วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565

เครือข่ายสหกรณ์โคนมกำแพงเพชรทำ MOU ซื้อมันเส้น โดยตรงจากสหกรณ์ผู้ปลูกมันสำปะหลังและผู้ประกอบการส่งออกหวังแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์หลังราคาขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง


 

นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายสุวิทย์ สันตติวงศ์ไชย ปลัดจังหวัดกำแพงเพชรเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อ – ขายมันเส้นสะอาดระหว่างเครือข่ายสหกรณ์โคนมกับสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังในจังหวัดกำแพงเพชรและผู้ประกอบการส่งออก 




สำหรับสหกรณ์เครือข่ายโคนมเป็นสหกรณ์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ และลำพูนรวม 8 แห่งได้แก่ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กมิตรภาพ จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กพัฒนานิคม จำกัด สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กสวนมะเดื่อ จำกัด สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จำกัด สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด และสหกรณ์โคนมเทพสถิต จำกัด ส่วนสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังเป็นสหกรณ์ในจังหวัดกำแพงเพชรและผู้ประกอบการส่งออกมันสำปะหลังได้แก่ บริษัท ทาปิโอกา คอร์เปอเรชั่น จำกัด 




ทั้งนี้ตาม MOU สหกรณ์เครือข่ายโคนมจะรับซื้อมันเส้นสะอาด 17,040 ตัน มูลค่า 136.795 ล้านบาทไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งปัจจุบันเกิดภาวะวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและราคาแพง ดังนั้นการซื้อ-ขายโดยตรงจากสหกรณ์ผู้ผลิตมันและรวบรวมมันสำปะหลัง รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกจะทำให้เครือข่ายสหกรณ์โคนมจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ตามต้องการอย่างเนื่องและราคาไม่ผันผวน ส่วนสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมมันสำปะหลังมีโอกาสขยายตลาด โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากธ.ก.ส. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์





วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

มาเลเซียประกาศยกเลิกการแบนนำเข้าโค-กระบือจากไทย แล้วหลังไทยมีมาตรดารควบคุมโรคเข้ม มีผลส่งออกตามเงื่อนไขได้ทันที

 


นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าล่าสุด กรมสัตวแพทย์บริการ (The Veterinary Services Department (DVS)) ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแจ้งยกเลิกการแบนนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทย ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 มีผลทันที โดยประเทศไทยสามารถส่งออกโค-กระบือ (ทั้งโค-กระบือขุนและพ่อแม่พันธุ์) ไปประเทศมาเลเซียตามเงื่อนไขและขั้นตอนการนำเข้าได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องต่อด้านปศุสัตว์และอุตสาหกรรมผู้เลี้ยงโค-กระบือ โดยการประกาศของทางมาเลเซียเนื่องจากเค้าเชื่อมั่นในระบบการควบคุมและป้องกันโรคของประเทศไทย


เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปีสกินในประเทศไทย เพื่อเป็นการป้องกันโรคและลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดต่ออุตสาหกรรมโค-กระบือของประเทศมาเลเซีย มาเลเซียจึงประกาศระงับการนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 นั้น ซึ่งล่าสุดมีข่าวดีมาแจ้งได้รับรายงานใน วันที่ 15 มีนาคม 2565 ว่ากรมสัตวแพทย์บริการ (DVS) ประเทศมาเลเซีย ได้ออกประกาศรายงานและมีหนังสือแจ้งกรมปศุสัตว์มาอย่างเป็นทางการแล้ว อนุญาตให้นำเข้าโค-กระบือ (ทั้งโค-กระบือขุนและพ่อแม่พันธุ์) จากประเทศไทยได้ โดยมีผลทันที เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินในโค-กระบือของประเทศไทยว่ามีมาตรการในการดำเนินการที่ครอบคลุมมีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดควบคุมและป้องกันการเกิดโรคได้ มีมาตรการในการตรวจสอบกำกับและการควบคุมการเคลื่อนย้ายที่ชัดเจน 


อย่างไรก็ตาม DVS และกรมปศุสัตว์ ประเทศไทย ได้ทบทวนจัดทำและบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรคลัมปีสกินและขั้นตอนในการนำเข้า ซึ่งจะมีการปรับข้อกำหนดมาตรการและขั้นตอนการนำเข้าบางส่วนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบในการเกิดโรคจากการเคลื่อนย้ายโค-กระบือเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ซึ่งกรมปศุสัตว์ต้องมีการขึ้นทะเบียนทั้งผู้นำเข้า พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องกำกับดูแลให้ทั้งผู้นำเข้า พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคลัมปีสกิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนทั้งหมดที่เกี่ยวกับการนำเข้าโค-กระบือสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้สัตว์ที่เป็นโรคเข้าไปสู่ประเทศมาเลเซียได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกินเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ด้วย โดยจากข้อมูลกองสารวัตรและกักกันพบว่าตั้งแต่ปี 2561 - มิถุนายน 2564 มีปริมาณโค-กระบือที่นำเข้าไปมาเลเซียประมาณ 68,523 ตัว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการนำเข้าโค-กระบือจากประเทศไทยมากขึ้นในช่วงเทศกาลฮารีรายอ ฮัจจิ (Hari Raya Haji) หรือเทศกาลแห่งการบูชายัญและขอให้เกษตรกรและผู้เลี้ยงโค-กระบือทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรค ต่อไปเพื่อป้องการการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้


ปศุสัตว์ยังเดินหน้าตรวจห้องเย็นรอบใหม่ต่อเนื่อง หวั่นกักตุนสินค้าปศุสัตว์สร้างปัญหากระทบค่อผู้บริโภค

 


นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยล่าสุดได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 


โดยล่าสุดรายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 16 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี มุกดาหาร ขอนแก่น นครปฐม กาญจนบุรี สงขลา ระยอง เชียงใหม่ ตรวจพบซากสุกรจำนวน 259,994.40 กิโลกรัม รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 16,627,851.27 กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 402 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)


สำหรับรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ วันพระที่ 10 มีนาคม ที่กิโลกรัมละ 88-91 บาท สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานว่า ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเล็กน้อย แม้ต้นทุนเลี้ยงสัตว์และค่าพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ขณะที่ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรและสุกรขุนหน้าฟาร์มยังคงถูกจับตา ปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยในสถานะการณ์สงครามที่เป็นปัญหาหนัก นอกเหนือจากปัญหาราคาน้ำมัน คือราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก สร้างปัจจัยบวกให้การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา ทั้ง ๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล (เทียบเท่า 9.380 บาทต่อกิโลกรัม ณ THB 32.9983/USD) ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,700 บาท (บวก/ลบ 84) สรุปแนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง


หากประชาชนพบความผิดปกติต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินการต่อไป

ผู้เลี้ยงไก่ไทย ท้อใจรัฐยกเลิกมาตรการข้าวโพด-ข้าวสาลี 3:1 กำหนดโควต้า จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์

 

     เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ทั่วไทย พ้อแนวทางรัฐบาลยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร แต่ซ้ำเติมให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นเพราะเนื้อสัตว์ยังถูกควบคุม ควรพิจารณากลไกตลาดมาเป็นตัวกำหนดราคา ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยง

     นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มติที่ประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่  และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยและผลไม้ โดยที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกมาตรการ 3:1  ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว และให้นำเข้าข้าวสาลีได้เสรีจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดยังไม่ออกสู่ตลาดและต้องนำเข้าภายใต้โควต้าที่กำหนดเท่านั้น

     ภาครัฐ ยังต้องกำหนดรายละเอียดนำเข้าและวันที่เริ่มนำเข้าซึ่งต้องใช้เวลา ยังโดนจำกัดด้วยโควต้านำเข้าและระยะเวลา เพื่อปกป้องชาวไร่ข้าวโพด แต่ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้แบกภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสุงขึ้นแรงมากในปีนี้และเป็นต้นทุนการเลี้ยง 60-70% ของการเลี้ยง ขณะที่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ โดนควบคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิต” นางฉวีวรรณ กล่าว 


สำหรับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ทั่วโลกรวมทั้งไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ตามปกติขณะที่ราคาพุ่งขึ้น 43% จาก 8.91 บาท/กก. เป็น 13 บาท/กก. และข้าวโพดจาก 10.05 บาท/กก. เป็น 13 บาท/กก.

     นางฉวีวรรณ กล่าวย้ำว่า แม้ภาครัฐจะยกเลิกมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ที่ผ่านมาสมาคมฯในฐานะตัวแทนเกษตรกเรียกร้องไปยังภาครัฐให้พิจารณานำกลไกการตลาดมาใช้แทนมาตรการควบคุมราคา เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงอย่างสมดุลตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักการอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) จึงควรยกเลิกการคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ ให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด โดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล

     ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ใช้มาตรการกำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ไปสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ขณะที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการดังนี้ 1.ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัว/วัน ต้องแจ้งปริมาณ สต็อกและต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน 2.โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ทั้ง 55 โรง ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตและสต็อก และ 3.การปรับราคาสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน

 


    นางฉวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองสูงขึ้นโดยตลอด ในปี 2564 ราคาปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 30-40% ร่วมถึงปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคระบาดปรับราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย การปล่อยให้ราคาเนื้อไก่ที่ปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมและขายสินค้าได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ที่สำคัญยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

     หากรัฐบาลยังคงใช้มาตรการการคุมราคาสินค้าภาคปศุสัตว์ทั้งห่วงโซ่การผลิตต่อไป จะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่สามารถแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ที่ผ่านมาเนื้อไก่เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดีย่อยง่าย เป็นทางเลือกทดแทนยามเนื้อหมูราคาแพงและขาดแคลน และยังคงเป็นอาหารที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทั่วไปในราคาที่เป็นธรรม หากราคาเนื้อสัตว์โดนควบคุมต่อไปไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ผู้เลี้ยงไม่สามารถอยู่ได้ก็ต้องหยุดเลี้ยง อาจทำให้เกิดปัญหาอาหารขาดแคลนได้” นางฉวีวรรณ กล่าว

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดเวทีรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ ด้านข้าวและชาวนาไทย 4 ภาค

 


นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ เลขาธิการคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการเปิดประชุม "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของชาวนาในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน" และบรรยายพิเศษ หัวข้อ 'ลดต้นทุนการผลิต ก้าวแรกทางรอดชาวนาไทย" ณ ห้องประชุมสมาคมผู้พิการจังหวัดอ่างทอง ต.ศาลาแดง อ.เมือง จ.อ่างทอง  โดยคณะทำงานด้านข้าวและชาวนา  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสี เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 70 คน  ว่า เริ่มต้นโครงการนี้คืออยากจะได้ทั้งชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแล้วจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืนและครบวงจร ซึ่งเวทีที่จังหวัดอ่างทองถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อาจจะปรับเป็นการลงพื้นที่เพื่อหารือถึงมุมมองปัญหาและแนวทางร่วมกันของโรงสี และผู้ส่งออก คณะทำงานด้านข้าวและชาวนาจะนำแนวทางไปปรับเพื่อเวทีในภาคอื่นต่อไป โดยมองว่าเริ่มแรกชาวนาควรมีการปรับตัว ทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน และการจัดการ , วิธีการบำรุงดิน , การแปรรูป  และนโยบายภาครัฐ  


ทั้งนี้ "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของชาวนาในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน" จัดขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านข้าวและชาวนา โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมเวทีภาคกลางได้นำเสนอหากภาครัฐต้องการช่วยเหลือให้ตรงตามความต้องการ ได้แก่ ระบบชลประทานที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ไม่ใช่มีแค่คลองส่งน้ำแต่ไม่มีการส่งน้ำ หรือสนับสนุนบ่อบาดาลขนาดเล็กที่เกษตรกรสามารถบำรุง รักษาด้วยตนเองได้ , ลดภาษีเครื่องมือทางการเกษตร , ลดดอกเบี้ยจากธนาคารที่ไม่ใช่การพักหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังปกติอัตราเดิม , ปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตควรมีความเสมอภาค เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าน้ำ  , การทำนาขาดทุนแต่ส่วนใหญ่ขายได้แต่กำไรน้อย อยากตั้งราคาได้เอง  , การช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เมล็ดพันธุ์/ปุ๋ยบำรุง มาไม่ตรงตามฤดูกาล เป็นต้น 


อย่างไรก็ตาม คณะทำงานด้านข้าวและชาวนา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กำหนดจัดเวทีรับฟังความเห็นจากเกษตรกร พื้นที่ 4 ภาค เริ่มต้นจาก ภาคกลาง จ.อ่างทอง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ณ สมาคมคนพิการจังหวัดอ่างทอง ต.ศาลาแดง อ.เมือง ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 18-20 มีนาคม 2565 ภาคอีสาน จ.ศรีษะเกษ วันที่ 25-27 มีนาคม 2565  และ ภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ วันที่ 1-3 เมษายน 2565  โดยจะรวบรวมความคิดเห็นจากเวทีทั้ง 4 ภาค แล้วดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านข้าวและชาวนาต่อไป



สัตวแพทย์ ย้ำระบบการเลี้ยงปลาทับทิมมีมาตรฐาน ปลอดภัย ใส่ใจสัตว์-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม


สัตวแพทย์ ม.เกษตร แนะ “ปลา” เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย อุดมด้วยกรดไขมันชนิดดี แร่ธาตุ และวิตามินที่สำคัญ ระบบการเลี้ยงในปัจจุบันมีการทำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีความสุขกาย สบายใจ ย้ำผู้บริโภคมั่นใจคุณภาพเนื้อปลาปราศจากยาปฏิชีวนะและสารเคมีตกค้าง ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

อ.สพ.ญ.ดร.ปริญทิพย์ วงศ์ไทย ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับความต้องการบริโภคอาหารที่ดีเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงมีการพัฒนารูปแบบ และวิธีการเลี้ยงตามระบบมาตรฐาน คำนึงถึงสุขภาพสัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม


ปลาทับทิมเริ่มมีการเลี้ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ภายหลังจากมีการพัฒนาสายพันธุ์จากปลานิลดำเพื่อให้สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่เค็ม มีรูปร่าง สีสัน รวมถึงรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค เดิมทีระบบการเลี้ยงปลาทับทิมเป็นการเลี้ยงระบบเปิด บ่อดิน ไม่มีระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐาน แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ปลาทับทิมได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการระบบการเลี้ยงอย่างมีมาตรฐาน

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ อาทิ นวัตกรรม In-Pond Raceway System (IPRS), Recirculating aquaculture systems (RAS) หรือ Biofloc system ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงปลาในระบบปิด มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้พื้นที่ ลดข้อจำกัดด้านการจัดการคุณภาพน้ำ การให้อาหาร การควบคุมโรค การจัดการของเสีย รวมถึงการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาในประเทศไทยสู่ตลาดโลก

อ.สพ.ญ.ดร.ปริญทิพย์ ระบุว่า ในการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงปลาต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง และปฏิบัติตามระบบมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ดี (Good Aquaculture Practice; GAP) เพื่อให้ระบบการเลี้ยงมีความยั่งยืน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กรมประมง และ/หรือ มกอช. มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานประกอบไปด้วย 1) สถานที่ต้องมีความเหมาะสม 2) การจัดการฟาร์มที่ดี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) อาหาร วิตามิน ต้องปราศจากการปนเปื้อนของยาและสารต้องห้ามในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กระบวนการถูกสุขอนามัยปลอดภัยต่อสัตว์น้ำและผู้บริโภค 4) เกษตรกรต้องมีความรู้และเข้าใจเมื่อเกิดปัญหาการติดเชื้อในสัตว์น้ำ สามารถจัดการลดความรุนแรงโรคได้ 5) ให้ความสำคัญในการจัดการสุขอนามัยฟาร์ม ด้านการปนเปื้อนเชื้อจากขยะสิ่งปฏิกูล หรือสิ่งขับถ่ายที่อาจปนเปื้อนลงสู่บ่อเลี้ยงได้ 6) การจับและการขนส่งที่ดีจะช่วยทำให้สัตว์น้ำมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย 7) มีการเก็บข้อมูลการเลี้ยง การให้อาหาร การตรวจสุขภาพ การใช้ยาและสารเคมีอย่างสม่ำเสมอ 

นอกจากนี้ อ.สพ.ญ.ดร.ปริญทิพย์ ย้ำว่า ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องให้ความสำคัญในทุกระบวนการตั้งแต่การเลี้ยง การจัดการฟาร์ม การขนส่ง การทำให้เสียชีวิต รวมถึงการจำหน่ายไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่มีความสำคัญอย่างมากในวงการเลี้ยงสัตว์ปัจจุบัน เช่น มีพื้นที่กว้างขวางพอที่สัตว์จะสามารถแสดงพฤติกรรมอย่างอิสระ ให้อาหารอย่างเพียงพอ มีการควบคุมป้องกันโรคไม่ให้สัตว์เจ็บป่วย ไม่เครียด ในอีกแง่มุมผู้เลี้ยงควรมองว่า สัตว์ที่เราเลี้ยงนั้นให้คุณประโยชน์มากมาย นอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้มนุษย์เราได้ดำรงชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่า จึงต้องให้ความสำคัญ ตระหนัก ใส่ใจสุขภาพสัตว์ที่เราเลี้ยงอย่างดีที่สุด


สุดท้ายอยากให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าระบบการเลี้ยงปัจจุบันมีมาตรฐาน ระบบการจัดการฟาร์มที่มีการควบคุม ตรวจติดตาม ทำให้มั่นใจในคุณภาพเนื้อได้ว่าปราศจากยาปฏิชีวนะและสารเคมีตกค้างที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงให้ความใส่ใจครอบคลุมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือของเสียที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างแน่นอน

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจับมือผู้ว่าจันทบุรี ลงพื้นที่ลุยปราบทุเรียนอ่อนเตรียมความพร้อมส่งออกทุเรียน ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิตปี 65 ชูปลอดศัตรูพืชและโควิด เบื้องต้นยึดของกลาง 3 ตัน พร้อมเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมายและเพิกถอนใบรับรอง

 


วันที่ 14 มีนาคม  2565 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  พร้อมด้วยนายสุธี  ทองแย้ม  ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับแถลงข่าวการจับกุมและดำเนินคดีตัดทุเรียนไม่ได้คุณภาพ(อ่อน) เพื่อการส่งออก ณ สถานีตำรวจภูธรท่าใหม่   


ทั้งนี้นายระพีภัทร์  จันทรศรี เปิดเผยว่าทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีมีล้งทุเรียนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรีมีการรับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีน  ชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จังหวัดจันทบุรี  จึงได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบล้งทุเรียนตามที่ได้รับแจ้งซึ่งพบว่าเป็นโรงงานที่ได้ขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชกับกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบพบทุเรียนอ่อนในโรงคัดบรรจุดจำนวนมากกว่า3ตันจึงดำเนินคดีต่อไป 


นอกจากจะมีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุในคำสั่งจังหวัดจันทบุรีแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรก็จะมีการดำเนินการกับเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน โดยเกษตรกรเจ้าของผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพที่อายัดไว้  ตรวจสอบแล้ว พบว่าได้รับการรับรอง GAP จาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6 )กรมวิชาการเกษตร พื้นที่การผลิต จำนวน 3 ไร่ ด้วยหากสืบสวนแล้วปรากฏว่ามีเจตนาให้ตัดผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หรือเพิกเฉยไม่คัดค้านการนำผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพของตนออกสู่ท้องตลาด  เกษตรกรผู้ได้รับการรับรองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เจ้าหน้าที่จะเสนอข้อมูลเสนอต่ออธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย  มีอำนาจสั่งพักใช้ใบรับรอง หรือ เพิกถอน ใบรับรอง GAP ซึ่งในส่วนของโรงคัดบรรจุก็จะมีการดำเนินการเช่นเดียวกันภายใต้ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช 


อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายหลักที่จะผลักดันและสนับสนุนให้การส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศมีความคล่องตัวและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ลงพื้นที่พร้อมด้วยนายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เพื่อติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปี 2565 โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งกำลังมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในขณะนี้  เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักในการตรวจสอบศัตรูพืชไม่ให้ติดปนเปื้อนไปกับผลผลิตที่จะส่งออก รวมทั้งปัจจุบันจีนยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้เข้มงวดตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับผลผลิตด้วย

ในด้านการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนไม่ให้มีการลักลอบส่งออกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานป้องกันไม่ให้มีสินค้าด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนหลุดรอดไปถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ 


   "กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่คือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรีให้ความร่วมมือดำเนินการป้องกันและตรวจสอบร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ตามประกาศการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องทุเรียนซึ่งระบุว่า ทุเรียนพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 % พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า30% และพันธุ์หมอนทองไม่น้อยกว่า 32% ถ้าเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนอ่อนขอเน้นย้ำว่าทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการส่งออก  จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งออกของประทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ด้วย" อธิบดีกรมวิชาการกล่าว

เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่มหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ สืบสานงานพ่อ พัฒนาส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน

  “พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ สานต่อพระราชปณิธานด้านเกษตร”  เปิดมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ‘สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน’ อย่างยิ่งใหญ่  วั...