สทน. ชู ฉายรังสีช่วยให้อาหารปลอดเชื้อ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
แม้เทคโนโลยีการฉายรังสีในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนกระทั่ง รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากประเทศแคนนาดา จึงดำเนินการสร้างโรงงานฉายรังสีแบบเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอาหารฉายรังสีในประเทศไทย แต่ข้อมูลการฉายรังสียังถูกรับรู้ในวงแคบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสี หรือรับรู้แบบผิด ๆ ว่าอาหารฉายรังสี คือ อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ในส่วนของผู้ประกอบการที่มาใช้บริการฉายรังสีเอง ก็ไม่อยากบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการฉายรังสี เพราะกังวลว่าผู้บริโภคจะเข้าใจผิด และอาจจะส่งผลกระทบกับต่อยอดขายสินค้า ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการฉายรังสีอาหารสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้น การฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภค จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร
“ สทน. มีเป้าหมายชัดเจนในการมุ่งสร้างความปลอดภัยให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร และสร้างความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับทางวิทยาศาสตร์ โดยมีภารกิจสำคัญด้านอาหารปลอดภัยที่ดำเนินการอยู่ คือ การให้บริการฉายรังสีเพื่อทำลายเชื้อโรคและยืดอายุผลิตภัณฑ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกประเภทรังสีที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้กับอาหาร และการพัฒนาบริการด้านการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา
สทน. จึงจัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัย ภายใต้ชื่องาน “ Safe Food Good Life อาหารปลอดภัย ฉายรังสีปลอดโรค ” ในวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2563 ณ ห้างสรรพสินค้า สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G เพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี ว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง โดยนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ยืดอายุการเก็บรักษา ชะลอการสุก ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง ฯ กล่าวโดยสรุปคือ ช่วยในการถนอมอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยจากเชื้อโรค ดังนั้น
ในทางกฎหมายจึงมีข้อกำหนดถึงปริมาณรังสีต่ำสุดที่อยู่ในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยังคงคุณค่าทางโภชนาการ มีรสชาติเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดว่า “อาหารใด ๆ ก็ตาม ที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา และไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยอีกต่อไป”
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายที่เห็นความสำคัญนำอาหารมาฉายรังสี เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ผลไม้ สมุนไพร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารสุนัข สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องการส่งออกอีกด้วย เพราะหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น