วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เนื้อสัตว์ – อาหารแปรรูป ปลอดภัย มีประโยชน์ บริโภคอย่างเหมาะสม


          ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับประเด็น การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่” นั้น สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารแปรรูปนั้น

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ รองคณบดี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า เนื้อสัตว์ เป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูงและยังประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น   วิตามินบี 1  วิตามินเอ ฟอสฟอรัส  ไนอาซีน  เป็นต้น นอกจากนี้  อาหารประเภทเนื้อสัตว์ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ  ไส้กรอก แฮม  ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเมนูยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคทั่วไป  เพราะนอกจากรสชาติอร่อย รับประทานง่าย หาซื้อได้สะดวก  ยังสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายเมนู

          "ไส้กรอก" มีส่วนประกอบหลัก คือ เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำ และส่วนประกอบอื่น ๆ  เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการทำสุกโดยให้ความร้อนบนหลักการคือ อย่างน้อยอุณหภูมิและเวลาในการทำให้สุกจะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ในระดับพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งหมายถึงใช้อุณหภูมิและเวลาที่สามารถฆ่าจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) ได้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย สามารถรับประทานหลังผลิตเสร็จได้ หากไม่มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคจากแหล่งอื่น ๆ มาเพิ่มเติมหลังกระบวนการทำให้สุก ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตและการบรรจุที่ดีจากผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า "ปลอดภัย"

          ปัจจุบัน  กระบวนการผลิตไส้กรอกของไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก  ผู้ผลิตรายใหญ่นำเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐาน เช่น ระบบการผลิตอัตโนมัติแบบต่อเนื่อง ตั้งแต่ การรับวัตถุดิบจนถึงการจัดเก็บสินค้า สามารถผลิตโดยไม่ใช้สารกันเสียอื่นๆ นอกเหนือจากสารที่มีอยู่ในสูตรการผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับวัตถุดิบจนถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกของบริษัทผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่ ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ คุณภาพและมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทางของไส้กรอก สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเทียบเท่ามาตรฐานสินค้าส่งออก   ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความสด สะอาด และปลอดภัย

           อย่างไรก็ตาม  ผู้บริโภคที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการบริโภคไส้กรอกมากหรือบ่อยจนเกินไป อาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว คนไทยเราไม่ได้บริโภคไส้กรอกกันเป็นอาหารหลักหรือมากเท่ากับคนในชาติตะวันตก เช่น เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ดังนั้น ควรบริโภคไส้กรอกในปริมาณที่เหมาะสม และควรรับประทานอาหารที่หลากหลายยึดหลักการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งเนื้อ นม ไข่ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน

            การหลีกเลี่ยงโปรตีนจากเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และยิ่งเมื่อร่างกายเกิดเจ็บป่วย หรือไม่แข็งแรง ยิ่งต้องการสารอาหารเข้าไปช่วยให้ร่างกายต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้

          ที่สำคัญ การมีสุขภาพที่ดี ต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน เลี่ยงรับประทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งซ้ำกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ รวมทั้ง การพักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นแนวปฏิบัติที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงและโอกาสของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการ ส.ป.ก. และคณะร่วมติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสงขลา

      ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแล...