วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดพิธีมอบรางวัล บทละครโทรทัศน์ดีเด่น “เล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 2”

โครงการ “เล่าเรื่องเป็นละคร ปี 2” สร้างนวลักษณ์เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ประดับวงการบันเทิงไทย  ละครโทรทัศน์, วรรณกรรม และ สื่อสร้างสรรค์  สืบสานเรื่องราว สื่อสารเรื่องเล่า ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น ระยะทางกว่า 1,000 กิโล จากชลบุรี ถึงหาดใหญ่ ระยะเวลา กว่า 120 วัน  เกิดเป็น 10 สุดยอดผลงาน บทละครโทรทัศน์หลากลีลา, สีสันและอรรถรส และวันนี้ คือวันเริ่มต้นผลิดอกออกผล บนเส้นทางนักเขียน สู่บทบาทคนเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 63  ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรมเล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 2 ภาคใต้และภาคตะวันออก

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึง สร้างการมีส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นสื่อกลางเชื่อมนักวิชาการและนักวิชาชีพโดยสร้างรูปแบบการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อให้เกิดเนื้อหาของสื่อที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน  จากสภาพการณ์ในสังคมปัจจุบัน ละครโทรทัศน์กลายเป็นวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มมวลชนคนกลุ่มใหญ่ของสังคม จนเกิดแนวคิดการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม เพื่อผลิตชิ้นงานสื่อที่สร้าง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” และ “คุณค่าทางสังคม” ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในตลาดภายในประเทศและสามารถต่อยอดไปในตลาดโลกได้

บทละครโทรทัศน์นับเป็นหัวใจสำคัญของการถ่ายทอดข้อมูลความคิด อารมณ์ และความรู้สึกที่จะกระทบต่อทัศนคติและสุนทรียะของผู้ชม ดังนั้นกระบวนการของการสร้างแนวความคิดที่จะนำไปสู่ลำดับขั้นของการเขียนเพื่อสร้างสรรค์เป็นบทละครโทรทัศน์ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนานักผลิตสื่อ หรือนักเขียนให้เรียนรู้ที่จะออกแบบวิธีการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ที่แตกต่างจากเดิม และสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ด้วยเหตุนี้ การสร้างนวัตกรรมด้านเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีความสอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม และสามารถนำองค์ความรู้หรือกระบวนการขั้นตอนของวิธีคิดในการสร้างนักเขียนบทละครโทรทัศน์ นำไปสู่การพัฒนาทักษะวิธีคิดของบุคคลากรในกลุ่มของนักวิชาชีพผู้ผลิตสื่อ  จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพลังความคิดของคนผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดังนั้น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้มีแผนการสร้างพื้นที่ของเนื้อหาโดยผ่านสื่อบุคคลที่เป็นนักคิดนักเขียนที่เรียกว่าเป็นผู้ผลิตสื่อกับผู้ที่ออกแบบหลักสูตรกระบวนการอบรมไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างคนให้มีหลักคิดให้มีแนวทางในการผลิตและสร้างสรรค์สื่อที่มีชั้นเชิงของความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารกับสังคม  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงร่วมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผ่านการจัดกิจกรรมเล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 1 ในภาคเหนือและภาพตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจัดกิจกรรมต่อเนื่องในโครงการ เล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 2 ภาคใต้และภาคตะวันออก“  โดยมอบรางวัลให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 10 คน ในพิธีมอบรางวัล  บทละครโทรทัศน์ดีเด่น “เล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 2 “

อาจารย์ ศัลยา สุขะนิวัตติ์  นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่าโครงการ เล่าเรื่องเป็นละคร ปีที่ 2 ภาคใต้และภาคตะวันออก  เป็นหนึ่งโครงการดีๆที่ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าการสื่อสารในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนทำให้รูปแบบของการเสพสื่อของคนยุคใหม่ต่างออกไปจากเดิม โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตสื่ออยู่รอดได้นั้นก็คือ “เนื้อหา” ที่ไม่ใช่เพียงแค่เน้นปริมาณ แต่ควรนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพเป็นหลัก โดยการสร้างนวัตกรรมการเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาเนื้อหาในละครโทรทัศน์นอกจากจะต้องเป็นที่จดจำและน่าติดตามแล้วยังจะต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อผู้ชมเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย 

โครงการ “เล่าเรื่องเป็นละคร” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมนักวิชาการและนักวิชาชีพ ให้สามารถสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการเล่าเรื่องที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและสร้างพลังบวกแก่สังคม เปิดมุมมองต่อกระบวนการทางความคิด และสร้างนวัตกรรมด้านเนื้อหาในบทละครโทรทัศน์จากเรื่องเล่าในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่หาผู้คนในท้องถิ่นเพื่อรับฟังมุมมอง ด้วยแนวคิดว่า หากหาเรื่องเล่าจากท้องถิ่นและนำมาผูกเรื่องได้จะเกิดเนื้อหาที่มีคุณภาพดี  โดยปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 ของการจัดโครงการ  โดยในปีแรกได้ไปเดินสายอบรมนักเขียนในท้องถิ่นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนในปีนี้ได้เดินสายอบรมไปที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งได้มีการอบรม พร้อมคัดเลือกผู้เข้ารอบจนได้ผู้ผ่านการคัดเลือกภาคละ 5 ท่าน ที่จะมารับมอบรางวัลกันในวันนี้ แต่ละผลงานก็มีความโดดเด่น ในแบบของตัวเอง และยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในท้องถิ่นของตนเองออกมาได้เป็นอย่างดี  ตามคอนเซ็ปต์งาน “ล้านเรื่องเล่า จากเรื่องราวในท้องถิ่น” 

รายชื่อผู้รับรางวัล 10 ท่านค่ะ

1. พญ.อุบลพรรณ  วีระโจง

   ผลงาน หวานใจนายตัวท็อป Dream Team Doctor  

    ภาคตะวันออก

2. เรือตรี สิรปกรณ์  จันทร

     ผลงาน คมตะวัน       

     ภาคตะวันออก

3. คุณเอก อันเป็นเอก

    ผลงาน กุหลาบสีทอง       

    ภาคตะวันออก

4. คุณรัฐธัญญา  เรืองโรจน์

    ผลงาน พลิกเวลาล่าคนโกง             ภาคตะวันออก

5. พ.ต.ท.เรืองยศ  เกษรบัว

    ผลงาน ขุนพนมพรหมคีรี     

    ภาคตะวันออก

6. คุณญาณพันธุ์  พันธรักษ์์

    ผลงาน เกลอเขา- เกลอเล             ภาคใต้

7. คุณพนาพร  ประชุมทอง

    ผลงาน เสียงเรียกจากริมฝั่ง      

    ภาคใต้

8. คุณคีตาญชลี แสงสังข์

    ผลงาน เลสาบเรา – ด้วยรักและความหวัง

     ภาคใต้

9. คุณมนต์ศักดิ์  ชัยวีระเดช

     ผลงาน หลอน ลวง ล้วง ลับ      

     ภาคใต้

10. คุณชาญชัย  หาสสุด

      ผลงาน ทางน้ำเชี่ยว      

      ภาคใต้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการ ส.ป.ก. และคณะร่วมติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสงขลา

      ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแล...