วันที่ 19 มีนาคม 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และจังหวัดนครนายก ร่วมจัดพิธีปล่อยแมลงวันผลไม้เป็นหมันในพื้นที่ จ.นครนายก ตามโครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนนพรัตน์ ตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ผู้ร่วมพิธีประกอบด้วย ปลัดจังหวัดนครนายก ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นายอำเภอเมืองนครนายก เกษตรจังหวัดนครนายก นายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก โดยมี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่ามะยงชิด ผลไม้ GI สำคัญของจังหวัด คุณภาพและรสชาติได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศ แต่เพราะปัญหาจากแมลงวันผลไม้ที่ทำลายผลมะยงชิด ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อนำวิทยาศาสตร์เข้ามาส่งเสริมและแก้ไขทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ที่ดำเนินการโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ที่นำผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ นำไปช่วยเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลจากการปล่อยแมลงเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ที่ทำลายผลมะยงชิดในปีที่ผ่านมาสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิต และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรได้มากกว่า 10 เท่าจากงบประมาณที่ใช้ไป ซึ่งเป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนากระบวนการสำหรับเกษตรกร สามารถทำได้จริงและผลเป็นที่น่าพอใจ และเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและอยากให้เกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่ของประเทศ
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันสู่พื้นที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในพื้นที่กว้าง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร เทคนิคการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน เพื่อไม่ให้มีจำนวนประชากรของแมลงผลไม้ในพื้นที่มากจนเป็นอันตรายต่อผลิตผลการเกษตร ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันประกอบด้วย การเลี้ยงแมลงวันผลไม้ในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงวันผลไม้ที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงผลไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ แต่จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกัน จะสามารถลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเสียหายกับผลผลิตลดลง
การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคแมลงวันเป็นหมันในประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรก ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2528-2540 พบว่า สามารถลดการทำลายท้อพันธุ์พื้นเมือง ของแมลงวันผลไม้จาก 54.7% ลดลงเหลือ 4% หลังจากนั้นถึงนำเทคนิคนี้ไปเผยแพร่และช่วยเหลือเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ อาทิ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ที่ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำ หรือ Low Pop
ในฐานะที่ สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผลไม้เศรษฐกิจขึ้นชื่อ และถูกขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ มะปราง และมะยงชิด แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบปัญหาคือ การถูกทำลายผลผลิตด้วยแมลงวันผลไม้ ทำให้ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร สทน.จึงได้ร่วมกับจังหวัดนครนายก ดำเนินโครงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย สทน.ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,700 ไร่ ผลการดำเนินการตลอดปี 2561-2562 ปรากฏว่า ความเสียหายของผลผลิตลดลงเหลือเพียง 14% เกษตรกรมีรายได้รวมมากกว่า 25 ล้านบาท ลดการใช้สารเคมีลงได้มากกว่า 70% จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์โดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง สทน. และเกษตรจังหวัดนครนายก เห็นควรดำเนิน โครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ จ.นครนายก ต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะดำเนินการในพื้นที่ ต.ดงละคร อ.เมือง และพื้นที่ ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา รวมพื้นที่รวมกว่า 6 พันไร่ โดยทีมวิจัยของ สทน. ได้ลงพื้นที่ประชุมกลุ่มเกษตรกร ต่อจากนั้นได้วางกับดักแมลงเพื่อลดปริมาณแมลงในพื้นที่ ศรีกะอาง และดงละคร แล้ว ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และวันนี้เป็นอีกขั้นตอนสำคัญ คือ การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันลงพื้นที่ ซึ่ง สทน. จะดำเนินการปล่อยแมลงวันผลไม้เป็นหมันต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 รวมจำนวนแมลงวันผลไม้ที่จะปล่อยในพื้นที่จำนวนประมาณ 25 ล้านตัว ซึ่ง สทน. คาดว่าผลการดำเนินโครงการในปี 2564 จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ในปีที่ผ่านมา
ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ "ดาบนวย" ประธานคณะกรรมการบริหารชมรมชาวสวนมะปรางนครนายก เจ้าของสวนนพรัตน์ เปิดเผยว่า ปัญหาแมลงวันผลไม้สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนที่ปลูกมะยงชิดมาทุกปี เฉพาะที่สวนนพรัตน์แต่ละปีจะผลิตผลมะยงชิดได้ประมาณ 40 ตัน แต่แมลงวันผลไม้จะทำให้ผลผลิตเสียหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ตัน ส่วนที่เก็บผลผลิตได้อีก 20 ตัน ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีไข่ของแมลงวันผลไม้อยู่ในผลมะยงชิดอีกเท่าไหร่ ถ้าคิดราคามะยงชิดกิโลกรัมละ 100 บาท ก็หมายความว่าแต่ละปีสวนนพรัตน์จะสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละ 2 ล้านบาท ปัญหานี้เกิดขึ้นกับชาวสวนผลไม้แทบทุกรายที่จังหวัดนครนายก เมื่อตนทราบข่าวเกี่ยวกับการปล่อยแมลงวันเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ที่จังหวัดนครนายกที่ สทน. มาเป็นผู้ดำเนินการ และสามารถลดปริมาณแมลงวันผลไม้ได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดความสนใจและได้ปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก จนในที่สุดจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สทน. และจังหวัดนครนายกในปี 2563 สทน. ได้นำวิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันในบริเวณพื้นที่ส่วนที่เรียกว่าเกาะดงละคร มีเนื้อที่ประมาณ 3,700 ไร่ โดยใช้วิธีกรปล่อยแมลงวันเป็นหมันควบคู่กับวิธีการอื่นๆ เช่น การวางกับดักในสวนและแนวกันชนเพื่อลดปริมาณแมลงวันผลไม้ การกำจัดผลไม้ที่หล่นอยู่ในสวนเพื่อไม่ให้เป็นอาหารและแหล่งแพร่พันธุ์ หลังจากนั้นจึงนำแมลงวันตัวผู้ที่เป็นหมันมาปล่อย หลังจากนำมาปล่อยได้ระยะหนึ่งสังเกตได้ชัดเจนว่าแมลงวันผลไม้ลดลง ผลผลิตเสียหายน้อยลง ปริมาณผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น มีรายได้จากการขายผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ลดลงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับสวนของตนอีก 2 แห่ง ที่ตำบลสาลิกาและที่แก่งคอยซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการปล่อยแมลงวันเป็นหมันปรากฏว่าผลผลิตเสียหายมาก ตนคิดว่าโครงการนี้มาประโยชน์มากน่าจะมีการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนมะยงชิดซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครนายกได้ถึงปีละ 500 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น