วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 1-5 มิถุนายน 2563


ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
        สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นจากหาบละ 534 บาท เป็นหาบละ 540 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าสู่ตลาดลดลง สต๊อกพ่อค้าน้อยลง แนวโน้มราคาสูงขึ้น
        ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 324.0 เซนต์/
บุชเชล มีการคาดการณ์สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เพาะปลูกมิตเวสต์ไปจนถึงสัปดาห์หน้า ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวโพดที่ 93% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 88% และค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 89% โดยปัจจุบันข้าวโพดเติบโตแล้ว 78% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 73% และรายงานประเมินคุณภาพผลผลิตข้าวโพดอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good to Excellent) ที่ 74% เพิ่มขึ้นจาก 70% สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้านอุปสงค์ US Energy Information Administration (EIA) ประกาศยอดการผลิตเอทานอลที่ 765,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่724,000 บาร์เรลต่อวัน หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แนวโน้มราคาข้าวโพดในตลาดต่างประเทศน่าจะทรงตัว
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
        กากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 13.95 บาท ปริมาณความต้องการซื้อในตลาดยังคงทรงตัว บวกกับปัจจัยปัญหาระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้ราคาไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่ภาวะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ แม้จะยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกากถั่วเหลืองมากนัก
        ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 857.50 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 286.3 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน การสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ของประเทศจีนในสัปดาห์นี้ จำนวน 180,000 ตัน สำหรับการส่งมอบในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ หลังจากที่มีความขัดแย้งในเรื่องการบริหารฮ่องกง ด้าน USDA รายงานการเพาะปลูกถั่วเหลือง 75% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 65% แนวโน้มราคาน่าจะทรงตัว
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว

ปลาป่น : ราคาทรงตัว
        ปลาป่นในสัปดาห์นี้ยืนราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตอย่างประเทศเปรู จับปลาได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทำให้ตลาดคลายความกังวลในเรื่องที่จะขาดแคลนผลผลิต บริษัทเรือขนาดเล็กเริ่มออกจับปลาได้มากขึ้น ทำให้การจับปลาปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังต้องรอดูว่าจะดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่
        โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคากิโลกรัมละ 42.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 38.20 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคากิโลกรัมละ 35.70 บาท
        ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 35.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 32.70 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว

ข้าว : ราคาทรงตัว
        ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศเปลี่ยนแปลงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 521 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 441 เหรียญสหรัฐฯ
        ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคากระสอบละ 1,500 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคากระสอบละ 1,250 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว

สุกร : ราคายืนแข็ง
        ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ ยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 68-76 บาท เนื่องจากการบริโภคเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นทุกพื้นที่จากมาตรการปลดล๊อกดาวน์เฟส 3
        ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,200 บาท (บวก/ลบ 68)
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรทิศทางน่าจะเพิ่มขึ้น

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
        ในสัปดาห์นี้ การบริโภคเนื้อไก่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านปริมาณสต๊อกผลผลิตไก่ลดลงและสมดุลกับการบริโภค ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ จึงทรงตัวที่กิโลกรัมละ 34 บาท
        ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 12.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 23.00 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
        แม้ว่าการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่ เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ประกอบกับมาตรการปลดแม่ไก่ยืนกรงให้เร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ปลดแม่ไก่ที่อายุ 80 สัปดาห์ เป็น 75 สัปดาห์ จะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง แต่ภาวะผลผลิตล้นตลาดในช่วงก่อนหน้านี้ยังคงไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ราคาทรงตัวที่ฟองละ 2.40 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการ ส.ป.ก. และคณะร่วมติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสงขลา

      ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแล...