วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วันหลอดเลือดสมองโลก ภัยเงียบใกล้ตัว รักษาได้ถ้ารู้จักสัญญาณ F.A.S.T “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น"

 

          องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โดยรณรงค์ให้สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองโดยใช้หลักการ F.A.S.T หากพบว่าใบหน้าอ่อนแรงหรือหน้าเบี้ยว (FACE)  แขนอ่อนแรง (ARM) พูดผิดปกติ (SPEECH) ให้นึกถึงเวลา (TIME) ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยทันทีจะสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

          โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก

          จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และร้อยละ 60 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้ สำหรับในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้สูงอายุ 

           ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แพทย์จะทำหัตถการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงผ่านบริเวณขาหนีบจนไปถึงตำแหน่งที่อุดตัน และนำเอาลิ่มเลือดที่ไปอุดตันตามหลอดเลือดออกมา พบว่าผู้ป่วยใช้เวลานอนโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือ “เวลา” ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบตัวสามารถนำหลักการที่จะจำได้ง่ายๆ คืออาการที่พบบ่อย ได้แก่ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ไปสังเกตอาการของคนรอบตัว ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใด ให้นึกถึงสโตรค หรือโรคหลอดเลือดสมอง การรีบไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพสูงสุด”

“พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” ประกอบด้วย 3 อาการที่สำคัญ

• “พูดลำบาก” หมายถึงการพูดไปผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง

• “ปากตก” หมายถึงมุมปากข้างใดข้างหนึ่งตกลง เมื่อให้ยิ้มยิงฟันแล้วพบว่าปากเบี้ยว มุมปากสองข้างไม่เท่ากัน

• “ยกไม่ขึ้น” หมายถึงแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น 


อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตุอาการเหล่านี้ได้เร็วเท่าไร จะสามารถช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้” 


          “สำหรับแนวทางป้องกัน สามารถเริ่มทำได้เองที่บ้าน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ลดน้ำหนัก ตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด” ศ.พญ. นิจศรี กล่าว

FACT SHEET

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


 1 หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีการหนาตัวขึ้น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบผนังหลอดเลือดขรุขระ มีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง 


2 หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้


สัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยหลักการ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น”

6 ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Source: https://www.world-stroke.org/world-stroke-day-campaign/why-stroke-matters/stroke-treatment/treatment-for-stroke )

1. หากสามารถสังเกตสัญญาณโรคได้เร็ว จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

2. กว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองจะสามารถฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี

3. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำได้โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมง หรือการรักษาโดยการทำหัตถการสายสวนเพื่อดึงก้อนเลือดออกมา 

4. การพักฟื้นเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้โดยเร็วที่สุด

5. หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะกลับมาเป็นซ้ำ

6. การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ ผักและผลไม้ ลดเกลือ การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่ การจัดการความเครียด และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม


การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

• การรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ

• การรักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดเพื่อลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด ทำให้สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้

• การรักษาโดยการผ่าตัด


อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2559 พบผู้ป่วย 293,463 รายในปี 2560 พบผู้ป่วย 304,807 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 ราย และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น


โรคหลอดเลือดสมองและสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก

จากการสำรวจขององค์กรหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization (WSO) พบว่าในปี 2563 สถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 90% มีผู้ป่วยลดลงโดยมีค่าเฉลี่ยในการลดลงประมาณ 50-70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ถึงแม้ว่าสาเหตุของการลดลงจะแสดงออกไม่ชัดเจนแต่สามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าประชาชนอาจจจะกลัวติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อการทำงานหลากหลายด้านในระบบสาธารณสุขดังนั้นการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...