เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าตามข้อตกลง ณ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ พร้อมด้วย คณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนายพิสุทธิ์ ยงศ์กมล ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ นายสุทธิพงศ์ ยงค์กมล, นางสยมพร ทองเนื้อดี, นางวริษนันท์ เดชปานประสงค์ ผู้แทนโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ และ ดร.รัตนาภรณ์ มูรี่ ผอ.โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลการติดตามความคืบหน้าตามบันทึกข้อตกลง
นายอรรถพล กล่าวว่า สช. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงขึ้น ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกวัน เพื่อจัดเก็บข้อมูลว่ามีส่วนใดบ้าง ที่โรงเรียนจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน และส่วนที่สำคัญคือการติดตามผลการดำเนินการของโรงเรียน และอีกส่วนหนึ่ง ตนได้สั่งการให้ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองที่ไปแจ้งความร้องทุกข์อยู่สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า วันนี้ตนมาเพื่อติดตามความคืบหน้าว่าโรงเรียนสารสาส์นราชพฤกษ์ ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ตามที่ได้บันทึกข้อตกลงไป ซึ่งได้ให้คำสัญญาไว้ว่าจะแก้ปัญหาโดยเร็ว ถ้าส่วนไหนที่ทาง สช. เห็นว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขก็จะแจ้งให้ดำเนินการเลยโดยทันที ขณะนี้เบื้องต้น โรงเรียนได้รายงานว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร โดยถอดถอนและแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ แต่เท่าที่ทราบคือโรงเรียนยังไม่ได้แต่งตั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ตนจึงได้จะสั่งการให้รีบดำเนินการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการตามตราสารที่ได้รับอนุญาต คือแต่งตั้งรองผู้อำนวยการ 3 คน เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยการแต่งตั้ง ผอ. และ รอง ผอ. นั้น เป็นอำนาจของผู้รับใบอนุญาต ส่วนเรื่องของความปลอดภัยทางกายภาพของเด็ก ที่มีผู้ปกครองร้องมาว่าไม่ปลอดภัย และไม่สามารถเฝ้าระวังได้ ตนได้ให้โรงเรียนติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้ว และที่มีผู้ปกครองบางส่วนแจ้งให้โรงเรียนปรับปรุงพื้นทางเดินเพราะเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุแล้วเป็นอันตรายกับเด็กนั้น วันนี้ตนก็ได้มาตรวจสอบด้วย ซึ่งก็ได้รับรายงานว่าโรงเรียนได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ เรื่องของใบประกอบวิชาชีพจริงๆ คุรุสภา ไม่ต้องชี้แจงมาทาง สช. ก็ได้ เพราะ สช. ใช้โปรแกรมที่เชื่อมโยงอยู่กับฐานข้อมูลของคุรุสภา ซึ่งจำนวนครูที่เห็นว่าใบประกอบวิชาชีพหมดอายุที่มีอยู่ด้วยกัน 10 ท่าน เมื่อตรวจสอบกับคุรุสภาแล้ว พบว่า ทั้ง 10 ท่านได้ต่อใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ ในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้นหรือครูผู้สอน ขณะนี้ยังไม่พบผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต คงเหลือที่ต้องดำเนินการตรวจสอบในประเภทวิทยากรบุคคลภายนอก พี่เลี้ยง หรือตำแหน่งใดๆ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ว่าได้เข้ามาทำหน้าที่ครูบ้างหรือไม่ซึ่งจะมีผิดกฎหมาย ในส่วนนี้ก็ต้องขอเวลาสักระยะเนื่องจากประเภทดังกล่าวนี้มีจำนวนมาก เช่น ครูชาวต่างชาติ ที่โรงเรียนมีข้อมูลว่ามีมากกว่า 100 ท่าน ตรวจสอบเอกสารว่ามีความถูกต้องครบถ้วน มีใบอนุญาต มีหนังสืออนุญาตจากคุรุสภา มีใบ Work permit (ใบอนุญาตทำงาน) มี Visa Non-B (Non-Immigrant Visa "B" : วีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน) และมีสัญญาจ้างถูกต้องทั้งหมด 76 ท่าน ที่เหลืออีก 51 ท่าน ต้องสอบถามว่าทางโรงเรียนได้จ้างมาหรือไม่ หรือจ่ายเงินเดือนแบบไหน จ้างมาทำหน้าที่อะไร และมี Visa Non-B กี่คน มี Work permit กี่คน ในส่วนนี้ ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องขอเวลาในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น