เมื่อวันที่ 23 ก.ย.63 มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรม กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาฯ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า “ในคดีบอส อยู่วิทยา ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งได้ เราคงไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมากมาย และแสดงให้เห็นเลยว่ามันมีปัญหา เราต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมมันเป็นเรื่องของคนจริงๆ ที่มักจะถูกลากไปกับคนที่มีอำนาจ และเป็นเรื่องของคนเพียงไม่กี่คน ตำรวจ อัยการ สิ้นสุดที่ศาล และไปที่ราชทัณฑ์ รวมถึงทนายความ
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมต้องอาศัยคนที่มีจิตใจสูงกว่าปกติ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีหลักการชัดเจน คนที่คัดเลือกเข้ามา ต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่าง 1.ต้องมีความรอบรู้ เพราะต้องรู้ลึกซึ้งสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ รู้เท่าทันการทุจริต รู้เท่าทันพอที่จะจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ไหม 2.ต้องมีความกล้าตัดสิน ความเด็ดขาดในการดำเนินการ ถ้าไม่เด็ดขาดจะก่อให้เกิดความอ่อนแอในการทำงาน ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เอาเงินกองข้างหน้าก็ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม 3.ต้องมีความพอประมาณ ตึง หย่อน เกินไปไม่ได้ ถ้าตึงเกินไปสำหรับความยุติธรรมจะทำให้เกิดความทุกข์ ต้องแบกรับความทุกข์ แล้วเราจะเยียวยาเขาได้อย่างไร 4.ต้องมีความยุติธรรม คนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะขาดความยุติธรรมไม่ได้ มีแต่อคติ มีแต่ความลำเอียงไม่ได้ ดังนั้นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความดี 4 อย่างนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างคดีบอส สมคบคิดกัน ตำรวจ อัยการ ทนายความ และบุคคลอื่นที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ลากเข้าเหวนรก ตนขอยกคำกล่าวขององค์กรโปร่งใสนานาชาติ 1.การทุจริตหวาดกลัวจากการเผชิญหน้ากับความจริง คือพยายามหนี หลีกเร้น หาช่องทางถ่วงเวลา ไม่ว่าประการใดก็ตาม ตั้งโจทก์ว่าฉันจะไม่ขึ้นศาล จบลงที่พนักงานอัยการให้ได้ 2.การทุจริตคิดว่าความยุติธรรมซื้อได้ เมื่อคิดอย่างนี้ การทุจริตจึงแพร่หลายเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิดขึ้นทุกตารางนิ้วของแผ่นดิน มีเงินซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า 3.การทุจริตเกิดจากจุดที่อ่อนแอที่สุด ซึ่งตำรวจเป็นจุดอ่อนแอที่สุด เพราะใช้เส้นสายเข้ามาทำงาน การเลื่อนยศตำแหน่งถูกครอบงำโดยผู้บังคับบัญชา
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเสนอแนะปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องแก้ที่คนและระบบให้มีคุณภาพมากขึ้น เติมความเข้มแข็งกระบวนการยุติธรรมให้สมบูรณ์ และให้ยึดหลัก “แขนที่เท่ากัน” การต่อสู้คดี แขนต้องแข็งแรง แขนไม่เท่ากัน ก็เกิดกรณีมือใครยาวสาวได้สาวเอา ฉะนั้นคนแข็งแรงกว่า มีเงินมากกว่า พลังมากกว่า ก็จะเอาชนะคดีนั้น คนที่อ่อนแอกว่าสู้ไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น