รมว.เกษตรฯเดินหน้า ดันส่งออกผลไม้ไทย บุกตลาดจีนต่อเนื่องวางมาตรการบริหารจัดการผลไม้เข้มยัน ไม่เคยพบเชื้อปนเปื้อน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด - 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าเกษตร และความต้องการซื้อสินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มลดลง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการบริหารจัดการเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะผลไม้ไทยและผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทย สินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประเทศ
ในฐานะเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงาน เข้มงวดมาตรการทุกระดับ ตั้งแต่มาตรการสำหรับเกษตรกรชาวสวน ผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทางจากสวนผลไม้ จนถึงระบบขนส่ง โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก WHO และ FAO ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางจีนให้การยอมรับและแนะนำให้ประเทศ คู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน ซึ่งจีน ยังได้ชื่นชมระบบบริหารจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัย โดยที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสในผลไม้และบรรจุภัณฑ์จากไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์มากกว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยอันดับหนึ่งคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งจากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ประเทศที่นำเข้าผลไม้จากไทยมากที่สุด คือ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม สำหรับใน ปี 2564 (มกราคม – เมษายน) มีปริมาณการส่งออกดังนี้ 1) ทุเรียน มีปริมาณการส่งออก ปริมาณ 213,328 ตัน มูลค่า 28,615 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนสด ร้อยละ 95 ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 72) ฮ่องกง (ร้อยละ 13) และเวียดนาม (ร้อยละ 12) 2) ลำไย มีปริมาณการส่งออก 209,388 ตัน มูลค่า 8,043 ล้านบาท
การส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกลำไยสด กว่าร้อยละ 70 และรองลงมา คือ ลำไยอบแห้ง ร้อยละ 25 ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 77) เวียดนาม (ร้อยละ 11) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 6) ทั้งนี้ จีน ยังคงมีความต้องการลำไยสดและลำไยอบแห้ง อย่างต่อเนื่อง และ 3) มังคุด มีปริมาณการส่งออก 2,293 ตัน มูลค่า 189 ล้านบาท โดยการส่งออกมังคุดและผลิตภัณฑ์ เป็นการส่งออกมังคุดสดเกือบทั้งหมด ตลาดหลัก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 75) เวียดนาม (ร้อยละ 18) และฮ่องกง (ร้อยละ 4) ทั้งนี้ มังคุด ในปีนี้ผลผลิตภาคตะวันออกออกสู่ตลาดลดลงเกือบร้อยละ 50 จึงคาดว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการส่งออก อีกทั้งตลาดจีนยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับทุเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น