วช. สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำชลประทาน “โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง” เชื่อมโยงเทคโนโลยีบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อใช้ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยา ประมวลสถานการณ์น้ำ สั่งการและควบคุมปริมาณการส่งน้ำชลประทานให้เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่โครงการชลประทาน
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง เป็นโครงการชลประทาน อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ใช้น้ำต้นทุนหลักจากลำน้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (อว.) โดยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสมในพื้นที่ศึกษาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร ของศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ช่วยให้โครงการส่งน้ำฯ ท่อทองแดง ในปัจจุบัน มีระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรม เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติงานในการควบคุมและประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อการส่งน้ำได้อย่างเหมาะสม โดยระบบสามารถติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เกษตรกรรมและระดับน้ำในคลองส่งน้ำ จำลองสภาพการใช้น้ำและวางแผนการส่งน้ำจากการติดตามความชื้นดิน จำลองการไหลในคลองส่งน้ำ และปฏิบัติการควบคุมประตูน้ำแบบอัตโนมัติได้ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งผลการดำเนินงานวิจัย สามารถลดปริมาณการสูญเสียจากการจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่ชลประทาน ที่เกินความต้องการของพืชที่เพาะปลูกได้ตามเป้าหมาย
นักวิจัยได้จำลองรูปแบบการส่งน้ำเพื่อลดปริมาณการสูญเสียน้ำในการจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่ชลประทาน โดยแบ่งกลุ่มการส่งน้ำออกเป็น 20 โซน ตามกลุ่มการใช้น้ำจากคลองเดียวกันที่มีการเหลื่อมเวลาการเพาะปลูกพร้อมกัน โดยกำหนดรูปแบบการส่งน้ำตามจริงจากพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกร (ซึ่งมีการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำแบบมีส่วนร่วมเสริม) ทั้งในเชิงปริมาณและ ช่วงเวลาที่สอดคล้องกับความต้องการน้ำของพืช จากการจำลองสภาพการใช้น้ำร่วมกับข้อมูลความชื้นดินราย 3 ชั่วโมงที่มีการติดตามจำนวน 120 จุด ครอบคลุมทั้งโครงการส่งน้ำฯ ท่อทองแดง
จากผลการประเมินประสิทธิภาพการจำลองการส่งน้ำตามแนวทางงานวิจัย โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่มีการสำรวจและรายงานโดยกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงปีฤดูแล้ง 60/61 ที่มีสถานการณ์น้ำปกติ ผลการเสนอแนะจากงานวิจัย สามารถลดปริมาณการส่งน้ำชลประทานที่เกินกว่าความต้องการน้ำของพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ 15.42 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16.47 ส่วนในปีน้ำน้อย 61/62 พบว่า การใช้งานเครื่องมือและระบบที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัย สามารถลดปริมาณการส่งน้ำที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณและช่วงเวลาการใช้น้ำได้ 68.17 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25.20 จากการเปรียบเทียบในเชิงบริหารจัดการระหว่างผลการเสนอแนะจากงานวิจัยฯ เทียบกับการส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำเดิม
ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพลขณะนี้ มีปริมาณน้ำต้นฤดูแล้ง 64/65 ณ วันที่ 1 พ.ย. 2564 ใช้การได้อยู่ 4,229 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุใช้การ ใกล้เคียงกับน้ำต้นทุนในปีน้ำปกติ 2556 คาดการณ์ได้ว่า หน้าแล้งปีนี้ โครงการส่งน้ำฯ ท่อทองแดงจะมีสถานการณ์การเพาะปลูกที่เข้าสู่ภาวะปกติ ไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 218,760 ไร่ตามรูปแบบการส่งน้ำเดิม และหากใช้ผลของงานวิจัยที่ได้เสนอแนะแผนการจัดสรรน้ำร่วมกับการใช้ข้อมูลความชื้นดิน โครงการส่งน้ำฯท่อทองแดง จะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเป็น 268,300 ไร่ โดยใช้ปริมาณน้ำที่รับเข้าโครงการฯ รวมทั้งฤดูกาล 216 ล้าน ลบ.ม. ประเมินเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับการส่งน้ำตามรูปแบบเดิม
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การปฏิบัติในการลดการสูญเสียการส่งน้ำในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกับความต้องการใช้น้ำ งานวิจัยได้เสนอแนะให้มีการวางแผนการส่งน้ำจากพื้นที่เพาะปลูกสำรวจรายสัปดาห์ร่วมกับการติดตามข้อมูลความชื้นดินในแปลงเกษตรกรรม พร้อมกับสร้างการรับรู้ข้อมูลความชื้นดินและการปรับตัวการใช้น้ำตามรูปแบบการส่งน้ำตามโซนให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกร ระบบนี้จะช่วยให้แผนการจัดสรรน้ำตรงกับความต้องการน้ำจากรูปแบบการใช้น้ำของเกษตรกร เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำต้นทุนในระดับโครงการชลประทานได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น