วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปลัด อว. ร่วมชมบูธ วช. ภายในงาน Smart SME Expo 2020

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปลัด อว.) ร่วมชมบูธ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และบูธต่างๆ ภายในงาน ซึ่งปีนี้ ทาง วช. ได้ออกบูธในงาน Smart SME Expo 2020 ในธีมงาน NRCT Reaserch Café โดยนำผลงานการวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผลิตจำหน่ายจริงกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ไอครีมผลไม้จากผลไม้แท้ ผลิตภัณฑ์แมคคาเดเมีย ผักโขมอบชีส  เครื่องดื่มข้าวไรส์เบอร์รี่สลัดเข้มข้น แกัวมังกรฟรีซดราย และอื่นๆ อีกมากมาย 


ทั้งนี้ยังสามารถเข้าเยี่ยมชมบูธ NRCT Reaserch Cafe (L7) ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00-20.00 ณ ฮอลล์ 9-10 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

#วช. #SmartSMEExpo2020 #NRCTResearchCafé

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟได้รับมาตรฐานองค์กรจัดการนวัตกรรม ISO56002 เป็นรายแรกของประเทศไทย

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา ได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 เป็นองค์กรแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการนวัตกรรมในระดับสากล  โดยได้รับเกียรติ จากนางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นำใบรับรองมาตรฐาน ISO 56002 มอบแก่นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ สีลม 

นางพรรณี อังศุสิงห์ กล่าวว่า มาตรฐานไอเอสโอ 56002 (ISO 56002)  เป็นมาตรฐานใหม่ ที่สถาบันฯ ส่งเสริมให้กับองค์กรได้มีแนวทาง กระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้องค์กรได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงการพัฒนานวัตกรรม  โดยซีพีเอฟ เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารนวัตกรรมขององค์กรตามแนวทางมาตรฐานไอเอสโอ 56002  อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเป็นองค์กรรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติบัตร ไอเอสโอ 56002 จากสถาบันฯ ช่วยตอกย้ำว่าซีพีเอฟเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลก ที่มีการดำเนินธุรกิจที่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและของโลกได้อย่างรวดเร็ว เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สู่ Thailand 4.0

นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า การได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 นับเป็นความสำเร็จของคณะผู้บริหารและเพื่อนพนักงานของซีพีเอฟทุกท่านและทุกหน่วยธุรกิจ ที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมในกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมมาตลอดระยะเวลา 12 ปี  และ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกบางนา ซีพีเอฟ  มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนและประสบความสำเร็จเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับรองมาตรฐานไอเอสโอ และยังเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ ของซีพีเอฟในการพัฒนาระบบบริหารจัดการนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล    

“เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม บุคลากรทุกลำดับชั้นสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ กระบวนการทำงานใหม่ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างยั่งยืนอีกด้วย  ช่วยให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์การ “ครัวของโลก” นายสิริพงศ์กล่าว  

ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรที่เป็นระบบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมประยุกต์นวัตกรรมเข้ากับกระบวนการทำงาน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการ CPF CEO Award เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กร และเป็นกิจกรรมแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่รวมไม่น้อยกว่า 45,000 ผลงาน และมีนวัตกรรมที่นำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วรวมถึง 294 ผลงาน 


บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดพัฒนาพนักงานเป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถมี นวัตกรในองค์กรรวมถึง 1,020 คนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรมีการพัฒนานวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาชุดทดสอบแบคทีเรียกลุ่ม Listeria monocytogenes ที่ก่อโรคในอาหาร ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการตรวจเหลือเพียง 1 วัน  นอกจากนี้ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะสมกับคนในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น 


ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Research and Development Center) ณ อำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ผ่ายการคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ โดยมีโรงงานต้นแบบเป็นพื้นที่ในการทดลองผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งมี ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพิ่มโอกาสในการตอบสนองตลาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว บนพื้นฐานของความยั่งยืน 


มาตรฐาน ISO 56002 Innovation Management  เป็นมาตรฐานใหม่ที่สถาบันรับรองไอเอส เริ่มประกาศใช้และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา  ใช้รับรององค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่นำเอานวัตกรรมเข้าไปสู่การดำเนินองค์กรในทุกลำดับชั้น สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมได้ เป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถปรับตัวตามทันตลาดและแนวโน้มของสังคม และบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

วันหลอดเลือดสมองโลก ภัยเงียบใกล้ตัว รักษาได้ถ้ารู้จักสัญญาณ F.A.S.T “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น"

 

          องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โดยรณรงค์ให้สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองโดยใช้หลักการ F.A.S.T หากพบว่าใบหน้าอ่อนแรงหรือหน้าเบี้ยว (FACE)  แขนอ่อนแรง (ARM) พูดผิดปกติ (SPEECH) ให้นึกถึงเวลา (TIME) ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยทันทีจะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

          โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก

          จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้ สำหรับในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ 

           ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แพทย์จะทำหัตถการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงผ่านบริเวณขาหนีบจนไปถึงตำแหน่งที่อุดตัน และนำเอาลิ่มเลือดที่ไปอุดตันตามหลอดเลือดออกมา พบว่าผู้ป่วยใช้เวลานอนโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือ “เวลา” ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบตัวสามารถนำหลักการที่จะจำได้ง่ายๆ คืออาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ไปสังเกตอาการของคนรอบตัว ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใด ให้นึกถึงสโตรค หรือโรคหลอดเลือดสมอง การรีบไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพสูงสุด”

“พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ประกอบด้วย 3 อาการที่สำคัญ

• “พูดลำบาก” หมายถึงการพูดไปผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง

• “ปากตก” หมายถึงมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง เมื่อให้ยิ้มยิงฟันแล้วพบว่าปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน

• “ยกไม่ขึ้น” หมายถึงแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น 


อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตุอาการเหล่านี้ได้เร็วเท่าไร จะสามารถช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้” 


          “สำหรับแนวทางป้องกัน สามารถเริ่มทำได้เองที่บ้าน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ลดน้ำหนัก ตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด” ศ.พญ. นิจศรี กล่าว

FACT SHEET

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


 1 หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีการหนาตัวขึ้น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบผนังหลอดเลือดขรุขระ มีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง 


2 หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้


สัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยหลักการ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น”

6 ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Source: https://www.world-stroke.org/world-stroke-day-campaign/why-stroke-matters/stroke-treatment/treatment-for-stroke )

1. หากสามารถสังเกตสัญญาณโรคได้เร็ว จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

2. กว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองจะสามารถฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี

3. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำได้โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมง หรือการรักษาโดยการทำหัตถการสายสวนเพื่อดึงก้อนเลือดออกมา 

4. การพักฟื้นเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้โดยเร็วที่สุด

5. หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะกลับมาเป็นซ้ำ

6. การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ ผักและผลไม้ ลดเกลือ การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่ การจัดการความเครียด และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม


การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

• การรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ

• การรักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดเพื่อลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด ทำให้สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้

• การรักษาโดยการผ่าตัด


อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 รายในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น


โรคหลอดเลือดสมองและสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก

จากการสำรวจขององค์กรหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization (WSO) พบว่าในปี 2563 สถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 90% มีผู้ป่วยลดลงโดยมีค่าเฉลี่ยในการลดลงประมาณ 50-70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ถึงแม้ว่าสาเหตุของการลดลงจะแสดงออกไม่ชัดเจนแต่สามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าประชาชนอาจจจะกลัวติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อการทำงานหลากหลายด้านในระบบสาธารณสุขดังนั้นการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา รับรางวัลเชิดชูเกียรติ"เพชรกนก"สาขา"เกียรติภูมิแผ่นดิน"

 


ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รับรางวัล"เพชรกนก"สาขา"เกียรติภูมิแผ่นดิน" ซึ่งเป็นนักบริหารภาคเอกชนด้านสื่อสารมวลชนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยสามารถนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาการจัดนิทรรศการและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในนามงาน"บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์" 


ปัจจุบันได้รับการจัดอยู่ในปฎิทินมอเตอร์โชว์โลก และได้รับการยอมรับในเวทีโลกก้าวหน้าสู่ระดับสากล โดยมีคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบรางวัลอันทรงเกียรติในงาน"เพชรกนก-กนกนาคราช" ประจำปี 2562-2563 ณ หอประชุม TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา

จุรินทร์เตรียมดันไทยเป็น Art & Crafts Hub ของอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุน SACICT สร้าง Ecosystem ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ชุมชนเติบโตผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน

 


          กระทรวงพาณิชย์ เตรียมดันไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมไทยแห่งอาเซียน หนุนให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้ งานศิลปหัตถกรรมเติบโต ผ่านการติดอาวุธด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “นำคุณค่ามาเพิ่มมูลค่า” หวังใช้ภูมิปัญญาที่ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม กระจายรายได้ให้ชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 


          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการพัฒนาการค้าในทุกมิติ ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้เกิดการส่งเสริมการประกอบอาชีพศิลปหัตถกรรม เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชน จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ดำเนินการพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทยอย่างรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเน้นการเป็นเศรษฐกิจชุมชน ที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายหัตถศิลป์ไทยล้วนเป็นชาวบ้านและชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ นำภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างที่ได้รับการสืบทอด มาผลิตงานหัตถศิลป์ในแบบดั้งเดิม ดังนั้นเพื่อให้วงการศิลปหัตถกรรมของไทยเกิดการพัฒนาให้เท่าทันกับการแข่งขันของโลกยุคใหม่ จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างให้เป็นแรงงานอาชีพสร้างสรรค์ ที่มีคุณภาพ ยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางและคนในชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีความโดดเด่นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ นำคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่ปัจจุบันมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีการนำจินตนาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้ามีความแปลกใหม่และโดดเด่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้หนุนให้สร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อให้งานศิลปหัตถกรรมเติบโต ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในระดับราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านการสร้างกระแสความนิยมใช้งานศิลปหัตถกรรมในสังคมไทย ด้วยกิจกรรมและการใช้บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยรู้สึกภาคภูมิใจและเกิดการซื้อใช้  เพื่อให้คนไทยในทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วม เป็นพลังสำคัญในการดำรงรักษาคุณค่าความเป็นไทย ผ่านงานศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าของชาติให้คงอยู่ต่อไป


        ทั้งนี้เมื่อไทยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขันในทุกมิติแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดัน   ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมงานศิลปหัตถกรรมแห่งอาเซียน (Art & Crafts Hub of ASEAN) ทั้งในมิติของการสืบสานรักษาต่อยอดองค์ความรู้หัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย และในมิติของการเป็นศูนย์รวมการค้า การลงทุนในงานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นแหล่งรวมนักลงทุน แรงงานคุณภาพ ผู้ประกอบการและผู้ที่กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม สร้างตลาดการซื้อ-ขาย ตั้งแต่วัตถุดิบและชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล ให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ของอาเซียนในอนาคต

นายพรพล เอกอรรถพร
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ


          นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2564 นี้ SACICT ดำเนินการเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย โดยปรับความคิดและกระบวนการทำงานของ ผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น สีสัน ขนาด ลวดลาย และการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ควบคู่ไปกับการเข้าไปดูแลและคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์ การกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยเพื่อการส่งออก รวมถึงการรับรองถิ่นกำเนิดของงานหัตถกรรมไทย การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า รวมถึงลดกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึง


          SACICT เตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทย โดยได้ผสานความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และยังเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและมูลค่าให้สินค้า และมีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นขณะเดียวกันช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลง เป็นการพลิกโฉมหัตถศิลป์ไทยไปสู่ SMART Crafts (หัตถศิลป์อัจฉริยะ) ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ ไปจนถึงปลายทางในการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ อันจะเอื้อให้ผู้ประกอบการงานคราฟต์ของไทยได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น หนุนให้เกิด Ecosystem ด้านงานศิลปหัตถกรรมอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นมิติใหม่ของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ชาวบ้าน ชุมชน คนทำงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ได้อย่างสง่างาม





วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

CSE รณรงค์ลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ CSE ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ นำโดย ดร. สุมิตร อธิพรหม และ ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ส่งมอบกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จากโครงการการเพิ่มมูลค่าใบตองตึงเพื่อลดเชื้อไฟ สลายฝุ่นควันและทดแทนพลาสติก ให้ร้อยตรี สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ บัวขาว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้คนไทยร่วมกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ บัวขาว วิลเลจ จังหวัดเชียงใหม่

ดร.สุฝหนึ่งเกิดจากใบตองตึงแห้งที่ทับถมกันเป็นเชื้อไฟในช่วงฤดูแล้งและทำให้เกิดไฟป่า CSE และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ คณะผลิตกรรมการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการการเพิ่มมูลค่าใบตองตึงเพื่อลดเชื้อไฟ สลายฝุ่นควันและทดแทนพลาสติกขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนา “เพิ่มมูลค่าใบตองตึง ลดเชื้อไฟ สลายฝุ่นควัน”

ด้านบัวขาว ก็เชิญชวนให้เลือกลอยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งกระทงที่ทำจากใบตองตึงนี้ จะเป็นการช่วยเปลี่ยนเชื้อไฟ เป็นรายได้ให้แก่คนในชุมชน และช่วยลดขยะจากพลาสติกได้ 

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากการนำใบไม้และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาขึ้นรูปภาชนะ จึงได้สนับสนุนและจัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ และยังเป็นการช่วยกันดูแลพื้นที่ในชุมชนเพื่อการไม่ให้เกิดไฟป่าอีกด้วย ดร.สุดเขต กล่าวทิ้งท้าย

กรมเจ้าท่าเปิดตัวโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน

  

จากความสำเร็จของโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ที่ได้ปรับโฉมชายหาดพัทยา ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่ช่วยฟื้นฟู และกระตุ้นการท่องเที่ยวชายหาดพัทยา ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จึงได้เดินหน้า โครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน เป็นแห่งที่ 2 เพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี  

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า  จากรายงานการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ปี พ.ศ. 2552 พบว่าปัจจุบันชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเช่นเดียวกับชายหาดพัทยา ส่งผลให้ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี จนเหลือพื้นที่ทรายชายหาดจอมเทียนไม่เพียงพอ ที่จะรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนบนชายหาดได้ ในบางช่วงของชายหาดเมื่อน้ำขึ้น ชายหาดจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลทั้งหมดไม่หลงเหลือชายหาดเลย ซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีแนวโน้มลดลงไปในอนาคต หากปล่อยทิ้งไว้ ภายในไม่ถึง 10 ปี ชายหาดจอมเทียนจะไม่มีทรายเหลืออยู่เลย  ดังนั้นจึงได้มีนโยบายเร่งด่วน เพื่อทำการเสริมทรายเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายหาดเช่นเดียวกับที่ชายหาดพัทยา โดยจะเริ่มงานในระยะที่ 1 ก่อน เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า 3.5 กิโลเมตร 

“จากความสำเร็จของโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท ที่ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมากทั้งจากนักท่องเที่ยว ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และดูแลรักษาร่องน้ำและชายหาดของประเทศ ได้จัดหางบประมาณเพื่อทำการเสริมทรายในพื้นที่ ชายหาดจอมเทียน เป็นโครงการที่ 2 เพื่อเป็นการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการท่องเที่ยวและการสร้างการเติบโตบนคุณภาพ ให้มีการเจริญเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างมาตรการควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป” นายวิทยา กล่าว   

โครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 586,047,000 บาท กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบทำการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ในครั้งนี้ โดยเริ่มการทำงานตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2563 จนถึง 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 900 วัน สำหรับแหล่งทรายที่จะใช้เสริมชายหาดจอมเทียน นำมาจากบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากชายหาดจอมเทียนออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร และเป็นแหล่งเดียวกับที่ใช้เสริมทรายชายหาดพัทยามาแล้ว  โดยคาดว่าในครั้งนี้จะใช้ทรายรวมทั้งสิ้นราว 6.4 แสนลบ.ม. สำหรับขอบเขตของงานแบ่งเป็น 8 ประเภทด้วยกัน คือ 

 1. งานเสริมทรายชายหาด ความยาว 3,575 เมตร

2. งานก่อสร้างแหล่งสำรองทรายชายหาด ความยาว 225 เมตร 

3. งานติดตั้งระบบป้องกันชายหาดแห้งด้วยวิธีระบายน้ำลงสู่ชั้นนำใต้ดิน 2,105 เมตร

4. งานติดตั้งท่อระบายน้ำเชื่อมต่อท่อระบายน้ำเดิม ความยาว 51 เมตร

5. งานก่อสร้างบันไดคอนกรีต ขึ้น-ลง ชายหาด 67 จุด

6. งานติดตั้งป้ายประติมากรรมและป้ายมาตรฐานรวม 2 จุด

7. งานมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

8. งานประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชน

หลังจากการฟื้นฟูบูรณะชายหาดจอมเทียนเสร็จสิ้นแล้ว ชายหาดจะมีขนาดความกว้างเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร มีความสวยงาม และใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้มากกว่าเดิม ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปในการเสริมชายหาดจอมเทียนในครั้งนี้   จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบประมาณ 3.20 บาท 

หากประชาชนท่านใดต้องการข่าวสารโครงการ มีข้อสงสัย ปัญหา หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์โครงการฯ บริเวณหน้าชายหาดจอมเทียน 14 โทรศัพท์ 062-490-9099 หรือติดต่อผ่านสายด่วนกรมเจ้าท่า 1199  และ www.jomtienbeachnourishment.com 

สมาคมช่างภาพข่าวสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ประชุมวิสามัญประจำเดือน นายกฯกล่าวห่วงใยภาพลักษณ์ของสื่อมวลชน นำเสนอข่าว

 


สมาคมช่างภาพข่าวสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยนายสุรชัย วิเศษโสภา นายกสมาคมฯ จัดประชุมวิสามัญประจำเดือน วาระสำคัญ มีสรุปรายรับโฆษณาจากหนังสือของสมาคมฯ, เตรียมงานวันลอยกระทงที่จะมาถึงจัดที่ห้องอาหารยกยอ-มารีน่า พร้อมกิจกรรมสังสรรค์ปีใหม่ของสมาคมฯ และคำกล่าว ของนายกสมาคมฯ ห่วงใยในท่าทีและภาพลักษณ์ของสื่อมวลชน ที่นำเสนอข่าวเหตุการณ์บ้านเมือง ณ ปัจจุบันด้วย



ส่วนกิจกรรมสังสรรค์ปีใหม่ของสมาคมช่างภาพข่าวสื่อมวลชนฯ ศกนี้ มีนายมนูญ พุฒทอง ที่ปรึกษาสมาคมฯ เสนอให้สมาชิกร่วมกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ พร้อมกับ ชมรมช่างภาพการเมือง,ชมรมช่างภาพอาวุโสด้วย  ณ ห้องอาหารยกยอ-มารีน่า

ปศุสัตว์ย้ำเนื้อสัตว์ปลอดภัย แนะซื้อจากแหล่งผลิตมาตรฐาน สังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK"

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกระแสความสนใจด้านการบริโภคอาหารปลอดภัยของผู้บริโภคในปัจจุบัน มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์มีการพัฒนากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่จนถึงการจัดจำหน่าย ให้มีมาตรฐานและร่วมกันยกระดับความปลอดภัยในอาหารสู่ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว และไข่ไก่ที่ผลิตภายใต้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์มีความปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและมาตรฐานการจัดจำหน่าย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่า มาจากการเลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงมาตรฐาน ผ่านโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีใบอนุญาต และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากพนักงานตรวจโรคสัตว์แล้ว

“ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกสินค้าเนื้อสัตว์ จากสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ภายใต้สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งมีการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร่วมโครงการนี้ทั้งในตลาดสด ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ร้านค้าโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ถือเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ จนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ดีว่า เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ

ส่วนเนื้อไก่ที่สดต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น และสังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่ 

ที่สำคัญผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ได้เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างแน่นอน

ผู้ถือหุ้นรายย่อยอนุมัติเข้าซื้อธุรกิจสุกรในจีน 99% เสริมซีพีเอฟเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจสุกรชั้นนำในโลก

 


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้นรายย่อย 99% ให้บริษัทย่อยเข้าซื้อธุรกิจสุกรในประเทศจีน จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมสุกรของโลก ผู้บริหารมั่นใจเป็นประโยชน์กับบริษัทและเสริมการเติบโตในระยะยาว 

นายประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการสุกรในประเทศจีนครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดสุกรในประเทศจีนที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกเนื่องจากจำนวนประชากรที่มากและความนิยมในการบริโภคสุกรในประเทศสูง และมีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็ว  ประกอบกับการเกิดขึ้นของโรค African Swine Flu หรือ ASF ในประเทศจีนใน 3 ปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การบริหารการเลี้ยงแบบรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี  การมีลูกสุกรที่แข็งแรงและระบบการเลี้ยงที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพตามมาตรฐานจึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งซีพีเอฟได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด  

ปัจจุบัน บริษัทมีธุรกิจสุกรใน 7 ประเทศ ทั้งประเทศไทย ประเทศเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เริ่มลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ และมีการร่วมลงทุนในประเทศรัสเซีย และล่าสุดในประเทศแคนาดา การที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอนุมัติให้ซีพีเอฟเข้าไปในธุรกิจสุกรครบวงจรในประเทศจีน ทำให้บริษัทก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจสุกรของโลก   

เนื่องจากปริมาณสุกรที่เลี้ยงในประเทศจีนเกินกว่าครึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเมื่อมีการระบาดของโรค ASF ทำให้เกิดความเสียหายสูง และยังมีโอกาสจะติดโรคอีกครั้งเมื่อกลับมาเลี้ยงใหม่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง การเลี้ยงสุกรจะเป็นระบบสร้างคุณค่าร่วม ซีพีเอฟวางแผนการขยายธุรกิจด้วยการส่งเสริมเกษตรกรในการเลี้ยงด้วยมาตรฐานการจัดการที่ทันสมัยปลอดภัยจากโรค และต่อยอดด้วยการพัฒนาธุรกิจแปรรูปสุกรเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้บริษัทย่อยของซีพีเอฟเข้าลงทุนในธุรกิจสุกรครั้งนี้ จะช่วยเสริมการเติบโตของผลการดำเนินงานในอนาคต  

นายประสิทธิ์กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ยังคงอยู่ว่า เป็นสิ่งท้าทายสำหรับธุรกิจจากความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคน่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟได้ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและในการผลิต บริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับในหลายประเทศที่ลงทุนนั้นยังมีการขยายพื้นที่การตลาด จึงคาดว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะยังคงดีขึ้นต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีนี้

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...