กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง เน้นย้ำน้ำกินน้ำใช้อุปโภคบริโภคเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ พร้อมวอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ ตามนโยบายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งพื้นที่ภาคกลาง ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมกำหนดแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญ เหตุรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการสำคัญต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นั้น
สถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(18 ม.ค. 65) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,457 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,761 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,225 ล้าน ลบ.ม. จึงได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน ที่สำคัญให้จัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุไว้รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้าด้วยแล้ว
ในส่วนของการทำนาปรัง ปัจจุบันมีการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 3.25 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 16 (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่) เกษตรกรส่วนหนึ่งจะใช้น้ำจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำของตนเองในการทำนาปรัง ส่วนที่ใช้น้ำจากระบบชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น