วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

ประวัติความเป็นมาของสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ


          ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๒ ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมที่จัดโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์หลายครั้ง ครั้งแรกที่ได้ไปเยือนก็รู้สึกตื่นเต้นและหลงใหลในความงามของบ้านทรงโคโลเนียลหลังนี้เป็นอย่างยิ่ง สอบถามคุณพันทิพา เจ้าหน้าที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ที่เป็นผู้ประสานงานทราบว่าเคยเป็นวังของ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชมาก่อน

          สองสามวันก่อนค้นเจอรูปเก่าที่เคยถ่ายไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ และคุณพันทิพาได้กรุณาหาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของบ้านหลังนี้ก่อนที่จะมาเป็นสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

           เริ่มจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณนี้จากชาวนาที่ย้ายออกไปนอกเมืองเป็นจำนวน ๒๓ ไร่  แล้วสร้างบ้านซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เป็นอาคาร ๒ ชั้น หลังคาจั่ว และมีส่วนหลังเป็นหอคอยสูง ๓ ชั้น  มีจุดเด่นคือ หลังคาที่ซ้อนชั้นขึ้นไปในส่วนของหอคอยมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและเสาประดับที่ยอดจั่ว

          แรกสุดบ้านหลังนี้เคยเป็นที่พักของนายแพทย์อัลฟองส์ ปัวส์ แพทย์ชาวฝรั่งเศสประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในช่วงสั้นไป  ภายหลังหมอปัวส์ได้ย้ายออกไปในปี พ.ศ.๒๔๕๖

          ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจทรงขายบ้านและที่ดินให้แก่พระยาราชสาสนโสภณ ซึ่งต่อมาพระราช
สาสนโสภณได้ขายต่อให้กรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) โดยมีอธิบดีกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน

          อีก ๑๕ ปีต่อมา ในราวปี พ.ศ.๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗.   ได้พระราชทานที่ดินและบ้านหลังนี้แก่   พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๗ ขายที่ดินบางส่วนจำนวน 2 ไร่. คืนให้กรมพระคลังข้างที่เพื่อนำเงินมาปรับปรุงบ้านหลังนี้

          หลังจากเกิดกบฏบวรเดชเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระองค์เจ้าบวรเดชทรง
ลี้ภัยการเมืองไปประทับในเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม และภายหลังได้ทรงย้ายไปอยู่ในประเทศกัมพูชานานถึง ๑๖ ปี เมื่อทรงลี้ภัยไปแล้ว ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๙ - ๒๔๘๒ บ้านหลังนี้ถูกปล่อยให้เช่ากับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษใช้เป็นสำนักงานและคลับเฮ้าส์

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้บ้านหลังนี้เป็นสำนักงาน หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ บ้านหลังนี้ถูกปล่อยเช่ากับบาทหลวง Salesian ซึ่งเป็นบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกเพื่อใช้เป็นสำนักงานและโบสถ์ส่วนตัว

           หลังจากรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทุกคดีในปี พ.ศ.๒๔๙๑ พระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จกลับไทยและทรงขายบ้านพร้อมที่ดินผืนนี้ให้แก่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ในราคา ๑,๘๕๐,๐๐๐ บาท และเสด็จไปประทับที่ อ.หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ทรงตั้งโรงงานทอผ้า เนื่องจากทรงเคยเปิดโรงงานทอผ้าในกัมพูชาเมื่อครั้งยังทรงลี้ภัยการเมือง ซึ่งผ้าที่ทอจากโรงงานที่หัวหินก็คือ
ผ้าโขมพัสตร์อันมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกันจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

          ภายหลังรัฐบาลเนเธอร์แลนด์. ได้นำบ้านหลังนี้และพื้นที่โดยรอบมาปรับปรุงเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง : readthecloud เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (ขอขอบคุณคุณพันทิพา เจ้าหน้าที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ มาณ ที่นี้ ที่ได้กรุณาหาข้อมูลให้)

รูปประกอบ:
รูปที่ ๑-๔ บันทึกภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙
รูปที่ ๕-๑๒ ภาพประกอบจาก readthecloud

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รักปลาคาร์พ ห้ามพลาด! ไทยเจ้าภาพงานใหญ่สุดในเอเชีย คาดตลาดปลากลับมาคึกคักพร้อมเงินสะพัด

   กรมประมง รวมพลังสมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์พทีเคเคจี จัดงานเอเชีย คัพ โค่ย โชว์ ครั้งที่ 14 (14th Asia Cup Koi Show) งานประกวดปลาคาร์พระดับเอเช...