วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วช. จัดเวทีเสวนาเปิดให้บริการฐานข้อมูล Big Data ในวาระครบรอบ 62 ปี

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน.ของประเทศ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลให้เกียรติร่วมเสวนา

         ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช.ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศจนต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวง อว. ขึ้น ทำให้ภารกิจของ วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยต้องสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทุนในรูปแบบออนไลน์ ใช้งานง่าย ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น การจัดการระบบสารสนเทศเพื่อใช้งานแบบออนไลน์ จึงมีความสำคัญในยุคดิจิทัล วช.ได้ริเริ่มจัดการระบบฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.2549 นำโดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เพื่อใช้เป็นกลไกการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ในลักษณะมี Big Data ของประเทศ เพื่อให้ข้อมูลที่กระจัดกระจายมารวมกัน ซึ่งปัจจุบันระบบมีประสิทธิภาพสูง เห็นภาพของการวิจัยตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดโครงการ

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน ววน. กล่าวว่า การมี Big Data ของประเทศในงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยลดความซ้ำซ้อน เกิดกลไกที่เป็นระบบมากขึ้น และเกิดการจัดทำแผนงบประมาณและบูรณาการการวิจัยของประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมีความสมบูรณ์แล้ว ร้อยละ 90 และคาดว่าจะสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ในส่วนกลาง และสามารถเข้าถึงง่าย ทันสมัย มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีผลงานวิจัยได้ดี เมื่อมีการจัดทำฐานข้อมูลจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด

 

ขณะที่ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลสารสนเทศทางการวิจัย เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศที่ดีที่สุด ขณะนี้การจัดทำข้อมูล Big Data วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ วช.ดำเนินการ ยังต้องการงานวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมกันเป็น Big Data  จึงจะตอบได้อย่างชัดเจนว่า งบวิจัยของประเทศต่อ GDP  มีมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เรามีนักวิจัย ประมาณ 140,000 คน และมีงานวิจัยอีกจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีการนำมารวมไว้ในที่เดียว ก็จะมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด แต่เชื่อว่าถ้าทำข้อมูลนี้เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถระบุได้ว่าประเทศไทยใช้งบวิจัยต่อ GDP เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้พยายามพัฒนาระบบนี้ให้สมบูรณ์ตามที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ได้ริเริ่มไว้

การเสวนาในครั้งนี้ จะชี้ให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคประชาคมวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เห็นความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมการให้บริการสืบค้นข้อมูลและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการวิจัยของประเทศ และทำให้ประชาชนเห็นว่า การลงทุนกับงานวิจัยมีความคุ้มค่าต่อการพัฒนาประเทศ  



วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

62 ปี วช. มิติใหม่ พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ครบรอบ 62 ปี พร้อมก้าวเข้าสู่ปี 63 ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาส  “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 62 ปี” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช. ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้พัฒนาขึ้น สร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่าสามารถประยุกต์และพัฒนาวิทยาการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ นอกจากนี้ วช. มีภารกิจสำคัญเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ รวมถึง การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ NRIIS (National Research and Inter System) ที่สามารถบริหารจัดการทุนวิจัยในแบบออนไลน์ ได้ 100% และ วช. จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล 





กิจกรรม “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี” วช.ยังคงให้ความสำคัญในกิจกรรมการให้ความรู้ด้านการวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจัดกิจกรรมดังนี้ กิจกรรมการเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศและการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน. ของประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล การบรรยายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด กิจกรรม Research Knowledge Management : เรื่อง “การใช้ประโยชน์ไม้อย่างคุ้มค่า” และเรื่อง “เทคนิคการทำปุ๋ยหมักและการปลูกพืชครัว” กิจกรรม NRCT Talk : เรื่อง เซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น 2564 และเรื่อง ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง รางวัลเหรียญทอง การประกวดเวทีนานาชาติ 



นอกจากนี้ วช. ยังจัดกิจกรรมเปิดมุมวิจัยรักษ์โลก ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการปรับภาพลักษณ์องค์กร การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดพลาสติก ลดโลกร้อน รวมทั้งการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ โดยนำเก้าอี้ และกระถางต้นไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้ขยะ ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง แผ่นปูพื้นและเก้าอี้ที่มีส่วนของขยะพลาสติกจากทะเลเพื่อสร้างมูลค่า ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ มาใช้ในมุมวิจัยรักษ์โลกดังกล่าว และภายในงานยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลงานวิจัย เรื่อง “การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยต้นไม้ที่ลดฝุ่นนี้ปลูกในบริเวณ วช. ได้แก่ ต้นพลูปีกนก ต้นเฟิร์นขนนก ต้นคล้าแววมยุรา ต้นคริสติน่า ต้นตีนเป็ด ต้นโมก ต้นยางอินเดีย ต้นกวักมรกต ต้นหมากเหลือง และพรมกำมะยี่




สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้รับผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. อาทิ ต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ของ รองศาสตราจารย์ ดุสิต อธินุวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้ากาก N-Breeze M02 ของ ดร.วรส อินทะลันตา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, น้ำมังคุดชิงธง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ,และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ภารกิจ หน้าที่ ผลงานวิจัยและกิจกรรม วช. ต่อสาธารณชน และนำไปใช้ให้ประโยชน์ และสร้างความภาคภูมิใจให้นักวิจัย และนักวิชาการ พร้อมรำลึกถึงวันครบรอบ 62 ปี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)















62 ปี วช. เปิดตัว เด็กเก่ง คิดค้น “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” รักษ์โลก คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ มาครอง

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “NRCT Talk: 62 ปี วช. เปิดตัวผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ที่นำขยะทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นถุงเพาะชำที่ให้ธาตุกับต้นไม้ได้ หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติงาน “The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก” 

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป 

ในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ของ นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์,นายนรากรณ์ ธนิกกุล, นายจิราวัฒน์ ศรีศิลป์โสภณ, นายอชิตพล จินดาพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5, และนายขุนทอง คล้ายทอง อาจารย์ที่ปรึกษา แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก” ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8-12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ได้รับรางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

นายขุนทอง คล้ายทอง อาจารย์ที่ปรึกษา นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยและทั่วโลก หันมานิยมบริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจปลูกมะม่วงพันธุ์นี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรนิยมใช้พลาสติกเป็นวัสดุห่อหุ้มวัสดุปลูก แต่เมื่อแกะถุงพลาสติกออกจะเกิดการกระทบกระเทือนราก ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งพลาสติกเหล่านั้นที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้จึงกลายเป็นขยะตามมา และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากเกษตรกรพบว่ามีจำนวนมากถึง 500 ล้านตันต่อปี จากปัญหาดังกล่าว สมาชิกในกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาทั้งสอง พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดเพิ่มคุณสมบัติพิเศษในการเพิ่มสารอาหารที่ช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดี 

ด้าน นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ หัวหน้าทีมนักประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้ ได้เริ่มจากรายวิชาในชั้นเรียน โดยมองหาสิ่งใกล้ตัว ที่ต้องการการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทำการทดลองแบบเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวที่ราคาไม่แพง ประหยัด เช่น การใช้แป้งมันสำปะหลัง เพื่อผลิตเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับถุงตอนกิ่งมะม่วง เป็นการกระตุ้นการใช้ประโยชน์มันสำปะหลังในประเทศที่มีจำนวนมาก เกษตรกรสามารถใช้งานได้ง่าย และต่อยอดไปได้อีก

สำหรับกระบวนการผลิตถุงตอนกิ่ง ทีมวิจัยได้เลือกทำเป็นแผ่นฟิล์มที่สามารถย่อยสลายได้ เริ่มจากนำแป้งมันสำปะหลังมาผสมกับสารช่วยขึ้นรูป และได้เพิ่มคุณสมบัติของกากกาแฟและขี้เถ้าแกลบลงไป เนื่องจากกากกาแฟมีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของราก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมถึงยังมีสารที่สามารถขับไล่แมลงได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน ส่วนขี้เถ้าแกลบก็ประกอบด้วยแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม อีกทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้กับถุงตอนกิ่ง พอถุงตอนกิ่งสำเร็จ นักเรียนได้นำไปทำการทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ จนพบว่าถุงตอนกิ่งที่ผลิตขึ้น มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการต่อยอดที่จะขยายสเกลการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจจะช่วยในการเพิ่มทางเลือกของเกษตรกรในอนาคตได้





62 ปี วช. ยกงานวิจัย “นวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” มาโชว์

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าว “NRCT Talk: 62 ปี วช. นวัตกรรมรักษ์โลก” โชว์ “นวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 โดยมี ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 

ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สิ่งที่นักวิจัยถูกวิจารณ์ คือ การอยู่บนหอคอยงาช้าง งานวิจัยไม่มีช่องทางการสื่อสารมากเพียงพอ NRCT Talk ถือเป็นเวทีให้กับนักวิจัยเพื่อสื่อสารงานวิจัยไปยังสาธารณะ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป เป็นการสร้างปัญญาให้กับประเทศ ให้ประชาชนสามารถหยิบยกไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ หวังว่าจะช่วยให้ประเทศไทยเห็นคุณค่าในการลงทุนด้านวิจัย และนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดบ้านแถลงข่าว “NRCT Talk: 62 ปี วช. นวัตกรรมรักษ์โลก” เพื่อเชิดชูนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นรางวัลที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งนวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม ของ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร ยังวิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว 

นักประดิษฐ์มีความคิดเห็นว่าอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อร่างกายของผู้บริโภคได้ จึงได้อุทิศตนเพื่อประดิษฐ์คิดค้น “นวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” ขึ้น 

รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร ยังวิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า นวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสารปนเปื้อน ซัลไฟด์ และไซยาไนด์ โดยอาศัยปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจง และมีอุปกรณ์ sample holder ที่ออกแบบใหม่ เป็น "Novel Sample Holder" เพื่อหนีบกับสมาร์ทโฟน และใช้แอปพลิเคชั่นในการหาปริมาณสารในอาหาร นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังตรวจวัดปริมาณซัลไฟต์ในอาหาร ตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในน้ำดื่ม ตรวจวัดทีเอ็นทีในดิน รวมทั้งในเสื้อผ้า พื้นผิวต่าง ๆ และตรวจวัดไนไตรต์

ในตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นเครื่องมืออย่างง่ายให้ผู้ประกอบการ หรือให้ผู้บริโภคใช้ตรวจสอบป้องกันสารอันตรายต่อร่างกาย โดยผลที่ได้เมื่อเทียบเคียงกับวิธีทดสอบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถให้ผลแม่นยำเช่นกัน การใช้งานของ “นวัตกรรมเซนเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” นำเซนเซอร์ฉลาดที่ออกแบบไปหนีบบนสมาร์ทโฟนได้ทั้งแนวตั้งแนวขวาง กล้องอยู่ริมหรืออยู่กลางก็สามารถใช้งานได้ 

สามารถประมวลผลเป็นปริมาณสาร พร้อมชุดทดสอบสารต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของสำลีก้านเพื่อช่วยลดการรบกวนจากสารอื่น ๆ ในตัวอย่างโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับเทคนิค headspace microextraction โดยสารที่สนใจถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแก๊สและขึ้นไปจับกับ รีเอเจนต์เฉพาะในสำลีก้านที่แขวนเหนือสารตัวอย่าง และเมื่อนำไปใส่ใน sample holder ที่หนีบติดกับกล้องสมาร์ทโฟน จากนั้น แอปพลิเคชั่น จะถ่ายภาพและแปลงข้อมูลเป็นความเข้มข้น โดยเทียบกับกราฟมาตรฐานที่เก็บไว้ 

นอกจากนี้ ตัว sample holder มีจุดเด่นคือ สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนหลายรุ่น และหลายยี่ห้อ เนื่องจากออกแบบเป็นแบบหนีบมีขนาดเล็ก ตัว sample holder มีเลนส์ช่วยเพื่อลดระยะห่างระหว่างตัวอย่างที่ถ่ายกับกล้อง เพื่อทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง มี LED white light เพื่อช่วยให้แสงในการถ่ายภาพ  นอกจากนี้ sample holder ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการถ่ายสารละลายใน cuvette โดยออกแบบที่ใส่ cuvette และ vial ไว้ด้วย

งานวิจัยคุณภาพจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมเกษตรนำไปใช้ช่วยยกระดับคุณภาพ ลดรายจ่าย และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้สินค้าเกษตรกรไทย เปิดโอกาสในตลาดโลก ลดปัญหาการกีดกันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัย ประเมินน้ำท่วมกระทบนาข้าว 3.5 ล้านไร่ แต่คาดการณ์ปีหน้าน้ำอาจน้อย

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัย แก่ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ปีที่ 1 งานวิจัยเข็มมุ่ง ประเมินความเสียหายของข้าวจากน้ำท่วม เผยกระทบพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด ตามด้วยภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ แต่อนาคตคาดน้ำน้อย ห่วงประชาชนจำนวนมากกลับต่างจังหวัด หวังทำการเกษตร กระทบเศรษฐกิจอีกรอบ

แม้ว่าภาพรวมในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม หากมองถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ส่งน้ำเข้ามาดูแลภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 41% และ 24 % เท่านั้น (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564) ด้วยปริมาณน้ำเพียงเท่านี้ อีกทั้งต้องนำไปใช้ดูแลพื้นที่ปลูกข้าวและพัฒนาเศรษฐกิจของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง อาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกรอบหนึ่ง

ประเด็นที่ห่วงใย คือ ประชาชนจำนวนมากกลับไปบ้านเกิดในต่างจังหวัด เนื่องจากไม่มีงานทำในเมืองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเกษตรเป็นความหวังในการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่หากในอนาคตที่จะถึงเราไม่มีน้ำในการทำเกษตร ประชาชนที่กลับไปบ้านเกิดจะเดือดร้อนมากขึ้นอีก ควรมีมาตรการรองรับล่วงหน้าไว้ด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยได้ประเมินผลเสียหายจากน้ำท่วม พบว่า นาข้าวเสียหายกว่า 3.5 ล้านไร่คิดเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อข้าวมากที่สุดคือ ภาคอีสาน น้ำท่วมข้าวประมาณ 2 ล้านไร่ สำหรับภาคกลางและภาคเหนือ นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1 ล้านและ 5 แสนไร่ตามลำดับ อย่างไรก็ตามความเสียหายจะถูกประเมินจากชนิดของข้าว เช่น ข้าวเจ้าในภาคกลาง ข้าวเหนียวในภาคอีสานตอนบน และข้าวหอมมะลิในภาคอีสานตอนล่าง รวมถึงราคาข้าวในแต่ละชนิด ณ ขณะนั้นโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

   

 

 ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ เปิดเผยว่า “ ผลการประเมินโดยแบบจำลองตัวแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2563 ทำให้เราสามารถประเมินความเสียหายของน้ำท่วมได้ โดยภาพถ่ายดาวเทียม มีจุดเด่น คือ มีข้อมูลที่อัพเดตทุกวัน ลดความยุ่งยากในการสำรวจในพื้นที่ที่มีอุปสรรคจากน้ำท่วม เป็นการใช้ข้อมูล BIG DATA ในการบริหารจัดการภัยน้ำที่ทันสมัยในอีกรูปหนึ่ง งานวิจัยมีความตอบโจทย์ตามคำแนะนำของ คณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ด้านการบริหารจัดการภัยในอนาคตโดยคำนึงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยด้วยการออกนโยบายที่ถูกต้องและแม่นยำกับสถานการณ์ นอกจากการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ยังได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงระบบประเมินและเชื่อมโยงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในระดับนานาชาติ ตามกรอบเซนได, SDGs และ ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย อีกเช่นเดียวกัน ”

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...