จากปัญหาราคากระเทียมตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้ร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกผู้ปลูกกระเทียมจนประสบผลสำเร็จ เกษตรกรสามารถขายกระเทียมได้ในราคาที่พอใจ ด้วยแนวทางพื้นฐานของระบบสหกรณ์ ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับสหกรณ์และเกษตรกรสมาชิกในระยะยาว คือ หลักของการ “รวมซื้อ รวมขาย” ที่สร้างความเข้มแข็งและสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกร
นายพีรกร พวงบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 5 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงแนวทางของสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด ที่รวบรวมผลผลิตกระเทียมของสมาชิก โดยใช้วิธีการซื้อนำตลาด ซึ่งได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 ในหลักการสหกรณ์จะรับซื้อกระเทียมสดจากเกษตรกรสมาชิกในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลางรับซื้อกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ทั้งนี้ ราคาจะต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนของเกษตรกร คือ 8 – 8.50 บาท/กิโลกรัม ในปี 2562 พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อกระเทียมเท่ากับราคาต้นทุนของเกษตรกร สหกรณ์ ฯ แม่สะเรียงจึงเข้าไปซื้อนำตลาดโดยให้ราคา 10 บาท/กิโลกรัม จนสามารถดึงราคารับซื้อของพ่อค้าขึ้นมาอยู่ที่ 10 บาท ซึ่งส่งผลให้ในปี 2563 กลุ่มพ่อค้ายังไม่กล้าตั้งราคารับซื้อจากเกษตรกร แต่รอดูราคาจากสหกรณ์ ฯ ปีนี้สหกรณ์ ฯ รับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรสมาชิกราคากิโลกรัมละ 12 บาท กลุ่มพ่อค้าจึงประกาศรับซื้อกระเทียมเท่ากับราคาของสหกรณ์ ซึ่งในราคารับซื้อนี้เกษตรกรจะได้กำไรจากส่วนต่าง 3-3.50 บาทต่อ/กิโลกรัม หรือประมาณ 15,000 – 17,500 บาทต่อไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5,000 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ในปีนี้มีสหกรณ์มีเป้าหมายรับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรสมาชิกจำนวน 160 ตัน สำหรับกระเทียมที่รวบรวมไว้สหกรณ์จะมัดจุกตากไว้เพื่อจำหน่ายเป็นกระเทียมแห้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยมีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้ากับพ่อค้าในจังหวัดลำพูนไว้แล้ว
นอกจากนี้สหกรณ์ยังมีการนำกระเทียมแห้งมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยนำไปทำเป็นกระเทียมผง เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเทียมแคปซูล ขณะนี้ได้ติดต่อกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (เชียงใหม่) เพื่อขอความร่วมมือทดสอบในการผลิตกระเทียมผง จากนั้นจะส่งกระเทียมที่ได้ไปให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน เพื่อวิเคราะห์สารสำคัญและสรรพคุณของกระเทียมผง และจะผลิตเป็นสินค้าแบรนด์ของสหกรณ์ ฯ แม่สะเรียงโดยใช้ชื่อว่า “ใจกระเทียม” ในขั้นต้นจะผลิตกระเทียมผงจำนวน 100 กิโลกรัม คาดว่าภายในปี 2563 สินค้าจะเริ่มออกสู่ตลาด จากความสำเร็จในการใช้กลไกของสหกรณ์ในการสร้างอำนาจการต่อรอง ด้วยวิธีการ “ซื้อนำตลาด” จึงได้นำการขยายแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการที่สหกรณ์การเกษตรสบเมย และประสบผลสำเร็จ จึงได้วางเป้าหมายในอนาคต จะทำให้พื้นที่แม่สะเรียงเป็นศูนย์กลางการรับซื้อขายกระเทียม โดยให้สหกรณ์แต่ละแห่งเป็นผู้รับซื้อและมาส่งให้สหกรณ์ ฯ แม่สะเรียง เพื่อนำวัตถุดิบไปป้อนให้กับโครงการแปรรูปกระเทียมผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทางด้านสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด โดยนางไขศรี ฟองแก้ว ผู้จัดการสหกรณ์ฯ ให้ความเห็นว่า โครงการนี้สหกรณ์ ฯ แม่สะเรียงร่วมมือกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางรวมหัวกันกดราคารับซื้อหัวกระเทียมสด บางครั้งให้ราคาต่ำมาก คือ 7 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ 8-9 บาท/กิโลกรัม ในปี 2562 สหกรณ์ไปขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อซื้อกระเทียมจากเกษตรกรสมาชิก ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ปี 2563 สหกรณ์จึงขอกู้อีก 1.4 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายซื้อกระเทียมจากเกษตรกรสมาชิก 160 ตัน ในส่วนของเกษตรกรเองก็ดีใจที่สหกรณ์มาช่วยรับซื้อ ไม่ต้องถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา และมีรายได้เพิ่ม สำหรับโครงการแปรรูปกระเทียม ในปี 2563 สหกรณ์ตั้งเป้านำกระเทียมแห้ง 1 ตัน มาแปรรูปจะได้กระเทียมผง 100 กิโลกรัม เพื่อนำไปผลิตจำหน่ายในรูปของกระเทียมแคปซูล และกระเทียมอัดเม็ด ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ใจกระเทียม” (Heart Garlic) สำหรับช่องทางในการจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งสหกรณ์จะเป็นผู้จำหน่ายเอง และผ่านเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัด หลังจากนั้นจะขยายออกไปในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป สำหรับผลิตภัณฑ์อีกส่วนหนึ่งจะผลิตให้ภาคเอกชนเพื่อนำไปจัดจำหน่าย ขณะนี้ได้เจรจากันในเบื้องต้นแล้ว ในการนี้ สหกรณ์ได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรแปรรูปกระเทียมผงจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในวงเงินประมาณ 1 ล้านบาท หากโครงการแปรรูปเป็นไปตามเป้าหมาย เชื่อว่าจะทำให้สหกรณ์สามารถรับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรได้ไม่ต่ำว่ากิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรสมาชิกให้ดีขึ้นได้
ส่วนนางอภิรดี เมืองชัย สมาชิกสหกรณ์การเกษตรแม่สะเรียง จำกัด กล่าวว่า ก่อนที่สหกรณ์จะเขามารับซื้อพ่อค้ากดราคามาก ถึงแม้ขายราคาขาดทุนก็จำเป็นต้องขาย เพราะมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่น ค่าจ้างคนงาน จะเก็บกระเทียมไว้ขายตอนตอนที่ราคาสูงก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีโรงเก็บและไม่มีทุนเพียงพอ แต่เมื่อสหกรณ์เข้ามาช่วยรับซื้อทำให้ราคากระเทียมดีขึ้นมาก เกษตรกรไม่ขาดทุน และพอมีเงินเหลือใช้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น