วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

 

 กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเชีย เติมความคึกคักให้กับตลาดปลาสวยงาม มั่นใจได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรักปลาสวยงามคับคั่ง

นายวัฒนา ริ้วทอง นักวิชาการประมง (ชำนาญการพิเศษ) หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ด กรมประมง เผยว่า “งานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 จัดขึ้นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่ได้รับเลือกให้จัดงานระดับนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทุกด้านที่พร้อมจัดงาน และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานในระดับนานาชาติ ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของการพัฒนาประเทศที่มุ่งนำเสนอเชิงวัฒนธรรมด้านต่างๆ ให้เป็นซอฟท์ พาวเวอร์ สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกต่อไป ในการจัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 จะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงความพร้อมในด้านต่างๆ ให้นานาชาติที่เข้าร่วมได้เห็นถึงกระแสความนิยมการเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม การแข่งขันที่มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ปลาคาร์พและขยายเครือข่าย รวมถึงการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว”

นายกิตติพงษ์ อาจสมรรถ ประธานสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี (ZNA TKKG Thailand Koi Keeper Group) กล่าวถึงการจัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ว่า “งานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 สมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี ได้ร่วมมือกับสมาคมการค้าส่งเสริมเครือข่ายปลาคาร์พ-ไทย (TNPA) จัดขึ้น ซึ่งเป็นงานประกวดปลาคาร์พที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากการประกวดออล เจแปน ( All Japan) ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมสุดยอดปลาคาร์พสวยที่หาชมได้ยากมาไว้ในงาน จากความสำเร็จของการจัดงานเมื่อ 9 ปีที่แล้วที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ทำให้เห็นถึงกระแสความสนใจและกำลังซื้อของคนเลี้ยงปลาคาร์พ ทั้งการเลี้ยงเพื่องานอดิเรกและเชิงธุรกิจ ถึงแม้จะมีช่วงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจแต่ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตลาดสัตว์น้ำสวยงามโดยเฉพาะปลาคาร์พ กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เริ่มมีกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาสนใจเลี้ยงกันมากขึ้น การที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับนานาชาติอีกครั้ง ทางสมาคมฯ จึงมั่นใจว่าการจัดงานครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีของกลุ่มคนเลี้ยงเดิมและกลุ่มคนเลี้ยงหน้าใหม่ ”

“เอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 เป็นการประกวดปลาคาร์พ ประเภท European Style จำนวน 16 สายพันธุ์จากทั่วเอเชียที่ร่วมส่งปลาเข้าประกวด ถือเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม รวมถึงการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพราะจะมีผู้ชมงานจากทั่วเอเชียและในประเทศ เดินทางมาร่วมงานอย่างคึกคัก สำหรับผู้สนใจเข้าส่งปลาเข้าประกวด สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1-10 ธันวาคม 2566 เวลา 24.00 น. ผ่านช่องทาง https://web.facebook.com/14asiacupkoishow เพื่อชิงถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติของงานที่ออกแบบเป็นรูปยักษ์ ที่สื่อที่ความเป็นไทย ความแข็งแรงและยิ่งใหญ่ของการจัดงาน”

“เอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 8.00-19.00 น. ณ The Government Complex ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (แจ้งวัฒนะ) ชมปลาคาร์พสวยงาม หายาก โดยไม่ต้องเดินทางต่างประเทศ หากพลาดงานนี้ต้องรออีก 7 ปี ที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ งานนี้จึงไม่อยากให้คนรักสัตว์น้ำสวยงามและปลาคาร์พพลาดเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ผู้สนใจเริ่มต้นเลี้ยง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การเลี้ยงปลาคาร์พ การดูแลและการเลี้ยงในเชิงธุรกิจจากฟาร์มปลาทั่วประเทศ และสามารถเลือกซื้อปลาคาร์พและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในราคาพิเศษอีกด้วย เรียกว่ามางานเดียวครบทุกเรื่องปลาคาร์พอย่างแน่นอน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/14asiacupkoishow” นายกิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566

วช. ยกย่อง “รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล” ผู้พัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทย เป็นนักวิจัยดีเด่นฯ ปี 66

 


วันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 3” เปิดตัว รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช.8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล แห่งสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้พัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ รวมถึงคลังข้อมูลในภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในการทำงานวิจัย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้ วช. 

จึงจัดให้มีการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติ ให้นักวิจัยไทยมืออาชีพที่ได้อุทิศตนให้กับการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่ามีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการสื่อสารของมนุษย์ ดังนั้นในการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผล ผู้ใช้ภาษาจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้ภาษาได้อย่างถูก การวิเคราะห์โครงสร้างของประโยค คอมพิวเตอร์ กับ ภาษา ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์ การสร้าง กฎ หรือ โมเดลจำลองรูปแบบความรู้นั้น นำไปสู่การพัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ คลังข้อมูลภาษา

ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการเพราะเป็นแหล่งข้อมูลกลางที่นักวิจัยและนักศึกษาสามารถใช้สืบค้นหาข้อมูลที่ต้องการในงานวิจัยของตนเองได้ เครื่องมือหรือโปรแกรมที่เผยแพร่ มีบริษัทเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนักพัฒนาระบบจำนวนหนึ่งได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเครื่องมือเหล่านี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งผู้วิจัยได้ทำหน้าที่ออกแบบคลังข้อมูลและพัฒนาโปรแกรม Thai Language  Toolkit เครื่องมือที่ใช้ในการตัดคำ กำกับ ข้อมูลตัวบทและจัดเก็บคลังข้อมูล นอกจากคลังข้อมูลภาษาไทยแล้ว ผู้วิจัยยังได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในการพัฒนาและสร้างคลังข้อมูลเทียบบทภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย เพื่อให้นักวิจัย นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจสามารถสืบค้น เข้าถึงข้อมูล และตัวอย่างการแปลได้ ซึ่งคลังข้อมูลดังกล่าวได้เปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะ อาทิ โปรแกรมถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน โปรแกรมตัดคำภาษาไทย โปรแกรมถ่ายเสียงภาษาไทยเป็นสัทอักษร (Thai to IPA) โปรแกรมกำกับหมวดคำ โปรแกรมตัดหน่วยปริจเฉทพื้นฐาน หรือโปรแกรมเว็กเตอร์คำไทย (Thai word2vec) ปัจจุบัน โปรแกรมต่าง ๆ ที่พัฒนาได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของ Python Package TLTK  




(Thai Language Toolkit) ที่คนทั่วไปสามารถติดตั้งและเลือกใช้งานโมดูลที่ต้องการได้และยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมโมดูลการประมวลผลภาษาไทยต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาปรัชญา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566

กองทุนหมู่บ้านฯ ฟังทางนี้ ! “อนุชา” ชี้ช่องทางทำเงิน สร้างอาชีพ ให้พี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านโครงการโคล้านครอบครัว

  


นาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชวนพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ “โคล้านครอบครัว” ชี้เป็นหนทางช่วยประชาชนหลุดพ้นความยากจน และจะเป็นจุดพลิกผันให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว เน้นย้ำชัดว่าที่ผ่านมาได้มีการทดลอง ศึกษา และค้นคว้า ลงมือทำจริง และมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ โคล้านครอบครัว ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ที่ ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบดำเนินงานโครงการในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท  จำนวน 100,000 ครัวเรือน (เลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว)



เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมวิโรจน์ อิ่มพิทักษ์ อาคารศูนย์เรียนรวม 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้จัดงานแถลงข่าวโครงการ “โคล้านครอบครัว” เพื่อประกาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่พร้อมเดินหน้าทำให้โครงการสู่ความสำเร็จให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนมั่นคง โดยมีนักวิชาการมาร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ชี้ช่องรวย ด้วยโครงการโคล้านครอบครัว” โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค ตั้งแต่ต้น-กลาง-ปลายน้ำ อาทิ รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ธนพล หนองบัว รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิจัย เเละบริการวิชาการ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งต่อความรู้เรื่องกระบวนการเลี้ยงโคอย่างมีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงเพื่อให้สามารถทำกำไรสูงสุด พร้อมกับรับฟังประสบการณ์จากประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จังหวัดนครพนม นายธนูศร ปัญญาสาร และ คุณประสาท บุญญานันท์ เจ้าของบังอรฟาร์ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจวากิวโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้แทนฝั่งภาคการค้า ที่มาร่วมชี้ให้เห็นช่องทางตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้



"สมาชิกกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ผมได้เสนอแนวคิด "เงินบาทแรกของแผ่นดิน" ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เกิดจากน้ำ จากดินที่อยู่ให้ภาคการเกษตร ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรรม จากการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเป็นระยะเวลานาน พบว่าการทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรทวีคูณ ผมจึงนำแนวคิดนี้มาทำโครงการช่วยเหลือประชาชน โดยผ่านการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ผมค้นพบว่าการเลี้ยงวัวเลี้ยงไม่ยาก วัวกินแต่หญ้า เริ่มแรกสมาชิกจะได้รับการสนับสนุนวัว 2 ตัว เมื่อผ่านระยะเวลา 1 ปี จะได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 4 ตัว และปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ จากการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น 50,000 บาทแรก ผมมั่นใจว่าไม่เกิน 3 ปี จะสามารถคืนเงินทุนได้ทั้งหมด และปีต่อๆ ไปถือเป็นกำไรให้พี่น้องประชาชน ภายใน 6 ปี ประชาชนจะสามารถจับเงินล้านได้ไม่ยาก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นรายได้ที่ประชาชนจะได้รับอย่างยั่งยืน และเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยได้ในอนาคต" นายอนุชากล่าว



ในส่วนของเงื่อนไขสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ นายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากองทุนหมู่บ้านและเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สทบ. ได้กล่าวว่า ทางกองทุนหมู่บ้านเรายึดหลักการให้พี่น้องกองทุนบริหารจัดการกองทุนได้ภูมิปัญญาของด้วยตนเอง ต้องเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีความพร้อมทุกด้าน กองทุนมีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการ สมาชิกต้องมีความประพฤติดี      มีวินัยด้านการเงิน และมีความพร้อม มีความสนใจจะสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้จริง ก็สามารถ   เข้าร่วมโครงการได้ตามขั้นตอนผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ โดยสมาชิกสามารถเลือกสายพันธุ์โคที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือความพร้อมของตน ได้ด้วยตนเอง ทางหน่วยงาน สทบ. และกรรมการกองทุน พร้อมสนับสนุนให้ข้อมูลในการคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็น ชนิดสายพันธุ์ น้ำหนัก ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่



กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โคล้านครอบครัว สามารถเตรียมความพร้อมและสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขาเขต ทั้ง 13 สาขาเขต ในทุกภูมิภาค และศูนย์ประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประจำจังหวัด (ทุกจังหวัด)



วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เกษตรฯ จับมือไบเออร์ไทย เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร เสริมประสิทธิภาพการทำงานด้านเกษตร ก้าวสู่การเกษตรยุคใหม่

 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ณ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรีโดยมีนายมิสเตอร์เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายมิสเตอร์ศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC)พร้อมด้วยตัวแทนตัวแทนจากหน่วยหน่วยงานราชการกระทรวงเกษตร และตัวแทนเกษตรกร  ในพื้นที่ ให้การตอนรับ 

ทั้งนี้นายประภัตร กล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดโอกาสในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทย เพื่อเติมเต็มความรู้เกษตรกรให้ตามทันเทคโนโลยี และนำมาใช้ได้อย่างเข้าใจ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดำเนินงานโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย (แห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาครัฐในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในการทำเกษตร แผนใหม่ โดยใช้นวัตรกรรม เช่น โดรน สถานีอากาศอัจฉริยะ Digital application สามารถเติมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชอื่นๆจำนวนมาก นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความมั่นคงของผลผลิต ที่ดีในอนาคต 

กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะปรับปรุงการผลิตทางการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสนับสนุนให้เกษตรกรยุคใหม่รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงลดการใช้แรงงานคน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังมี 5 ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) ยุทธศาสตร์ 3'S (Safety/Security/Sustainability) 4) ยุทธศาสตร์บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการทุกภาคส่วน และ 5) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตรพระราชารมช.เกษตรฯ กล่าว 

นายประภัตร บอกด้วยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 149 ล้านไร่ อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่สำคัญของประเทศไทย แต่ปัญหาของเกษตรกรไทย คือ มีต้นทุนการผลิตที่สูง ดังนั้นการลดต้นทุนการผลิตจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากฝากให้ทางบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด คิดค้น พัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ด้วยความจริงใจและจริงจัง เพื่อผลิตยาและปุ๋ยที่ปลอดภัยต่อการทำการเกษตร เกษตรกร และผู้บริโภค ที่สำคัญให้เกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆอย่างทั่วถึง 

ด้านนายเกออร์ก ชมิดท์ (H.E.Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธสาธาณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเยอรมนีพร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการการศึกษาวิจัยในอนาคตให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทยต่อไปด้วย 

นายศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC) กล่าวว่า ไบเออร์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยเกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ยังสนับสนุนให้การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการด้วย 

สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร จะเข้ามามีส่วนในการดูแลความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ การพ่นสารเคมีอย่างถูกวิธีและปลอดภัย นำมาสู่ความปลอดภัยของพืชอาหาร ศูนย์ฯ ยังมีการแนะนำนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Phytobac Technology) ที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 

ขณะที่นางสาว จินอา ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ได้รับการอนุมัติในการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยบริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพด และผักชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ข้าวโพด และพืชผัก สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทย ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และเทคโนโลยีโดรน เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รับมือกับปัญหาด้านการเกษตรทั้งการระบาดของโรคพืช ศัตรูพืช และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสนับสนุนในการยกระดับพืชผลทางการเกษตรสู่ตลาดที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มขึ้น ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น และเป็นศูนย์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

นายวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา พม่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร สุพรรณบุรี ถือเป็นศูนย์กลางวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของไบเออร์ในประเทศไทย โดยเรามุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้านโรคและแมลงศัตรูพืชในนาข้าว ข้าวโพด และผักใบ เป้าหมายเพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ มีความปลอดภัยทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค 

โดยบริษัทฯจะให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรถึงวิธีการทำเกษตรปลอดภัย ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี ในเวลาที่เหมาะสม และปริมาณที่ถูกต้อง รวมถึงการให้ตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อการทำเกษตรอย่างมาก และมีผลต่อโรคและศัตรูพืช โดยจะกระจายความรู้ไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ รู้เท่าทัน ให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและส่งออกได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ 

บริษัทฯมีความจริงจังในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย โดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ต้านโรคพืชและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัดส่วน 30% ภายใน 10 ปีเพื่อให้สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค



วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565

กลุ่มสำนักงานเกษตรจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัดจัดงานกีฬาลำพูน กระชับความสำพันธ์ หวังสร้างความร่วมมือการทำงานร่วมกันในพื้นที่ภาคเหนือ


นายวิชัย ตู้แก้ว เกษตรจังหวัดลำพูน
เป็นประธานการจัดงาน จัดการแข่งขันกีฬา DOAE สัมพันธ์ครั้งที่ 4/2565 “ตี้หละปูน”  ณ สนามหญ้าเทียม The Wolf Lamphum จังหวัดลำพูน โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ 


ทั้งนี้ นายวิชัย ตู้แก้ว เกษตรจังหวัดลำพูน เป็นประธานการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีในการขับเคลื่อนงาน สร้างความรัก ความสามัคคี ของคนรุ่นใหม่ให้รู้จักกันในการทำงานให้มีศักยภาพมากขึ้นของคนในองค์กรทั้งหมด 17 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี และเป็นการสร้างสุขภาพและพลานามัยของคนในองค์กรให้มีสุขภาพที่แข็งแรง 




โดยในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน โดยแบ่งกีฬาออกเป็น 2 ประเภทคือ ฟุตบอล และแชร์บอล ซึ่งมีผู้ร่วมการแข่งขัน 11 จังหวัด 8 ทีม สำหรับผลการแข่งขันฟุตบอล ผู้ที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 เป็นทีมจังหวัดพิษณุโลก และ สำหรับผลการแข่งขันแชร์บอล ผู้ที่ได้รับรางวัลอับดับ 1 ทีมจังหวัดน่าน  และในการจัดงานครั้งที่ 5/2566 ได้ส่งมอบให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งต่อไป 




"อยากฝากถึงเขตต่างๆ อยากให้มีการสนับสนุนในเรื่องของการออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง และมีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ และการจัดการแข่งขันกีฬาจะเป็นการสร้างความรัก สามัคคี รู้แพ้รู้ชนะ และการให้อภัย นอกจากนั้นยังเป็นการพบปะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ทำงานร่วมกันซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานได้ดีร่วมกันต่อไปด้วย" นายวิชัย กล่าว 





วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สภาเกษตรกรแห่งชาติลงนามความร่วมมือสร้างความต่างสินค้า ลั่น! “ไม่สีขายจนกว่าจะมีออเดอร์” ข้าวที่ขายต้องสดและใหม่เท่านั้น!!

 


นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการประมูลข้าวกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายรัตนะ  สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับ บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด โดย นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการ ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด ด้วยเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายคืออยากเห็นการปรับตัวของเกษตรกรและบุคลากรด้านการเกษตรมีความรู้เรื่องข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรือตลาดออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้าการลงนามครั้งนี้นั้นได้มีการทดลองปฏิบัติการร่วมกันระยะหนึ่งกับกลุ่มชาวนาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และนครศรีธรรมราชมาแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี และอยากขยายผลสำเร็จออกไปจึงลงนามความร่วมมือกันเพื่อทำให้ตลาดสินค้าข้าวออนไลน์ได้กระจายออกไปให้กว้างขวางเป็นที่ประจักษ์ ด้วยข้อตกลงตรงกันว่า “ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกจะยังไม่สีจนกว่าจะมีออเดอร์เข้ามา เพราะเราอยากเห็นผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่สีใหม่และสด” ไม่สีเก็บ การันตีสินค้าไม่มีมอดหรือแมลงปนเปื้อน สินค้าข้าวจะเป็นสินค้านำร่องแล้วจะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพราะอยากจะเห็นการปรับตัวของเกษตรกรไทยให้ใช้งานจากระบบดิจิทัลได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการประกอบอาชีพของตนเองรวมถึงการตลาดด้วย ในข้อตกลงจะมีการพัฒนาบุคลากรของสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดเพื่อนำความรู้ไปกระจายถ่ายทอดต่อเกษตรกร เมื่อเกษตรกรมีความรู้และปฏิบัติการได้แล้วก็จะสามารถกระจายถ่ายทอดต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรข้างเคียงให้ได้รู้และเข้าใจด้วยเช่นกัน 


     เราต่างก็ฝันว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเกิดการปรับตัวในเรื่องของการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ภาคการเกษตรให้มากขึ้น พี่น้องเกษตรกรจะได้มีความรู้เรื่องดิจิทัลให้มากขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ลูกหลานพี่น้องเกษตรกรก็กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เยอะ จะได้ถือโอกาสนี้ปลูกฝังให้มีความร่วมมือกันในการพัฒนาเรื่องระบบดิจิทัลในการผลิต ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร Big Data เรื่องการจัดการ การผลิต การตลาด  ถือเป็นเรื่องดีเป็นก้าวแรกที่เราได้เริ่มขยับขยาย  ที่จริงนั้นสินค้าเกษตรนั้นขายออนไลน์มามากแล้วแต่ส่วนใหญ่ก็จะขายผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ แต่ครั้งนี้เรามีแอปพลิเคชันของเราเอง ความคล่องตัวก็จะมากขึ้น ที่สำคัญก็คือเราขายสินค้าเกษตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีคอมมิชชั่น เพราะทั้งหมดจะโอนเงินผ่านศูนย์กลางแล้วกระจายไปถึงพี่น้องชาวนาเลย  นอกจากนี้ชาวนาทุกคนก็พร้อมใจกันนำเงินจากการขายส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนเล็กๆเพื่อจะเอามาบริหารกันเอง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นรวมทั้งมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆเพราะเชื่อว่าทุกคนพยายามดิ้นรนที่จะพึ่งตนเองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้อยู่รอดในทุกสภาวการณ์ ” นายประพัฒน์  กล่าว 


 ขณะที่ นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด (SE ปากพนัง) กล่าวเสริมว่า บ.SE ปากพนัง วิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ด้วยเจตนารมณ์และแนวทางที่ชัดเจนว่าเราทำงานเพื่อสังคม 100% จะไม่มีการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น กำไรจากการประกอบการจะนำไปจัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และกองทุนพัฒนาสวัสดิการนักจัดการตลาดชุมชน พัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนาสร้างระบบสวัสดิการให้กับทั้งฝ่ายคนผลิตและฝ่ายผู้บริโภค ระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนา คือ การสร้างและจัดความสัมพันธ์ใหม่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชาวนา ผู้บริโภค และภาคีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ข้าวให้มีความเป็นธรรม เพื่อให้ชาวนา ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบระบบตลาดแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ชาวนาซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนทรัพยากรปัจจัยสี่ ปัจจัยการผลิตระหว่างกัน รวมทั้งผู้บริโภคที่ประกอบอาชีพอื่นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการตลาดแบบใหม่  ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจข้าวและชาวนาจะได้ตระหนักถึงการ “อยู่ได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา”    


โดยระบบนิเวศนี้จะเริ่มจาก ครัวเรือน องค์กร กลุ่มชาวนา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรระดับนโยบาย เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่วนราชการและภาคเอกชนทุกข้อต่อในห่วงโซ่เศรษฐกิจข้าว ทุกระดับจากแปลงนาจนถึงประชาคมโลก ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่ SE ปากพนัง พัฒนาขึ้นในนามของคนไทยดอทคอม หรือ www.konnthai.com  เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ทั้งการจัดการระบบงานทั้งหน้า-หลังร้าน ขายผ่านระบบแอปพลิเคชัน ANT ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้ระบบนิเวศเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้น โดยเกษตรกรจำเป็นต้องสร้างระบบข้อมูลครัวเรือน การเพาะปลูก การตลาดซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกได้เองในแพลตฟอร์มและอยู่ภายใต้กฎหมาย PDPA และเป็นข้อมูลเพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ค้าส่ง โรงสี โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น สามารถรู้ข้อมูลรายครัวเรือนล่วงหน้าเพื่อวางแผนการจัดการรวมทั้งความชัดเจนเรื่องการตลาดของข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เน้นเป็นข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ รวมทั้งคุณภาพทางวิทยาศาสตร์จะมีรายงานเป็นรายแปลงให้ ซึ่งข้อนี้ผู้ประกอบการจะไม่เคยไม่รับข้อมูลมาก่อน เช่น ข้าวพันธุ์ปน สิ่งเจือปน ความชื้น การวิเคราะห์-วิจัย ก่อน-หลังเก็บเกี่ยว เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาประมูล ตกลงราคา จับคู่ซื้อขาย  โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าแพลตฟอร์มได้ฟรี แต่จะมีเงื่อนไขเรื่องค่าธรรมเนียมในกรณีเมื่อตกลงซื้อขายในราคาสินค้าล็อตใหญ่และจะโอนคืนกลับให้เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวง และรับประกันคืนเงินหากสินค้ามีปัญหา



SUN เปิดกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน ดันไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) สู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตร

 


บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” มุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) สู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร เตรียมจัดกิจกรรมเปิดไร่ตะวันหวาน (Open house) ในวันที่ 9 กันยายน 2565 


นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้ปริมาณและคุณภาพตามคาดหวัง อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพมากขึ้น ในปี 2564 บริษัทจึงได้ริเริ่มโครงการไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บนพื้นที่กว่า 1,074 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิต และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน สนับสนุนความรู้และการเข้าถึงทรัพยากรของเกษตรกร ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะสู่การเกษตรแม่นยำ และยกระดับศักยภาพของภาคการเกษตรของไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล 


ปัจจุบัน ไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ เช่น Drone เพื่อการเกษตร, เทคโนโลยี loT Sensor, รถปลูกและรถเก็บเกี่ยว และ Application ทางการเกษตร เป็นต้น และเริ่มพัฒนาการปลูกวัตถุดิบ ข้าวโพดหวาน ถั่วลายเสือ ผักเกษตรปลอดภัย และพืชมูลค่าสูงอื่น ๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ตอบโจทย์ในการแปรรูปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งหวังพัฒนาไร่ตะวันหวาน ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางการเกษตร และอบรมบ่มเพาะด้านการเกษตร ที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร และมุ่งสู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 กันยายน 2565 บริษัทได้เตรียมจัดกิจกรรมเปิดไร่ตะวันหวาน (Open house) ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงพระพิรุณ การประกวดข้าวโพดหวาน สาธิตการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และให้ความรู้ด้านการปลูกข้าวโพดหวานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมมากกว่า 300 ราย นอกจากนี้ ยังมีองค์กรพันธมิตร ร่วมนำข้อมูลองค์กรจัดแสดงและให้ความรู้ในงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหาร และยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้เติบโตต่อไป

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...