ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ในปี 2563 มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือแม้กระทั่งไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่น้อย แต่หนึ่งเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกันทั้งโลกคงหนีไม่พ้น การระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 8 หมื่นราย ส่งผลมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจ และเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2,862 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 49 ราย (โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2563) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือในการเฝ้าระวังผู้มีความเสี่ยงไม่ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาแอปพลิเคชัน DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และเริ่มใช้งานจริงที่สถาบันบำราศนราดูรที่แรก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า DDC-Care เป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน DDC-Care
ทั้งนี้ต้องรายงานสุขภาพทุกวัน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้นำมาใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วที่สถาบันบำราศนราดูร และในส่วนภูมิภาคสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ได้ดำเนินการระดับจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ สคร. 2 (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย) สคร. 8 (อุดรธานี บึงกาฬ) ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563
โดยเจ้าหน้าที่ของกรมฯ จะทำการส่งลิงก์ผ่านทาง SMS ซึ่งจะต้องมีการสมัครและ Log in เข้าไปใช้งาน กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะต้องรายงานสุขภาพให้กับกรมฯ ได้ทราบในทุกวัน ปัจจุบันได้ส่งแอปฯ ให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จำนวน 1,305 ราย และมีผู้ที่ความเสี่ยงมากกว่า 495 ราย ได้รายงานผลของสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน ในระบบ Dashboard ซึ่งแอป DDC-Care นี้รองรับ 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และจีน)
“สำหรับแอปพลิเคชัน DDC-Care มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ ประการแรกจะมีการปักหมุดบริเวณที่คุณจะกักตัวในระยะเวลา 14 วัน ว่าคือบริเวณใด ระบบจะส่งสัญญาณติดตามทุก ๆ 10 นาที ด้วยการส่ง Location เพื่อยืนยันว่าคุณอยู่ในบริเวณที่กักตัวจริง ถ้าออกนอกบริเวณในระยะ 50 เมตร ระบบจะขึ้นเตือนว่าคุณออกนอกบริเวณที่กักตัว และส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่รับทราบได้เช่นกัน
ประการที่ 2 ในระยะ 14 วัน ทางกรมควบคุมโรค ต้องการให้บุคคลที่มีความเสี่ยงตรวจเช็คและประเมินสุขภาพตนเอง โดยจะมีรายละเอียดของคำถาม เช่น วัดอุณหภูมิได้เท่าไร มีอาการเจ็บคอ หรือไอบ้างไหม เป็นต้น เมื่อได้รับข้อมูลจะประเมินผล หากมีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ทางกรมควบคุมโรคจะติดต่อกลับไปเพื่อช่วยเหลือในขั้นตอนอื่นต่อไป สำหรับในส่วนของข้อมูลที่กรอกเข้าระบบนั้น ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และผู้ที่เข้าใช้ข้อมูลจะมีเพียงโรงพยาบาลซึ่งเห็นแค่ข้อมูลคนไข้ของตนเองเท่านั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเห็นเฉพาะผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในจังหวัด สำนักของกรมควบคุมโรคที่มี 13 เขตทั่วประเทศจะเห็นข้อมูลแค่ในเขตของตนเอง และสุดท้ายคือ กรมควบคุมโรค ที่จะเห็นข้อมูลตรงนี้เพื่อจะได้บริหารจัดการรับมือการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” ดร.จุฬารัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
DDC-Care เป็นเพียงหนึ่งผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ แม้ว่าในปัจจุบันการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบในเร็ววันนี้ แต่เหตุระบาดในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานในประเทศพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีเข้ามาช่วยเหลือด้านระบบสาธารณสุขอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้การระบาดจบได้โดยเร็ว และเพื่อให้คนในประเทศกลับมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกันได้อย่างปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น