วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชวนเที่ยวตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาลโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE)

 

วันที่ 23 มีนาคม 2568 ณ ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล หมู่ที่ 4 ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี โดยนายยุทธนา โพธิวิหค ปลัดจังหวัดสระบุรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีนายชินนาอาชว์  รสิอัครศักดิ์ นายอำเภอเสาไห้ กล่าวรายงานโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กิจกรรมย่อย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE)ประจำปีงบประมาณ 2568

นายยุทธนา โพธิวิหค ปลัดจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง ถือเป็นภารกิจหลัก ของประเทศ รัฐบาลจึงขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดย “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กิจกรรมย่อย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE)” เป็นโครงการที่มุ่งให้ เกิดการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวด้วยแนวคิดการจัดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ หรือ D-HOPE โดยมุ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ตามกรอบความคิดของ D-HOPE ซึ่งเป็นการนำเสนอกิจกรรมในท้องถิ่นที่คนส่วนใหญ่มองข้าม ผ่านโครงการที่ผู้เข้าร่วมสามารถลงมือปฏิบัติได้ เองที่จัดดำเนินการโดย Champ ประจำชุมชนซึ่งเกิดจากการรังสรรค์ประโยชน์จาก ทรัพยากรในท้องถิ่น อันประกอบด้วยภูมิปัญญา ความรู้ ความสามารถ และทักษะ ณ สถานที่ ที่ผู้ประกอบการชุมชนสามารถกำหนดเองต่อสาธารณะชนอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนายชินนาอาชว์ รสิอัครศักดิ์ นายอำเภอเสาไห้ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กิจกรรมย่อย จัดกิจกรรมส่งเสริม การเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ หรือ D-Hope เป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เพื่อยกระดับ ขีดความสามารถผู้ประกอบการชุมชนในการ เรียนรู้ ริเริ่ม สร้างสรรค์ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในพื้นที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวในรูปแบบของนิทรรศการชุมชนที่ นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้หรือมีประสบการณ์จากการลงมือทำเองด้วยตนเอง

ตามที่กล่าวมานี้ อำเภอเสาไห้จึงได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ เพื่อต่อยอดความสำเร็จของการพัฒนานิทรรศการโปรแกรมการ ท่องเที่ยวของบ้านต้นตาล หมู่ที่ ๔ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

โดยการดำเนินงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการ เรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติในการส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชน และเพื่อประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการชุมชนและชุมชนท่องเที่ยวเป้าหมายให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวและบุคคล ทั่วไป

นางสาววรัชยา หมวกลาว กำนันตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ กล่าว่า อำเภอเสาไห้ ได้รับจัดสรรงบประมาณ จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติงานและ แผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชน กิจกรรมย่อย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้เกิดกิจกรรมที่รองรับการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชน และหนุนเสริมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชน ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ให้เกิดความเข้มแข็ง โดยการใช้ความหลากหลายของอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการท่องเที่ยวโดย ชุมชน

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการชุมชน หรือ Champ จำนวนทั้งสิ้น 10 โปรแกรม ระยะเวลา 3 วัน โดยกิจกรรมการเยี่ยมชมโปรแกรมของผู้ประกอบการ ดังนี้ 1. ผ้าตุ๊บลาย 2. ย่ามจิ๋ว 3.โคมเลิศลอย 4. ผัดหมี่ ไท-ยวน 5. ขนมเพ้อเร่อ 6. ไข่เค็มใบเตย 7. พวงมโหตร 8. ปิ่นส้อมดอกตอ 9. ผ้าเช็ดหน้า ๒ ตะกอ 10. ข้าวแคบ

ทั้งนี้ ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล หมู่ที่ 4 ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ตามรอยกลิ่นอายของไท-ยวน ทุกวันอาทิตย์ 









วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568

บุกทำเนียบ!...กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภาคเอกชน รวมตัวยื่นแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านมติ ครม. 3 มีนาคม 2568 ชี้ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติสอง มาตรฐาน

 

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภาคเอกชน นำโดย นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และ นายชนะศักดิ์ จุมพลอนันต์ นายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ สมาคม SME ผู้รวบรวมน้ำนมดิบและแปรรูป และเกษตรกรกว่า 400 คน นัดรวมตัวบุกทำเนียบรัฐบาลเช้าวันนี้ (21 มีนาคม 2568) เพื่อยื่นแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ที่มีการทบทวนและเห็นชอบเรื่องระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอก่อนหน้านี้ โดยในประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียน ที่มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่จาก 5 เขต พื้นที่เป็น 7 เขตพื้นที่ และการเพิ่มวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียน จำนวน 4 ข้อ ซึ่งอ้างว่าเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความยั่งยืนในอาชีพ และสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษา มีตลาดนมโรงเรียนรองรับนั้น เป็นการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ โดยเป็นการกระทำที่ไม่เห็นความสำคัญของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภาคเอกชนที่ประกอบอาชีพโดยสุจริต ไม่เคยร้องขอดอกเบี้ยต่ำจากรัฐ ไม่เคยร้องขอเงินสนับสนุนให้เปล่า และไม่เคยเลี่ยงภาษี แต่กลับถูกละเลย และเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานจากภาครัฐมาโดยตลอด

การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เพื่อขอความช่วยเหลือในการทบทวนยกเลิกมติ หรือดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภาคเอกชน และผู้ประกอบการโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนภาคเอกชน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป และสามารถเข้าถึงงบประมาณของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หลัก ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศ เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการได้อย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีติดภารกิจในวันนี้ จึงมอบหมายให้ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับเรื่องแทน

“พวกเราขอให้นายกรัฐมนตรีโปรดดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และเพื่อให้การบริหารโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนมีประสิทธิภาพและให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568 นี้ ขอให้ท่านสั่งการให้ใช้ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อให้เด็กนักเรียน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้ประเทศ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้รับความเป็นธรรม ตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการอย่างแท้จริง ” นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าว

จากนั้นกลุ่มเกษตรกรได้เดินทางต่อไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในวันนี้ติดภารกิจไม่สามารถออกมารับเรื่องได้ จึงมอบหมายให้ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยหนังสือเรียกร้องต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบถึงผลกระทบของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่มีต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 7,000 ครัวเรือน และเรียกร้องให้มีทบทวนมติดังกล่าว พร้อมถอดบทเรียนจากการบริหารจัดการนมโรงเรียนในปี 2567 ซึ่งมีเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนปี 2568 โดยขอให้ภาครัฐเปิดเผยผลการประชาพิจารณ์ต่อสาธารณชน และนำผลการประชาพิจารณ์มาใช้ในการพิจารณาดำเนินการ

“หลังจากที่เรารับทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีที่มีการทบทวนโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคนมโดยเฉพาะกลุ่มที่ขายน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรภาคเอกชน วันนี้มติคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษา ส่งผลให้พวกเราที่ผลิตนมได้ 49% ของทั้งประเทศ ได้รับความเดือดร้อน ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มไม่ซื้อนมจากพวกเรา ทำให้พวกเราเดือดร้อน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่ควรถูกแบ่งแยก เราไม่อยากเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมชนชั้นสองของประเทศไทย เราภูมิใจกับอาชีพพระราชทาน เราไม่เคยขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย และเราให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องโควิด การป้องกันโรคระบาด หรือต้นทุนที่สูงในการเลี้ยงโคนม เกษตรกรก็อดทนมาโดยตลอด เราลงทุนพัฒนาเพื่อการแข่งขันกันมาก่อนหน้านี้ และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รัฐต้องนำนมผงจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่ดีและมีคุณภาพ ผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำนมดิบ เขายังเข้าถึงงบประมาณของรัฐ แต่ในขณะที่ภาคเอกชนที่ซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 54 แห่ง รวมจำนวน 928.014 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 49% ของทั้งประเทศ กลับได้รับสิทธิที่เหลือจากภาครัฐ และสหกรณ์ ซึ่งมีปริมาณซื้อน้ำนมดิบในประเทศน้อยกว่าภาคเอกชน เราจึงมาขอความเป็นธรรมและอยากเห็นกระทรวงเกษตรฯ ให้ความเป็นธรรม และความเสมอภาคกับพวกเราด้วย” นายวสันต์ จีนหลง กล่าวทิ้งท้าย





วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2568

ส.ป.ก. ร่วมติดตามคณะรัฐมนตรีช่วยฯเกษตร ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรี และติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


        วันที่ 17 มีนาคม 2568 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มอบหมายให้ นายคมกฤษ แป้นโพธิ์กลาง ผู้ตรวจราชการกรม พร้อมด้วย นายกษิดิ์เดช ตระการศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน รักษาราชการแทนปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ร่วมติดตาม นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรี และติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อรับฟังปัญหาและหารือแนวทางแก้ไขแก่ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน พร้อมติดตามการดำเนินงานภายใต้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ณ บริเวณแก้มลิงบ้านทุ่งศาลา 3 ตำบลวัดสุวรรณ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

      โอกาสนี้ นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวต้อนรับและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและความต้องการใช้น้ำในจังหวัด โดยจังหวัดชลบุรีมีพื้นที่เกษตรกรรม 1,085,647 ไร่ แต่มีพื้นที่อยู่ในระบบชลประทานเพียง 15% ส่งผลให้ยังมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งต้องใช้น้ำทั้งเพื่ออุปโภค บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม

      โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร ซึ่งเป็นอ่างขนาดใหญ่ สร้างเสร็จเมื่อปี 2558 สามารถเก็บกักน้ำได้ 125 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 127,000 ไร่ ในหลายอำเภอของจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางแผนขยายศักยภาพโครงการเพิ่มเติม โดยกรมชลประทานเสนอแผนดำเนินโครงการต่อยอดปี 2568 - 2569 รวม 4 โครงการ ประกอบด้วยการก่อสร้างแก้มลิงพร้อมระบบกระจายน้ำในหลายพื้นที่ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

     ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ได้มอบถุงพันธุ์ปลาน้ำจืด และพบปะพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอย่างยั่งยืนต่อไป








วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

“5 ทศวรรษส.ป.ก” สุดยิ่งใหญ่ ขนทัพสินค้าเกษตรกรเขตปฏิรูปกว่า 100 ร้านค้าให้คนเมือง ชม ชิม ช้อปจุใจ

   


          ส.ป.ก. เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองก้าวสู่ “5 ทศวรรษ”อย่างยิ่งใหญ่  ขนทัพสินค้า/ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร /วิสาหกิจชุมชนเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศกว่า 300 รายการมาจัดแสดงและจำหน่ายให้คนเมืองชม ชิม ช้อปอย่างจุใจ ระหว่าง 5-8 มีนาคม 68 ณ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ 

           วันนี้ (21กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 14.00 น. นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว   เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงาน“5 ทศวรรษ ส.ป.ก.” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ครบรอบ 50 ปี ณ บริเวณสำนักงาน ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ  โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้บริหาร ส.ป.ก. ให้การต้อนรับ  

นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว   เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน  โดยได้ดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง  พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อเกษตรกไทยรในหลายด้าน  อาทิ  การเร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร การขยายผลการยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร  การพัฒนาอาชีพและที่ดินอย่างยั่งยืน  มุ่งเน้นเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้สามารถแปลงสินทรัพย์ในที่ดินให้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป

 

  ทั้งนี้  นับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2518 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาครบรอบ 50 ปี ที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและช่วยให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งจัดกระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร  นอกจากนี้ส.ป.ก.ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินนำผลผลิตมาแสดงและจำหน่าย รวมทั้งจัดการอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในงานครบรอบวันสถาปนา ส.ป.ก. ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอกในทุกปีตลอดมา  เพื่อเป็นเวทีในการพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีความสามัคคีและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น     


    “ขอเชิญชวนทุกท่านมาอุดหนุนสินค้าของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5 – 8 มีนาคม 2568 ที่ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก   ซึ่งปีนี้มีการจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 50ปี ภายใต้ชื่องาน “5 ทศวรรษ ส.ป.ก.” ภายในงานจะมีกลุ่มเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน นำผลิตภัณฑ์/ผลผลิต มาจัดแสดงและจำหน่ายจากทั่วประเทศ    ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือที่มีความสวยงามและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์เพาเวอร์ (Soft  Power) ที่มุ่งเน้นการสร้างความดึงดูดผ่านทางวัฒนธรรม  อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นด้วยสื่อและการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่ ส.ป.ก. ได้รับมอบในการรักษา สืบสาน ต่อยอด และดำรงรักษาไว้ ซึ่งงานศิลปหัตถกรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป”  นางสาวอนงค์นาถ กล่าวเชิญชวน

   ด้านนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์  เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)   กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมไฮไลท์ที่สำคัญภายในงานว่า    ในโอกาสที่ ส.ป.ก. ย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 การจัดงานในปีนี้ย่อมมีความยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน  โดยการขยายเวลาการจัดงานจากเดิม 3 วันเพิ่มขึ้นเป็น 4 วัน และมีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินร่วม

ออกร้านกว่า 100 ร้านค้า    ทั้งอาหารปรุงสุก อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์หลากหลาย  อาทิ  ข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร  ข้าวหอมมะลิ GI  น้ำมันจากสมุนไพรปลอดสารพิษ จักสานใบลาน เนื้อโคขุน และการแสดงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีของกลุ่มSmart  Farmer  การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ลูกประคบ จากจังหวัดเชียงใหม่

และยังมีการจัด workshop จากงานหัตถกรรมฝีมือจากแผนกช่างฝีมือจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ)มาร่วมกิจกรรมในปีนี้ด้วย     เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าส.ป.ก. มีของดีและทรงคุณค่ามากมาย  นอกจากนี้ยังมีการจัดการแสดงดนตรี และการแสดงของคณะหุ่นละครโจ หลุยส์บนเวทีกลางของ ส.ป.ก. และการแสดงดนตรีของปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา  อดีตเลขาธิการของ ส.ป.ก.และบุคลากรของ ส.ป.ก. ที่มีใจรักในเสียงดนตรีมาร่วมเล่นดนตรีให้ชม ในวันที่ 6 มีนาคม ช่วงเวลา 18.00-19.30 น. และกลุ่มดนตรีในนาม Alro band และ Mixer band ที่จะแวะเวียนมาเล่นดนตรีให้ฟังกันสด ๆ ตั้งแต่วันที่ 5-7 มีนาคม ช่วงเวลา 17.00-21.00 น. 

    “อยากเชิญชวนพี่น้องชาวกรุงเทพและบริเวณใกล้เคียง    มาร่วมอุดหนุนให้กำลังใจแก่เกษตรกร ที่ร่วมจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ   ระหว่างวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2568 นี้  ณ  บริเวณหน้าส.ป.ก.ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ขอบคุณมากครับ”   เลขาธิการส.ป.ก. กล่าวย้ำ   


วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2568

ส.ป.ก. ติดตามรัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวคุณภาพดี

 

ส.ป.ก. ติดตามรัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวคุณภาพดี ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2568 และเปิดโครงการอบรมหลักสูตรการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำเพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ปี 2568  จังหวัดหนองบัวลำภู

    วันที่ 29 มกราคม 2568 เวลา 08.30 น. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิภาพรรณ พึ่งไพฑูรย์ ผู้ตรวจราชการกรม พร้อมด้วย นางธารทิพย์ บำรุงรส ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุดรธานี นายประสิทธิ์ ซ่าล่าม นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย รักษาราชการแทนปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองบัวลำภู และเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.หนองบัวลำภู  ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวคุณภาพดี ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2568 และพิธีเปิดโครงการอบรมหลักสูตรการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำเพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ปี 2568 โดยมี นางนฤมล ภิญโญสิณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ หอประชุมโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และ  โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ อำเภอเมือง  จังหวัดหนองบัวลำภู







วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2568

ประมงสมุทรสงครามยกโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" คืบหน้าช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

 

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม โชว์ความคืบหน้าโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" นวัตกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ด้วยการสนับสนุน “ปลานักล่า” ให้เกษตรกรใช้ควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมยังสร้างความยั่งยืนโดยเกษตรกรจะส่งคืนปลานักล่า 10% (สิบหยิบหนึ่ง) ให้กับประมงสมุทรสงคราม เพื่อนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างสมดุลระบบนิเวศและนำโมเดลขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป 

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นโมเดลเป็นโครงการที่ประสานความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อช่วยเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มผลผลิตโดยควบคุมปลาหมอคางดำที่เป็นศัตรูในบ่อเลี้ยงที่ริเริ่มของประมงสมุทรสงครามโดยบูรณาการแนวทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน โดยสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงเกษตรกร และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบ เกษตรกรจะคืนปลานักล่าบางส่วน เพื่อให้ประมงจังหวัด เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

“สิบหยิบหนึ่ง" สะท้อนแนวคิดการคืนปลานักล่า 10% หรือ 1 ใน 10 ส่วนหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่ง นอกจากนี้ ปลากะพงขาว เป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจชุมชน ปัจจุบัน ประมงสมุทรสงครามได้สนับสนุนปลากะพงขาวแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปแล้ว 3 รุ่นแล้ว โดย เกษตรกรกลุ่มแรกภายใต้กิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ได้รับการสนับสนุนปลานักล่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาครบกำหนดเวลานำปลานักล่ามาคืนแก่ประมงจังหวัดแล้ว และสำหรับเกษตรกรรุ่นที่สอง ประมงจังหวัดสมุทรสาครได้แจกจ่ายปลากะพงขาว 10,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟเพื่อแบ่งให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางแก้ว และตำบลยี่สารรวม 55 ราย ปล่อยลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2567  สำหรับรุ่นที่ 3 ประมงสมุทรสงครามนำปลากะพงขาวรวม 5,000 ตัว แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 25 รายนำไปปล่อยลงในบ่อเลี้ยงรายละ 200 ตัว ซึ่งผลจากดำเนินการได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกร

นายสมศักดิ์ แสงสุริยา เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เข้าร่วมกิจกรรมรุ่นแรก กล่าวว่า กิจกรรมสิบหยิบหนึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก ขอบคุณประมงสมุทรสงครามที่คิดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจัดการปัญหาปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้ลูกพันธุ์ปลากะพงขาว 1,000 ตัวปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ตอนนี้กำลังทยอยจับปลากะพงขาวมาคืนประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้หน่วยงานรัฐอีกทางหนึ่ง

นายพิศาล วงศ์วัฒนา เกษตรกรที่ร่วมกิจกรรม สิบหยิบหนึ่งรุ่นแรก กล่าวว่า ที่บ่อเลี้ยงกุ้ง ปู และปลากะพง ที่ผ่านมาผลผลิตลดลงได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ขอขอบคุณหน่วยงานราชการ ประมงจังหวัด อบต. และซีพีเอฟ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขาว ซึ่งช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำในบ่อได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาในเกณฑ์ที่พึงพอใจ

นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ประมงจังหวัดสมุทรสงครามบูรณาการเพื่อช่วยเกษตรกรควบคุมศัตรูของสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง นอกจากนี้ ประมงสมุทรสงครามยังได้จัดตั้ง 'กองทุนกากชา' ขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกรยืมกากชาฟรีเพื่อนำไปใช้กำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาประมงสมุทรสงครามเดินหน้าเต็มกำลังในการจัดการปริมาณปลาหมอคางดำ ผ่านการจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลอง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำ โดยร่วมมือกับเรือนจำกลางสมุทรสงครามทำน้ำปลาตรา “หับเผย แม่กลอง”  สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรนำปลาหมอคางดำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ปลาร้า ปลาส้ม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จากการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเต็มกำลังของประมงสมุทรสงคราม ส่งผลให้ในแหล่งน้ำธรรมชาติพบปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ หรือปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

สำหรับปี 2568 นี้ ประมงสมุทรสงครามยังคงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมจัดการปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการส่งเสริมปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์และแปรรูปเป็นอาหาร ควบคู่กับการควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร เพื่อการจัดการปลาหมอคางดำอย่างครบวงจรและยั่งยืน

ชวนเที่ยวตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาลโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE)

  วันที่ 23 มีนาคม 2568 ณ ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล หมู่ที่ 4 ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี โดยนายยุทธนา โพธิวิหค ปลัดจังหวัดสระบุรี ...