วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

วช. รับประกาศเกียรติคุณหน่วยงานสนับสนุนการดำเนิน รพ.บุษราคัม

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้ารับประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลบุษราคัม ที่เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในพิธีปิดโรงพยาบาลบุษราคัม โดยมี นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมในพิธีปิดฯ ณ อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าในส่วนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ นวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) พร้อมทั้งหน้ากากอนามัยชนิด KN95 และหน้ากากอนามัย N-Breeze ที่ วช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ไปมอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา








ติดตามขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ด้าน CG/CSR

นายมานพ กาญจนบุรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อ.ส.ค. (ประธานอนุกรรมการ CG/CSR) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)  อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อติดตามขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ด้าน CG/CSR ในกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฟาร์มประสิทธิภาพสูง   ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธ์ุโคนม  กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คของสำนักงาน  อ.ส.ค.ภาคกลาง  โดยมีนายนายวิศิษฎ์ แสงคล้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อ.ส.ค. พร้อมด้วยนายพีระ ไชยรุตม์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เมื่อเร็วๆนี้

วช. หนุน พระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาแนวทางสำรวจ ความคุ้มค่าการลงทุนธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ

ในแต่ละปี สังคมไทยสร้างขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมากกว่า 27.93 ล้านตันต่อปี ประเมินกันว่ามีเพียงร้้อยละ 26 หรือประมาณ 10.85 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการโดยมีบางส่วนถูกนำไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่  ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ไม่ได้รับการจัดการ หรือถูกทิ้งกองเป็นขยะมูลฝอยตกค้างซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ  ปัญหาเรื่องกลิ่น สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในขณะที่พื้นที่ที่จะใช้ในการฝังกลบขยะกลับหายากขึ้นเพราะถูกต่อต้านจากชุมชน ขยะมูลฝอยจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา  แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยได้เปลี่ยนแปลงไป  โดยมองว่าขยะมูลฝอยสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่  และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้   “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ  เพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ดร.คมศิลป์ วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการ 

ผศ.ดร.คมศิลป์  วังยาว บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ในกองขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาฝังกลบจะมีทั้งส่วนที่สามารถย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้  เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ส่วนที่ย่อยสลายได้ (เศษอาหาร และอินทรีย์สารต่าง ๆ)  ที่มีประมาณร้อยละ 50 จะถูกย่อยสลายกลายเป็นวัสดุคล้ายดิน ซึ่งสามารถคัดแยกแล้วนำไปใช้ทดแทนดินเพื่อปิดกลบทับขยะได้ ผลจากการย่อยสลายขยะส่วนที่ย่อยสลายได้ จะเกิดเป็นก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  สำหรับขยะมูลฝอยที่ถูกฝังกลบอีกประมาณร้อยละ 50 เป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ มักเป็นถุงพลาสติกชนิดต่างๆ  ซึ่งวัสดุเหล่านี้ภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุนขุดรื้อร่อนเพื่อนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel, RDF)  “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ” จึงได้พัฒนาแนวทางการประเมิน RDF ที่สามารถรื้อร่อนได้ โดยใช้เทคนิคการตรวจวัดแบบผสมผสาน ประกอบด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ในการประเมินองค์ประกอบขยะ การตรวจวัดค่าความร้อนจากผิวกองขยะด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อนติดตั้งบน UAV และการตรวจวัดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนด้วย Laser Methane Detector เพื่อประเมินสภาพการย่อยสลายของขยะ รวมถึงการนำเทคนิคการสร้างแผนที่ความละเอียดสูงด้วยภาพถ่ายที่ได้จาก UAV มาใช้ประเมินปริมาตรของขยะ 


ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานทำให้ได้ข้อมูลศักยภาพการพัฒนาโครงการลงทุนที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจว่ากองขยะที่ถูกฝังกลบมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อผลิตเป็นพลังงานหรือไม่  ผลจากการสำรวจทำให้ได้ข้อมูลมาจำนวนหนึ่ง และเมื่อนำมาคำนวณด้วยสมการที่คิดขึ้นมาจะทำให้ทราบว่ากองขยะแต่ละแห่งมีปริมาณ RDF อยู่เท่าไร  และจากข้อมูลทั้งค่าความชื้น  ค่าความร้อน  ค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ฯ  ที่ได้จากการสำรวจเป็นหมื่น ๆ จุดจากกองขยะแต่ละแห่ง สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นรูปตัดที่สามารถระบุพิกัดได้ว่าแต่ละจุดมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่เท่าไร  พื้นที่ตรงไหนมีน้อย พื้นที่ตรงไหนมีมากพอที่จะลงทุนขุดรื้อร่อนได้   ดังนั้น ข้อมูลที่ได้มาจึงสามารถบอกได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าในบ่อขยะแต่ละแห่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการขุดรื้อร่อนขยะพลาสติกเพื่อนำมาขายเป็นเชื้อเพลิงขยะหรือไม่  ลักษณะทางกายภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งเป็นอย่างไร  มีศักยภาพในการขุดรื้อร่อนขยะอย่างไร บางแห่งอาจจะเหมาะสมสำหรับการขุดรื้อร่อนเพื่อนำขยะพลาสติกไปขายเป็นเชื้อเพลิงขยะ  แต่บ่อขยะบางแห่งลักษณะทางกายภาพไม่เหมาะสมสำหรับการขุดร่อนรื้อขยะ  แต่เหมาะสมสำหรับการรวบรวมก๊าซขยะ (Landfill Gas, LFG) ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน โดยพบว่า บ่อขยะหลาย ๆ แห่ง ก็มีปริมาณก๊าซขยะมากพอที่จะทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้  

ดังนั้น ข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสำรวจบ่อขยะทั้งที่เป็นบ่อขยะแบบเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill)  เพื่อประเมินศักยภาพของบ่อขยะแต่ละแห่งทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ  ตลอดจนความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตพลังงานจากธุรกิจเหมืองบ่อขยะ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการ  และเป็นแนวทางในการพิจารณาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป

จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนทำธุรกิจพลังงานจากเหมืองบ่อขยะ ดังนี้ 1) บ่อขยะที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจมีเยอะมาก เพราะส่วนมากเป็นบ่อขนาดใหญ่  2) เนื่องจากบ่อขยะที่สำรวจวิจัยมีทั้งบ่อที่เป็นแบบเก่า ทั้งแบบเทกองกลางแจ้ง และบ่อที่มีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล แต่ละแบบมีศักยภาพในการทำธุรกิจได้ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาในการฝังกลบ เพียงแต่ก่อนเริ่มทำเราต้องสำรวจพื้นที่ก่อนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ  3) ปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงขยะควรมีปริมาณอย่างต่ำ 200,000 -300,000 ตัน  4) ระยะทางระหว่างบ่อขยะไปถึงลูกค้าปลายทางที่ใช้เชื้อเพลิงขยะไม่ควรเกิน 400 กิโลเมตร 5) บ่อที่มีความเหมาะสมในการรวบรวมก๊าซขยะ ควรเป็นบ่อขยะที่มีอายุการฝังกลบมาแล้ว 3-5 ปี เพราะขยะยัังมีการย่อยสลายอยู่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการระบายน้ำชะมูลฝอยในบ่อขยะว่าดีมากน้อยเพียงไร ซึ่งการสำรวจด้วยเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ก็สามารถให้คำตอบได้

วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ปี 2564 มาแถลงข่าว “วิจัย นวัตกรรมดีดี มีที่ วช.” เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤตและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย  

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนจนสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า วช. ได้วางกรอบแนวทางบริหารจัดการทุนไว้อย่างชัดเจน ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ได้สนับสนุนการใช้วิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมิตินวัตกรรม และวิชาการ ตอบรับความต้องการของบุคลากรได้ถึง 3 เฟส ของการแพร่ระบาด และมีความก้าวหน้าเป็นไปตามมาตรฐานการวิจัย วช. จึงนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา สร้างโอกาสช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19



ในวันนี้ วช. นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี บางส่วนที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 10 ด้าน มานำเสนอ ได้แก่ ด้านโควิด -19 อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ mRNA Vaccine เพื่อป้องกันการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจปัสสวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน และแผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ ด้านการรองรับสังคมสูงวัย อาทิ เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ และเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง 



ด้านการเกษตร อาทิ ยืดอายุ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ส่งออกต่างประเทศ และยืดอายุทุเรียนเพื่อการส่งออก ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ เครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ด้านสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารปูม้าชุมชน เพื่อความยั่งยืน และไก่พื้นเมือง และไก่ลูกผสมพื้นเมือง สู่เชิงพาณิชย์ วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” ไก่พื้นเมืองลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ 


ด้านการศึกษา อาทิ ระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเทคโนโลยี AI อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK)  


ด้านเศรษฐกิจฐานราก อาทิ มังคุดวิจัย และเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal (KOYORI) ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน อาทิ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขและแกนนำชุมชน เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 บริเวณพื้นที่ชายแดน และสร้างตำบลต้นแบบ 15 จังหวัด ผ่านปราชญ์เพื่อความมั่นคง และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการนำเสนอในช่วงท้ายว่า วช. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดย วช. จะมุ่งเน้นผลงานงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมุ่งเน้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ วช. ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสหน้า วช.จะฉายภาพงานวิจัยและนวัตกรรมดีดี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย ในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

วช. มอบชุด PAPR แก่ โรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา รับมือสถานการณ์โควิด-19

 

วันนี้ (29 กันยายน 2564) ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน ส่งมอบนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ พร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) แก่ โรงพยาบาลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 10 ชุด โดยมี นางวัลลภา ทองศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รองหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล เป็นตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสูงเนิน เข้ารับมอบ พร้อมด้วย น.ส.ธีราพร อุตชี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ป้องกัน ขณะปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับการรักษา 


ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ส่งผลให้พบผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก มีการส่งต่อผู้ป่วยกลับมารักษาต่อในภูมิลำเนาเดิม การจัดสถานที่รองรับผู้ป่วยในชุมชนและในโรงพยาบาล รวมทั้งการออกให้บริการรับ-ส่งผู้ป่วยตามสถานที่พักคอยและศูนย์แยกกักในชุมชน ซึ่งบุคลากรด้านแพทย์และบุคลากรด่านหน้ามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติที่ดังกล่าว โรงพยาบาลสูงเนิน จึงแจ้งความความอนุเคราะห์ขอรับการสนับสนุนชุด PAPR มายัง วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในบริบทของประเทศ และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และวิจัยและพัฒนา ศบค. เพื่อให้บุคลากรดังกล่าวได้นำไปใช้ป้องกันตน จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

     


 สำหรับนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือของคนไทย ผลงานของทีมนักวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำโดย นพ.เข็มชาติ  หวังทวีทรัพย์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ชุดหน้ากากส่วนหัวได้ขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ท่อลมปรับให้มีความแน่นหนา กล่องพัดลมมีความเพรียวบาง พร้อมปุ่มปรับแรงลม และเกจย์บอกระดับแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง สามารถชาร์จไฟได้ด้วยสายยูเอสบี แบบซี ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ในขณะที่คุณภาพและมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่ากัน

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

“เอนก” หนุนใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยผู้ป่วยจัดการตัวเองจากโควิด-19 ได้เพื่อลดภาระของแพทย์ พยาบาล ชี้ไทยผ่านวิกฤติได้เพราะคนไทยมีวินัยและมีคนเก่งกระจายตัวในที่ต่างๆ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) สำนัก งานตำรวจแห่งชาติ ศ.ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมลงนาม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า อว.      

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกหน่วยที่มาร่วมมือกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด  – 19 โดยเฉพาะ วช. ที่เป็นหน่วยให้ทุนสนับสนุน ที่สำคัญ วันนี้ (28 ก.ย.64) เป็นวันแรกในรอบ 2 เดือนที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยต่ำกว่า 1 หมื่นคน ที่ผ่านมา ตนไปตรวจเยี่ยมที่ไหนก็จะเน้นย้ำตลอดว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะเชื่อเสมอว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวยากมาก เพราะคนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเมตตาสูง พร้อมช่วยเหลือกัน มีการระดมบริจาคกันมากมาย แม้คนที่ลำบากก็ยังจะมีน้ำใจกับผู้อื่น เราถึงสู้ได้ในทุกวิกฤติ ที่สำคัญ คนไทยมีวินัยมากพอ รู้ว่าเวลาใดควรเข้มงวดกับตนเอง ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาคงไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเรายังมีคนเก่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย  อย่าง อว. ก็พร้อมเป็นกองหนุนสนับสนุนการทำงานของ สธ. ทั้งการเปิด รพ.สนาม การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน นำบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานทุกด้าน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงงานวิจัยต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยให้ผู้ป่วยจัดการตัวเองได้ เพื่อลดภาระของแพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังสนใจใช้เทคโนโลยี AI ของ อว. ในการป้องกันอาชญากรรม ซึ่ง อว. ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI ไปสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่   

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Arificial Inteligence) มาใช้ประโยชน์ในการร่วมป้องกันโควิด -19 โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการโครงการเรื่อง  “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงโควิด-19" และในระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครและบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในการสร้างระบบวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อวิเคราะห์การสวมหน้ากากอนามัยและการสัญจรของภาคประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีการรายงานผลการวิเคราะห์ไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมีการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า วช.เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด–19 ภาย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์/เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการคัดกรองและสนับสนุนการป้องกันสุขภาพประชาชน ได้แก่ การส่งเสริมการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง การส่งเสริมการเว้นระยะห่าง การให้ความรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อการรับรู้สุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  สามารถพัฒนาระบบตรวจจับหน้ากากอนามัย การพัฒนาระบบการเว้นระยะห่าง และระบบหลังบ้านที่ใช้ในการบริหารการเฝ้าระวัง โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลหรือดาต้าวิชวลไลเซชั่น (Data Visualization) จากข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ในการประเมินพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและขอความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบประเมินและติดตามการใส่หน้ากากอนามัย ระบบวัดการเว้นระยะห่างจะช่วยทำให้มีข้อมูลนำเสนอต่อภาครัฐ รวมไปถึงภาคประชาชน ในการให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวจากโรคระบาดในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคต่าง ๆ   

ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK) ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ เพื่อประมวลผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน ซึ่งระบบเอไอดังกล่าวนี้ มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากสามารถที่จะติดตามและวัดผลว่าประชา ชนในแต่ละพื้นที่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ใส่ รวมทั้งมีการใส่แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบสามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด รวมทั้งใช้ในการประเมินภาพรวมว่าได้มีความเข้มงวดหรือระมัดระวังในการป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการ์ดสูงหรือการ์ดตก รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและหาบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเตือนประชาชนให้กระชับมาตรการในบางช่วงบางเวลาได้ด้วย ทั้งนี้ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการผ่อนคลาย



อว. มอบนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ แก่ ผส. และ พก. รับมือการแพร่ระบาดโควิด-19

วันนี้ (28 ก.ย. 64) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ส่งมอบ “นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ” เครื่องใหญ่แบบตั้ง จำนวน 26 เครื่อง และเครื่องเล็กพกพา จำนวน 24 เครื่อง โดยมี นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และนางสาวสราญภัทร อมุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นผู้รับมอบ ฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ที่มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสำคัญและเป็นวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ ทั้งนี้ วช. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จึงได้ร่วมกับ พม. โดย พก. และ ผส. ในการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ผลักดันให้เกิดการนำผลงานนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่มีร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ในการร่วมกันกำหนดนโยบายวางแผนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสาหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้คนพิการและผู้สูงอายุได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง


ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อว่า  และเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในระลอกที่ 3 มีแนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้น จากการแพร่เชื้อที่สามารถติดต่อได้ง่ายทั้งการแพร่ระบาดจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงจากการสูดดมละอองฝอยจากการไอหรือจาม น้ำลาย น้ำมูกของผู้ติดเชื้อ และจากการสัมผัสทางอ้อมโดยการสัมผัสทางมือ จากการศึกษาวิจัยพบว่าอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค COVID-19 จะพบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ โดยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพัฒนานวัตกรรมการป้องกันการติดเชื้อจากอากาศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมกีฬาเครื่องบินจาลองและวิทยุบังคับ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก – ลบ ทั้งแบบพกพาและแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่ปิด เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพอากาศให้มีการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศน้อยลง ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด -19 ได้ วช. จึงเห็นควรส่งมอบเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก – ลบ ทั้งแบบพกพาและแบบตั้งโต๊ะให้กับกรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในสถานดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ ได้นำนวัตกรรมไปใช้ป้องกันการติดเชื้อจากอากาศซึ่งช่วยเพิ่มเติมการป้องกันจากมาตรการเดิมที่มีอยู่ให้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาทดสอบประสิทธิภาพขึ้น ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ใช้การปล่อยประจุไอออน 2 ชนิด คือ ออกซิเจนบวก และ ออกซิเจนลบ เพื่อจะไปทำปฏิกิริยากับเซลล์หรืออนุภาคต่าง ๆ ของไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังทำให้อากาศบริสุทธิ์ สะอาด ป้องกันเชื้อโรค โดยใช้เทคโนโลยี Bipolar Ionizer Technology (BIT) ระบบ Corona System ปล่อยโคโรน่าเพื่อแยกโมเลกุล ออกซิเจน ออกเป็นออกซิเจนบวกและลบไปรวมกับ ไอน้ำ (H2O) ในอากาศ เกิดกลายเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และไฮดรอกไซด์ (OH) ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งและทำลายเชื้อโรค ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น

 นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมกิจการผู้สูงอายุเราได้ดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างเต็มที่ตามมาตรการ ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสในอากาศที่มองไม่เห็นนับเป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศนี้สามารถนำไปใช้ดูแลและป้องกันกลุ่มเปราะบางให้ปราศจากเชื้อโรค สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยและการดูแลผู้พิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า จากความร่วมมือขับเคลื่อนงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ นำนวัตกรรมเสริมพลังกลุ่มเปราะบางก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal กรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้รับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก-ลบ เป็นผลงานที่มีประโยชน์ยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง และในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดังกล่าว นำมาสู่การใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ 






วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

วช. เปิดตัวนวัตกรรม“สีย้อมอสุจิ บี อาร์”จากสารสกัดข้าวเหนียวดำ คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 64


วันที่ 27 กันยายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม NRCT Talk “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 9” โชว์สิ่งประดิษฐ์สีย้อมอสุจิ บี อาร์ จากสารสกัดข้าวเหนียวดำหนึ่งเดียวในโลก นวัตกรรมสำหรับผู้มีบุตรยาก ประยุกต์ใช้งานทางนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2564  เผยช่วยลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าข้าวไทย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ วช.ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 เพื่อเป็นการเชิดชูนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์เกิดการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะการผลิตผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถผลักดันการประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2564  วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาการศึกษา ให้กับนวัตกรรม“สีย้อม บีอาร์”ของ ผศ.ดร.ฌลณต เกษตร อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับนำไปใช้ตรวจอสุจิ สู่การแก้ไขปัญหาผู้มีบุตรยากและปัญหาอัตราการเกิดน้อย โดยใช้วัตถุดิบหลัก “ข้าวเหนียวดำ” นับเป็นผลงานที่มีคุณูปการต่อวงวิชาการ สอดรับนโยบายของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ผศ.ดร.ฌลณต เกษตร และผศ.ดร.สิรินารถ ชูเมียน นักวิจัยผู้คิดค้น เปิดเผยว่า การตรวจน้ำอสุจิในเพศชาย เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาจุลทรรศนศาสตร์ เป็นการคัดกรองเบื้องต้น เพื่อวิเคราะห์สภาวะการมีบุตรยากในเพศชาย ประเมินความสมบูรณ์ สัดส่วน รูปร่าง รวมถึงการเคลื่อนที่และจำนวนของอสุจิ ซึ่งจะต้องใช้สีย้อมในการตรวจดู แต่เนื่องจากสีย้อมนำเข้ามีราคาแพง ใช้งานยุ่งยาก และใช้เวลานาน ประกอบกับมีสารเคมีสังเคราะห์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เรียนหรือผู้ใช้งาน ดังนั้น จึงได้พัฒนาชุดสีย้อมอสุจิจากสารสกัดธรรมชาติขึ้น โดยเลือกใช้ข้าวเหนียวดำเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งหาได้ง่ายโดยทั่วไป มีความปลอดภัย ใช้งานง่าย และช่วยเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยอีกทางหนึ่ง

การพัฒนาในครั้งนี้ยังเป็นการกระตุ้นการเรียนการสอนแบบ STEM ไปพร้อม ๆ กัน คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสกัดสี (Science,Technology) การออกแบบเครื่องย้อมอัตโนมัติ(Engineering) และการคำนวณสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการสกัด (Mathematics) เป็นการบูรณาการความรู้ของภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ผลลัพธ์ คือ ได้นวัตกรรมชุดย้อมสีอสุจี บีอาร์ (Sperm BR staining kit) ที่มีราคาถูกกว่าสีเคมีสังเคราะห์ ปลอดภัย ไร้สารพิษตกค้าง โดยปัจจุบันนำไปประยุกต์ใช้ในศูนย์ผู้มีบุตรยากของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อวางแผนและรักษาชายที่มีภาวะมีบุตรยากได้ตรงจุด หรือใช้ในกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์โรงพยาบาลชลบุรี โดยใช้ย้อมตัวอย่างจากสำลีป้ายช่องคลอด กรณีผู้หญิงถูกกระทำชำเรา ซึ่งจะสามารถเป็นหลักฐานชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้ จึงขอขอบคุณการสนับสนุนจาก วช. ในการพัฒนางานวิจัยในครั้งนี้


ท้ายที่สุด ทีมนักวิจัย สามารถคิดค้นสีย้อมอสุจิทดแทนการนำเข้าได้สำเร็จ และมีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงกับสีสังเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและประเทศ ถือเป็นงานวิจัยแรกของโลกที่ใช้สารสกัดธรรมชาติจากข้าวเหนียวดำ ในอนาคตคาดว่า สีย้อม บีอาร์นี้จะมีความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากการตรวจอสุจิในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และประชาชนมีความสนใจเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเดินทางเข้ามาตรวจได้ที่ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยขณะนี้มีความพร้อมพัฒนาและวิจัยร่วมกับภาครัฐหรือเอกชน อาทิ กรมการค้าระหว่างประเทศในการสร้าง Roadmap และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาสีย้อมให้เป็นรูปแบบผง เพื่อสะดวกในการใช้งาน ตอบโจทย์การผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมขยายการใช้งานไปสู่คลินิก หรือโรงพยาบาลในประเทศต่อไป 


“โดยสารแอนโทรไซยานิน เป็นสารหลักที่สกัดได้จากเปลือกข้าวเหนียวดำ หรือแกลบ สามารถติดสีตัวอสุจิได้ดีที่สุด จึงใช้สารสกัดดังกล่าว ร่วมกับสารเพิ่มประจุบวก Potassium alum เพื่อไปจับกับสารพันธุกรรมประจุลบในนิวเคลียส วิธีการย้อม โดยนำน้ำอสุจิใส่ในภาชนะใช้แผ่นสไลด์จุ่ม รอให้แห้ง นำสีย้อมมาป้าย และส่องดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ ถือว่าตอบโจทย์การแพทย์แม่นยำ สำหรับการตรวจระดับ DNA ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ โดยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย” ผศ.ดร.ฌลณต กล่าว




รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...