พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี ชวนเที่ยวงาน “รักษ์พืช รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์ทรัพยากรไทย” ระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2563 เวลา 08.00 – 17.00 น.พบกับนิทรรศการพิเศษ 89 ภูมิปัญญา รู้ รักษา ทรัพยากรไทย ชมนิทรรศการพันธุ์ไม้สีม่วง และ 9 พันธุ์ไม้ในพระราชดำริ อบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ 99 วิชา อิ่ม อร่อย ชม ช้อป สินค้าเกษตรอินทรีย์จากร้านค้าเครือข่ายและภาคีความร่วมมือจากทั่วประเทศ
นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผย ว่า “พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เตรียมจัดงานรักษ์พืช รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์ทรัพยากรไทยบ่มเพาะการอนุรักษ์ธรรมชาติ สร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อการคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่ยั่งยืนผ่านนิทรรศการพิเศษ “89 ภูมิปัญญา รู้ รักษา ทรัพยากรไทย” โดยพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จากทั่วภูมิภาค ที่นำเอาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา การใช้ประโยชน์การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มาส่งต่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปปรับใช้กับตนเอง สร้างงาน สร้างอาชีพให้ท้องถิ่น ชมนิทรรศการพันธุ์ไม้สีม่วง และ 9 พันธุ์ไม้ในพระราชดำริ พร้อมเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์เพื่อความมั่นคงทางพันธุกรรมของทรัพยากรไทยและการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการที่รวมแล้ว กว่า 99 วิชาพร้อมกิจกรรมอีกมากมาย และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง”
นิทรรศการพิเศษ “89 ภูมิปัญญา รู้ รักษา ทรัพยากรไทย”นิทรรศการที่รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเกษตรกรไทย ถ่ายทอดโดยตรงจากพี่น้องเครือข่ายผ่าน 10 ฐานการเรียนรู้ คือ ข้าวคือชีวิตและวัฒนธรรม ธัญพืช ธัญญาหารเพื่อสุขภาพ อาหารดี วิถีไทย สารพันเครื่องดื่มจากธรรมชาติ สุขกาย สุขใจด้วยสมุนไพร สวยงามด้วยธรรมชาติ พืชพรรณดี ปัจจัยสี่พอเพียง ดินดีจุลินทรีย์ช่วยเสริม เครื่องใช้ไม้สอย และช่างเกษตร ประดิษฐ์คิดค้น ลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เรียนรู้แบบเต็มที่ ไม่มีกั๊ก
นิทรรศการพันธุ์ไม้สีม่วง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึง 9 พันธุ์ไม้ในพระราชดำริ ประกอบด้วย มะเกี้ยง มะกิ้ง ชาเมี่ยง กล้วยไม้ ทุเรียน น้อยหน่าเครือ ตีนฮุ้งดอย ยางนา สัก นำเสนอเรื่องราวของการพันธุกรรมพืชเพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ สะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรม อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าและประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ
อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายวิชาของแผ่นดิน และอบรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ หลักสูตรโซล่าเซลล์เพื่อการพึ่งตนเอง โดยอาจารย์ธนภพ เกียรติฉวีพรรณ หลักสูตรน้ำหมักสารพัดประโยชน์ โดยอาจารย์เมธยา ภูมิระวิ หลักสูตรการเลี้ยงชันโรง สไตล์ชาวบ้าน โดยอาจารย์พร้อมพงศ์ สุพรรณ หลักสูตรโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชา พระอาจารย์สังคม ขุนศิริ (ธนปัญโญ) และหลักสูตรขนมปัง ไม่ง้อเตาอบ โดยอาจารย์สุพัตรา อุสาหะ และอีกหลายวิชาที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้มากความรู้และประสบการณ์ พิเศษ สำหรับผู้ที่เข้าอบรมรับเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าพืชบำรุงดินไปปลูกที่บ้าน
นิทรรศการพิเศษ “จักสืบ จักสาน อัตลักษณ์ วัฒนธรรมเกษตร” นิทรรศการที่รวบรวมเครื่องจักสานของเกษตรกรที่เคยมีการใช้งานมาจัดแสดง เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนผ่านเครื่องจักสานที่สืบทอด สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อันเป็นอัตลักษณ์จิตวิญญาณแห่งวิถีวัฒนธรรมการเกษตรจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ
ชม ช้อปตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ สมุนไพรไทย ต้นไม้นานาพันธุ์ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาค ที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเอง
กิจกรรมพิเศษ เพาะ แจก แลก เปลี่ยน พันธุกรรมพืช นำภาชนะเหลือใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นแก้ว ขวด มาเพาะพันธุ์ไม้กลับบ้าน
แวะถ่ายรูป เช็คอิน ที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสืบสาน รักษา ต่อยอด wisdomfarmเดินชมบัว นานาสายพันธุ์บนสะพานไม้ไผ่ เรียนรู้วิถีเกษตรไทยที่บ้านเรือนไทย 4 ภาค สนุกสนานกับการทำนาโยนกล้า ดื่มด่ำเพิ่มความสดชื่นกับกาแฟอินทรีย์ที่ร้าน wisdom café พร้อมขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อทุกท่านจะได้เข้ามาท่องเที่ยว เรียนรู้อย่างปลอดภัย
สอบถามเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171 พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช (นวนครเดิม) ริมถนนพหลโยธิน กม.46-48 จ.ปทุมธานี หรือทาง www.wisdomking.or.th LineID:@wisdomkingfan ทาง Facebook.:.พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิม พระเกียรติฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น