วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่มหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ สืบสานงานพ่อ พัฒนาส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน

 



“พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ สานต่อพระราชปณิธานด้านเกษตร”  เปิดมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ‘สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน’ อย่างยิ่งใหญ่ 

วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชนจังหวัดปทุมธานี เปิดงานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ “สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน Agri’ Museum” โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เกษตรฯให้การต้อนรับ  จากนั้นได้เดินชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษาพระราชปณิธาน ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีและนิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯที่ร่วมมาจัดแสดงภายในงาน

นายประยูร  อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดงาน มหกรรม “สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน”ว่า  มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2568 และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระอัจฉริยภาพ ด้านการเกษตร ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่ สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชกรณียกิจและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาเกษตรกรรมไทยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างพอเหมาะ พอควร มั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญภายในงานยังมีกิจกรรมให้ประชาชนที่เข้ามาชมงานได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย จากเกษตรกรผู้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาไปประยุกต์ใช้และเกิดความสำเร็จ สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ ที่สำคัญเป็นต้นแบบให้คนที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้ด้วย มีนิทรรศการที่น่าสนใจจากภาครัฐและภาคีความร่วมมือ รวมทั้งมีตลาดเศรษฐกิจพอเพียงที่สะท้อนเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับพื้นที่อีกด้วย ซึ่งการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ จึงมีความสำคัญยิ่งที่ประชาชนคนไทยไม่ควรพลาด และต้องมาเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเองต่อไป 

ทางด้านพันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ  กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมที่สำคัญภายในงานว่า   จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา พระราชปณิธาน ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี” นิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการสืบสานพระราชปณิธานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ผ่านองค์ความรู้ที่คัดสรรจาก 28 ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ สู่นิทรรศการตามรอยพ่อ สานต่อที่พ่อทำ จากทั้ง 4 ภาค ผ่านฐานนิทรรศการทั้ง 8 ฐานได้แก่ ฐาน “ดินดีพืชดีมีชีวิต” ถ่ายทอดองค์ความรู้การบำรุงดินการใช้หญ้าแฝกและพืชตระกูลถั่ว เทคนิคการบำรุงพืชด้วยจุลินทรีย์ และการขยายพันธุ์พืช ฐาน “โคก หนอง นา น้ำใต้ดิน” การประยุกต์ใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อจัดการพื้นที่และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่เหมาะกับทรัพยากรและภูมิสังคม ฐาน “สร้างป่า สร้างรายได้” พาไปรู้จักกับ “วนเกษตร” เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน และการจัดการพื้นที่โดยใช้แนวคิด เกษตรผสมผสาน ฐาน “จิ๋วแต่แจ๋ว (จุลินทรีย์)” เรียนรู้จุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วแต่ประโยชน์มหาศาล ที่มาช่วยเปลี่ยนดินให้เป็นทอง ฐาน “กินเป็นยา” เรียนรู้การดูแลสุขภาพดีวิถีพอเพียง และการสร้างอาหารที่ปลอดภัยเพื่อสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์ 

ฐาน“เกษตรก้าวไกล” เจาะลึกกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กในการทำการเกษตร และการทำเกษตรพอเพียงเมือง ฐาน“ภูมิปัญญาสร้างอาชีพ” ถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สู่การสร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และฐาน “เมล็ดพันธุ์ของพระราชา” จัดแสดงพันธุกรรมพื้นบ้าน พันธุกรรมชนเผ่า พันธุกรรมหายาก และพันธุ์ข้าวไร่ ซึ่งทุกฐานเปิดให้ทดลอง เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริง พร้อมการอบรมเรียนรู้วิชาของแผ่นดินและหลักสูตร Workshop กว่า 12 วิชา จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเกษตรกรต้นแบบทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดทั้ง 3 วัน 

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ภายใน 4 อาคาร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม พิพิธภัณฑ์ดินดล และพิพิธภัณฑ์สนองพระราชปณิธาน พร้อมรับชมภาพยนตร์แอนิเมชัน 3 มิติ และโรงภาพยนตร์ 7 มิติแบบทะลุจอ อีกทั้งยังมีกิจกรรมพิเศษ อาทิ การหล่อเหรียญพระบรมฉายาลักษณ์ การประดิษฐ์

ของที่ระลึก และกิจกรรมแชะ แชร์ เช็คอิน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงอย่างสร้างสรรค์ ชม ชิม ช้อป สินค้าเกษตรคุณภาพกว่า 200 ร้านค้า นำเสนอผลผลิตปลอดภัยตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์แปรรูป และของดีจากเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ 

   ขอเชิญประชาชนร่วมงานมหกรรม “สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 4 – 6 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.00 – 17.00 พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี หรือร่วมเรียนรู้ออนไลน์ผ่าน Facebook และ YouTube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ตลอดทั้งวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือFacebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ


วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เริ่มแล้ว! AgriSpark Hackathon – Hack the Hills 2025 ร่วมเฟ้นหานวัตกรรมเกษตรลดการเผาชิงรางวัลมูลค่า 20,000 บาทส่งผลงานได้ถึง 31 ก.ค.68

 


โครงการเยอรมันไทยด้านการเกษตร (GETHAC/จีแทคร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร (DoAE) เชิญชวนเกษตรกร นักศึกษา นักพัฒนา นักประดิษฐ์ วิศวกรและนวัตกร ร่วมพลิกโฉมการเกษตรของประเทศไทยผ่านการนำเสนอไอเดียหรือนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อช่วยลดปัญหาการเผาบนพื้นที่สูง  

AgriSpark Hackathon – Hack the Hills 2025 คือการแข่งขันแฮคคาธอนด้านนวัตกรรมการเกษตร  เพื่อมุ่งเน้นหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบนพื้นที่ลาดชัน บนเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อลดปัญหาการเผาที่ทำลายหน้าดิน ทำให้เกิดอนุภาค PM 2.5 ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และส่งผลทำให้สถานการณ์โลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ทวีความรุนแรงขึ้น   

งาน AgriSpark Hackathon – Hack the Hills 2025 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม Hack the Hills! โดยมีโจทย์ที่ท้าทาย 2 หัวข้อ ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ลองคิดสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหา และพัฒนานวัตกรรม เพื่อร่วมชิงรางวัลชนะเลิศมูลค่า 20,000  ได้แก่

หัวข้อที่ 1 – From Hill to Road นำเสนอโจทย์โดย Enable Earth  

เมื่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงยังคงมีอยู่ และการเผาในทุกปีนั้นเกิดจากความพยายามทำลายวัสดุเหลือใช้ที่ถูกมองว่าไม่มีประโยชน์อย่าง ต้น ใบและซัง Enable Earth จึงค้นพบวิธีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ด้วยการนำไปเผาเป็นถ่านไบโอชาร์ (biochar) เพื่อใช้ประโยชน์ในหลาย  ด้านเมื่อเศษเหล่านี้มีทั้งมูลค่าและคุณค่าที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการจัดการกับวัสดุเหลือใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวมากขึ้นประเด็นก็คือ  “เราจะสามารถนำวัสดุเหลือใช้ของข้าวโพดที่อยู่บนพื้นที่ลาดชันลงมาสู่ถนนที่รถสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าได้อย่างไร โดยที่ต้องไม่ทำลายหน้าดิน” 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://enableearth.eco/#agrispark 

หัวข้อที่ 2 – Burn No More นำเสนอโจทย์โดย German-Thai Agricultural Cooperation (โครงการจีแทค)  

โครงการจีแทคมีการทำโครงการกับพืชหลักหลายชนิดและในหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือพืชข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง โดยมีความพยายามในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างกาแฟ ซึ่งการปรับเปลี่ยนในลักษณะจะต้องใช้เวลาที่นาน กว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด ดังนั้น สำหรับในพื้นที่สูงที่ยังมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่นั้น “จะมีวิธีใดบ้างที่สามารถช่วยย่อยหรือจัดการกับวัสดุเหลือใช้บนพื้นที่ลาดชันบนภูเขาหรือพื้นที่ห่างไกลได้โดยตรงในแปลง เพื่อลดปัญหาการเผา” 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gethac.com/hackathon 

สำหรับผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย Finalists จะได้นำเสนอผลงานแบบ pitching ตัวต่อตัว ทีมต่อทีม ต่อหน้าคณะกรรมการ และผู้ร่วมงานทั้งจากประเทศไทยและหลายภูมิภาคทั่วโลก ในงาน AGRIFUTURE Conference 2025 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2568   True Digital Park กรุงเทพฯ 

ร่วมนำเสนอไอเดีย และส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2568 ได้ที่https://forms.gle/mRiJ3sAbkoeKpUaM9 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์AgriSpark https://www.agrispark.net    

เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่มหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ สืบสานงานพ่อ พัฒนาส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน

  “พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ สานต่อพระราชปณิธานด้านเกษตร”  เปิดมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ‘สืบสานงานพ่อ พัฒนา ส่งต่ออาชีพที่ยั่งยืน’ อย่างยิ่งใหญ่  วั...