสำคัญต่าง ๆ ระดับประเทศมาแล้วมากมาย ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้พบกับวงดนตรีวันสุข วงดนตรีสากล V Harmonica  และ CUD World ฝีมือนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งวันนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้ง 2 สถาบัน ได้สามัคคีกันบรรเลง บทเพลงพระราชนิพนธ์สุดอมตะ อาทิ แสงเทียน ยามเย็น พรปีใหม่ ฯลฯ พร้อมสุดยอดการแสดงบัลเล่ต์ ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์  เป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงให้กับชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้รับฟัง บนเวทีอันทรงเกียรติ 







นอกจากนี้  อาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ ได้ขึ้นรับช่อดอกไม้ จาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการ กสว. และผู้บริหารเซ็นทรัลเวิลด์รับโล่ขอบคุณจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดงานยาวนาน 7 วัน  เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่สถานศึกษา นักเรียนนิสิต ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างพลังเยาวชนและพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ และเพื่อแสดงถึงความร่วมมืออันดีในการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 




ยังเหลือเวลาอีกเพียง 1 วันเท่านั้น ที่จะได้อิ่มเอมไปกับ ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564 ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ Still on my mind”  ในวันพรุ่งนี้ได้รับเกียรติจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีร่วมแสดง อว. จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมส่งท้ายความสุขจากบทเพลงพระราขนิพนธ์ ดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ ธ สถิตในดวงใจ ไทยนิรันดร์ ไปด้วยกัน ในวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป




รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...