เมื่อวันที่15 ธันวาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีประชุมระดมสมอง “แผนงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สำหรับงานทางด้านสุขภาพและการแพทย์” ของประเทศไทย ณ โรงแรมเซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า เมื่อทั้งโลกต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้ เอไอมีความต้องการในการใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่มงานทางด้านสุขภาพการแพทย์ รวมถึงการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้ประเทศจะต้องมีระบบสุขภาพและการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เอไอจึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในมิติของความรวดเร็ว ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัย ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เข้าร่วมให้ข้อมูลและความเห็นต่อ (ร่าง) แผนงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ สำหรับงานทางด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทย” ที่ สกสว. จัดทำขึ้น ทั้งในมิติการผลิตองค์ความรู้และการต่อยอดเชิงพานิชย์ เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรมด้านนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ในแผนแม่บทแห่งชาติ
ต่อมาภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของไทย” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพรวมของแผนแม่บทด้านเอไอของชาติ ตลอดจนนำเสนอภาพความจำเป็นเร่งด่วน ในการนำเอไอเฉพาะทางด้านการช่วยวินิจฉัยโรค ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่เชิงการแข่งขันของประเทศ โดย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวอช.) เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันยังคงมีช่องว่างระหว่างอุปสงค์ของผู้บริโภค (Demand) และอุปทานของผู้ผลิต (Supply) ที่จำเป็นต้องทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการใส่ทรัพยากรลงไปอย่างเหมาะสม ในส่วนของ (ร่าง) แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือกันออกแบบของทุกภาคส่วน โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพหลัก ในร่างแผนแม่บทฉบับนี้ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564 – 2565) นั้น มุ่งเน้น 1.การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เอไอ นำร่องใน 4 เรื่องสำคัญ คือ การแพทย์ การเกษตร อาหาร และบริการภาครัฐ 2. การสร้างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการประยุกต์ใช้ด้านเอไอ 3.เตรียมพร้อมกำลังคนด้านเอไอ และส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ และ 4.การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการคำนวณสำหรับเอไอ สำหรับในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รับหน้าที่หลักในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านเอไอ ภายใต้แผนวิจัย “AI for all” เช่น โครงการพัฒนานักวิจัย วิศวกร ด้านเอไอ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเพิ่มกำลังคนด้านนี้ เป็นต้น
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านวิจัยและนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า วงการแพทย์ทั้งไทยและโลกล้วนตื่นตัวเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอยู่แล้ว โจทย์วิจัยเอไอ ทางการแพทย์ปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก เช่น Virtual Assistant หมอต้องการผู้ช่วยในการแปลผล เพื่อสร้างความรวดเร็ว แม่นยำในการทำงาน การใช้เอไอมาช่วยในระบบคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งในไทยมีการเริ่มต้นไปบ้างแล้ว เพราะเรามีเครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟนและเครือข่าย แต่บางโจทย์วิจัยต้องค่อยๆคลี่ข้อมูลมากางดูว่าควรออกแบบอย่างไร การใช้ประโยชน์จากเอไอทางการแพทย์ในต่างประเทศที่สำเร็จก็เช่น บิล เกตต์ เจ้าของบริษัทไอทีชั้นนำ อย่างไมโครซอฟท์ ใช้เทคโนโลยีเอไอมาสนับสนุนข้อมูลด้านการแพทย์รักษาโรคอัลไซเมอร์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และราคาถูก โดยลงทุนไปกว่า 30 ล้านเหรียญ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ปัจจุบันเราได้มีการออกแบบแผนวิจัย แผนแม่บทชาติ และมีงานวิจัยที่รุดหน้าทางด้านนี้ไปแล้ว ข้อเสนอแนะที่มีต่อ สกสว. คือ 1.ควรจัดให้มีกระบวนการมองอนาคต (foresight) เพื่อกำหนดนโยบายวิจัยในการพัฒนาชุดข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ของไทย 2. ควรศึกษาเปรียบเทียบและติดตามการพัฒนาของประเทศในเรื่อง “ระบบดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” (Personalized health system) ที่ครอบคลุมประชาชนของประเทศและ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์และสุขภาพ โดยจะต้องนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายเป็น “Personalized health in all policies"
ต่อมาในการประชุมมีการนำเสนอแผนงานเอไอ “RDI for health and medicine” แผนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมสุขภาพ การแพทย์ ตลอดจนแผนงานวิจัยและนวัตกรรม “AI for health and medicine” ของกลุ่มเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และทีมวิจัย ตลอดจนการจัดเวิร์กชอป เพื่อจัดลำดับความสำคัญ (Prioritized) ของการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมด้านนี้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น