วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วช. -มข. มอบชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) 100,000 ชุด ให้กับกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test; OV-RDT) จำนวน 100,000 ชุด ให้กับ เขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าคณะวิจัย เป็นผู้แทนส่งมอบฯ โดยมี นพ.สมฤกษ์  จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่  7 พร้อมด้วย นพ.สมาน  ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น เป็นผู้รับมอบชุดตรวจฯ โดยการจัดพิธีเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้มาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดขอนแก่น อย่างเคร่งครัด 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่งบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ให้ทุนอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยประจำปี 2560 ในโครงการ “การผลิตชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน (Urine rapid test kit for opisthorchiasis detection in community)” เพื่อที่จะได้ส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในชุมชน  ตามแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” รวมการผลิตชุดตรวจจำนวน 100,000 ชุด ซึ่งชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT มีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงทีเพราะสามารถตรวจคัดกรองประชาชนจำนวนมาก ขั้นตอนในการตรวจไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ  สามารถดำเนินการตรวจได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชุมชนสามารถดำเนินการตรวจได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อซ่อนเร้นได้ในกรณีที่ตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมนี้ที่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนชาวไทยของเรา และ วช. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัย ในทุก ๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป


โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า “พยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุปฐมภูมิของโรคพยาธิใบไม้ตับรวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมะเร็งท่อน้ำดีเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนถึง 20,000 คนต่อปี ดังนั้นตลอดดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีได้ทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการหนึ่งในความพยายามลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ การกำจัดพยาธิใบไม้ตับให้หมดไปจากพื้นที่ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโดยการตรวจอุจจาระตามวิธีมาตรฐานที่ถือปฏิบัติมาเป็นเวลานานมีประสิทธิภาพต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่งหรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธี ELISA ให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุข จักได้นำไปใช้เพื่อการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตามนโยบายทศวรรษแห่งการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  ทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจในห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาลในจังหวัดอีกต่อไป” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าว


นพ.สมฤกษ์  จึงสมาน  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่  7 กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะนักวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรมทุกท่าน ที่มอบชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 100,000 ชุด  โดยชุดตรวจ OV-RDT ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้ ทั้งยังให้ผลการตรวจเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของพยาธิ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการตรวจประเมินหลังการให้ยารักษา รวมไปถึงการหาอัตราการติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อใหม่ได้ด้วย 

โดยทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถเก็บตัวอย่างจากประชากรเป้าหมายจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็วซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการตรวจเพื่อครอบคลุมกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 6-10 ล้านคน โดยชุดตรวจจำนวน 100,000 ชุด ที่ได้รับมอบจะนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 7 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ซึ่งการตรวจปัสสาวะนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อ ให้ยารักษาเพื่อการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับได้ทันท่วงทีและสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเพื่อกำจัดพยาธิเชิงพื้นที่สนับสนุนแนวนโยบายการกำจัดพยาธิใบไม้ตับเพื่อลดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับได้สำเร็จ ส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อโรคและอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่  7 กล่าว


สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คิดค้นและพัฒนาการนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ ได้แก่ “ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT)” โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่งหรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธี ELISA ให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง และใช้ได้ในภาคสนาม โดยการตรวจใช้เวลาเพียง 10 นาที ในปัจจุบัน ได้ผลิตชุดตรวจสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test, OV-RDT) เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ประชาชนและส่งเสริมการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร

ศ.นพ.ณรงค์ ขันดีแก้ว


วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"เทพทัย เฮิร์บ" สนองนโยบายรัฐ ทุ่มทุนวิจัยและแปรรูป "พืชสมุนไพรกระท่อม" สร้างรายได้ให้เกษตรกรฐานราก

เทพทัย เฮิร์บได้เล็งเห็นประโยชน์ของพืชสมุนไพรกระท่อมจึงได้ทุ่มทุนวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์และกระบวนการในการผลิต โดยลองผลิตออกมาเป็นน้ำสมุนไพรหลากหลายรสชาติ ทำการแปรรูปเป็นชาชงเพื่อสุขภาพ กาแฟและผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดที่มีสมุนไพรกระท่อมเป็นส่วนประกอบ

นายพลวัฒน์ เสนพงศ์ ผู้บริหารบริษัท  เทพทัย เฮิร์บ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้เล็งเห็นสรรพคุณของพืชกระท่อม  สมุนไพรไทยที่ทางภาครัฐได้ทำการปลดล็อกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา จากการปลดล็อกครั้งนี้รวมถึงด้วยสถานการณ์ ของการระบาดจากโคโรนาไวรัสที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจฐานรากต่างๆได้รับผลกระทบ การศึกษา วิจัย ค้นคว้าพืชสมุนไพรกระท่อม ทางบริษัทได้ทุ่มทุนลงไปกว่า 40 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้หมุนเวียนในครัวเรือนพร้อมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ ในส่วนของโรงงานผลิตได้สร้างตามหลักมาตรฐานโรงงานที่จังหวัดสุพรรณบุรีบนเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ในอนาคตรับรองว่าลูกค้าจะได้คุณภาพสินค้าอันสูงสุดและได้รับตัวสินค้าที่รวดเร็ว

นางสาวธิรนันท์ เถาเล็ก ตัวแทนเกษตรกร ได้กล่าวว่า สมุนไพรพืชกระท่อมที่ได้ส่งให้บริษัท เทพทัย เฮิร์บ นั้น เป็นสายพันธุ์เฉพาะ "ก้านแดง" และ  "ก้านเขียว" ที่เพาะปลูกในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร  ในอนาคตสามารถส่งโรงงานแปรรูปไม่ต่ำกว่า 7 - 10 ตัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุดิบขาดตลาด ทั้งนี้เกษตรกรมีรายได้จากพืชสมุนไพรกระท่อมอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท รายได้จากการขายพืชสมุนไพรกระท่อมทำให้หลายๆครัวเรือนมีเงินหมุนเวียนในสภาวะระบาดของโคโรน่าไวรัส และสามารถทำให้หลายๆครัวเรือนดำรงชีพได้ต่อไป

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วช. - สจล. ส่งความห่วงใยผ่านกิจกรรม“มังคุดวิจัย” แด่บุคลากรด่านหน้า พร้อมเชิญชวนอุดหนุนมังคุดชาวสวนชุมพร ผ่านระบบออนไลน์

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ร่วมเปิดกิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อส่งต่อกำลังใจและความห่วงใย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 พร้อมชวนคนไทยอุดหนุนมังคุดชาวสวน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรงในขณะนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงวางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาประเทศที่ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจ วช. ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจได้เดินหน้า ไปสู่ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีหลักคิด คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และ เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น 

สำหรับกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยและนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่ามังคุดด้วยการวิจัยและพัฒนา “มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้บุคลากรด่านหน้า” เพื่อช่วยแก้ปัญหามังคุดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ในการแปรรูป รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการวิจัย “นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” โดย วช. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บูรณาการทำงานภาครัฐ และเอกชน และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดชุมพร เพื่อเป็นต้นแบบของงานวิจัยเชิงพื้นที่โดยการสร้างอัตลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละพื้นที่ นำมาสร้าง Story เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมยกระดับขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกร และ วช. ขอร่วมส่งความห่วงใยไปยังบุคลากรด่านหน้าให้มีพลังแรงใจแรงกายปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้โรคโควิด 19

นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า มังคุดซึ่งเป็นราชินีผลไม้ของไทย ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดชุมพร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้การตลาดในการจำหน่ายมังคุดประสบปัญหาราคาตกต่ำ และล้นตลาด ในขณะที่เกษตรกรสวนมังคุดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ประสบปัญหา แต่เกษตรกรลุ่มน้ำหลังสวนกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุด โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มังคุด 5 ผลิตภัณฑ์  ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เค้กมังคุดฝีพาย Synergy ผลิตภัณฑ์มังคุดคัดท้าย Selected ผลิตภัณฑ์เจลมังคุดต่อหวาย Connrct ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้ร้อยเรื่องราว ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีการแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง อันเป็นกีฬาพื้นเมืองที่บรรพบุรุษชาวลุ่มน้ำหลังสวนได้รังสรรค์และสืบทอดกันมากว่า 200 ปี ภายใต้แบรนด์ "มังคุดชิงธง" ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าผ่านเรื่องราวในบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผสมผสานอัตลักษณ์ของจังหวัดชุมพรได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ในการทำวิจัยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา โดยการนำมังคุดตกเกรดของลุ่มน้ำหลังสวน มาทำการแปรรูปเป็นมังคุดแช่เยือกแข็ง และนำเปลือกมังคุดมาสกัดจนเป็นผง เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์มังคุดที่นำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้า มี 2 ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ทาง วช. และ สจล. สนับสนุนในการผลิต โดย ผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY จำนวน 1,500 ซอง และผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN จำนวน 3,500 ขวด จะนำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้าในเดือนกันยายนนี้

กิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด้านหน้า มีการเสวนาในเรื่อง “แก้ปัญหามังคุดล้นตลาด ด้วยงานวิจัยและพัฒนา” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมพร ปัจฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา และ นางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงานชุดโครงการ Innovative house เป็นผู้ดำเนินการเสวานา นอกจากนี้ยังมีการ Live สดเปิดตลาดขายมังคุดออร์แกนิค และมังคุดตัดสด จากกลุ่มเกษตรกร ผ่าน Facebook Live สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  ประชาชนผู้สนใจสามารถสั่งชื้อมังคุดชาวสวนได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา จังหวัดชุมพร Line : @ChumphonOnlineMarket หรือ โทร 082-939-9228, 093-549-4141

มอบถุงยังชีพจากใจนมไทย-เดนมาร์คพี่น้องสื่อมวลชน


นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) อ.ส.ค.เป็นประธานมอบ "ถุงยังชีพจากใจนมไทย-เดนมาร์ค"ให้กับสื่อมวลชนเพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยพี่น้องสื่อมวลขนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอก4 ซึ่งภายในถุงประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที ไทย-เดนมาร์ค  ข้าวสารพันธุ์พื้นเมืองสระบุรี ที่ปลูกที่ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.ส.ค. และเครื่องอุปโภค ณ  บริเวณโถงชั้น 5 สำนักงาน อ.ส.ค. กรุงเทพ ฯ





ยกระดับ มาตรฐานพรีเมียม

นายชวลิต ขาวปลอด หัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบนมอบหมายให้ นายทินกร ศรียาบ หัวหน้าแผนกส่งเสริมการเลี้ยงโคนมภาคเหนือตอนบนรับซื้อน้ำนมดิบจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ "ยกระดับคุณภาพอาหารเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบมาตรฐานพรีเมียมสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น" เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมพรีเมียมไทย-เดนมาร์คและส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพเพื่อนำเอกสารยื่นรับรอง อย.และยังเก็บตัวอย่างน้ำนมดิบมาวิเคราะห์คุณภาพมาวางแผนการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนม ณ.ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด  อำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อเร็วๆนี้





เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่

นายสมพร ศรีเมือง รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เป็นประธานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่นมปรุงแต่ง ยูเอชที  ขนาด 150  มล. รสเผือก และรสมะม่วงมหาชนก ตราไทย-เดนมาร์ค สินค้า Limited Edition ผ่านระบบออนไลน์ช่องทาง  Facebook Fan Page Thai-Denmark  โดยมีการจำหน่ายในราคาโปรโมชั่นพิเศษ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม -  30 กันยายน 2564  ณ  บริเวณห้องรับรองสโมสรผู้ปฏิบัติงาน อ.ส.ค.อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี  เมื่อเร็วๆนี้

ส่งมอบกำลังใจและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. มอบหมายให้นายเทอดไชย  ระลึกมูล หัวหน้าฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นผู้แทนส่งมอบผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที ตราไทย-เดนมาร์ค ขนาด 200 มล. จำนวน 7,200 กล่อง ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยมีดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นผู้รับมอบ  เพื่อเป็นกำลังใจและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  พร้อมคณะจิตอาสาที่ประจำ ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีน KU สู้ COVID-19    ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน กรุงเทพมหานคร  เมื่อเร็วๆนี้

สวพ.6 ชู “ท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดล”แก้ปัญหาการปลูกทุเรียนภาคตะวันออก ดันเทคโนโลยีผสมผสานเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่

สวพ.6 ชู“ท่ากุ่ม-เนินทรายโมเดลเทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียนจังหวัดตราด” เดินหน้าขยายในพื้นที่แปลงใหญ่พร้อมเร่งพัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพื้นที่ภาคตะวันออก มุ่งเพิ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพและป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าอย่างยั่งยืน  

 นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตทุเรียนพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล แต่พบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของเกษตรคือโรครากเน่าโคนเน่าส่งผลให้อัตราการรอดของทุเรียนลดลงและคุณภาพไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะมักพบแพร่ระบาดสร้างความเสียให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตราด สืบเนื่องจากภูมิประเทศมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาสวพ.6ได้นำวิชาการมาส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนการแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบการผลิตในฟาร์มจนถึงการส่งออกผลผลิตในโรงคัดบรรจุ 

ทั้งนี้ไม้ผลส่งออกทุกชนิดโดยเฉพาะทุเรียน ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำที่แปลงปลูก ต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการคัดบรรจุจึงจะประสบความสำเร็จได้ผลผลิตคุณภาพส่งออกปัจจุบัน สวพ.6 ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากาเกษตรจันทบุรีได้เร่งเดินหน้าขยายผล “โครงการท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดลเทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียนจังหวัดตราด” สู่เกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย อ.เมือง จ.ตราด โดยความร่วมมือจากผู้นำกลุ่มแปลงใหญ่ นายเรือง ศรีนาราง และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดทำการคัดเลือกเกษตรกรนำร่องขยายผลจำนวน 30 ราย ขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนร่วมกับเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กำหนดแผนขับเคลื่อนการขยายผลด้วยการจัดเวทีวิจัยสัญจร วิเคราะห์กลุ่ม พูดคุยหารือแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน จัดหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญตามที่เทคโนโลยีกำหนด นักวิจัยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเป็นรายแปลง เก็บดินวิเคราะห์ธาตุอาหารและจัดกิจกรรมลงแขกผลิตทำเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสดใช้ในแปลงทุเรียนอย่างต่อเนื่อง   

ทางด้านนางสาวเครือวัลย์ ดาวงษ์และนางสาวกมลภัทร ศิริพงษ์ ได้ร่วมดำเนินงานวิจัยขับเคลื่อนโครงการ “ท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดล”กล่าวว่า  กรมวิชาการเกษตรได้ทดสอบและเผยแพร่เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน ตั้งแต่ปี 2542 เกษตรกรได้ปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังพบการแพร่ระบาดของโรคได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค จากการสำรวจแนวทางป้องกันกำจัดโรคของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ตามรายงานการแพร่ระบาดของโรคในปี 2560 – 2561 สามารถสรุปปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ดังนี้ (1) ไม่ได้สำรวจโรคเป็นประจำ มักสังเกตพบอาการเมื่อแผลลุกลามใหญ่ ทำให้การรักษาต้องใช้เวลานานและรักษาได้ยาก (2) ขาดความเข้าใจในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง (3) การประยุกต์ใช้แนวทางป้องกันกำจัดโรคพืชโดยวิธีผสมผสาน พบว่าเกษตรกรไม่ทราบถึงความจำเป็นในการปรับสภาพดินให้ไม่เหมาะต่อการเกิดโรค ไม่ได้สลับใช้ชีวภัณฑ์ร่วมด้วย ส่งผลการควบคุมการเกิดโรคไม่ประสบความสำเร็จ (4) ความรุนแรงของโรครากเน่าโคนเน่าที่เข้าทำลายทุเรียนยืนต้นตายอย่างรวดเร็ว สารเคมีที่แนะนำไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ เกิดข้อสงสัยประเด็นการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดอื่นรวมกับเชื้อราไฟทอปธอรา ส่งผลให้มีการทดลองใช้สารเคมีหลากหลายชนิดตามความเชื่อของเกษตรกรและใช้ในอัตราที่สูง ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นความต้านทานของเชื้อโรคพัฒนาการดื้อยาในอนาคตได้ จากปัญหาสืบเนื่องดังกล่าว จึงมีความจำเป็นในการจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อถ่ายทอดขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนได้ถูกต้อง และปรับใช้ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเน้นการสำรวจการเกิดโรคเพื่อรักษาได้ทัน จัดการเขตกรรมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานร่วมการใช้ชีววิธี รวมถึงการปรับปรุงสภาพดินและใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าได้อย่างยั่งยืน  


นอกจากดำเนินการขยายผลในพื้นที่จังหวัดตราดแล้ว ยังได้ทำการทดลองในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ  จังหวัดจันทบุรี ระยอง โดยความร่วมมือของทีมนักวิจัย สวพ.6 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรีและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง เริ่มการทดสอบเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ดำเนินการจัดการโรคอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการจัดการโรคแบบผสมผสาน เริ่มจากการจัดการธาตุอาหารให้ทุเรียนแข็งแรงจากการวิเคราะห์ดิน ดินกรดปรับด้วยโดโลไมท์ การเขตกรรมลดการเกิดโรคด้วยการระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังโคนต้นและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลดปริมาณเชื้อราไฟทอปเธอร่าด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกับปุ๋ยหมัก ต้นที่เป็นโรครุนแรงใบเหลืองโทรม ดำเนินการฟื้นฟูระบบรากด้วยการราดโคนต้นด้วยสารเคมีฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80%WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสด อัตรา 100 กรัมเชื้อสด ต่อน้ำ 20 ลิตร กรดฮิวมิค 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และปุ๋ยเกร็ดสูตร 20-20-20 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารทั้ง 4 ชนิดเข้ากันราดให้ทั่วบริเวณรอบทรงพุ่ม ความถี่ทุก 2 เดือน  

ทั้งนี้ เมื่อสภาพต้นเริ่มฟื้นฟู เริ่มมีใบอ่อนจึงลดเหลือการราดเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการรักษาแผลที่โคนต้นด้วยสารเคมีตามอัตราแนะนำ หรือใช้น้ำหมักเปลือกมังคุดรักษาต่อเนื่องจนแผลแห้งเกิดเนื้อไม้ใหม่ ผลการทดสอบเทคโนโลยีช่วงปีแรก (ตุลาคม 2562 - ธันวาคม 2563) ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด รวม 15 แปลง พบต้นทุเรียนที่ดำเนินการตามวิธีแนะนำมีค่าเฉลี่ยความรุนแรงของโรคลดลงกว่าก่อนการทดสอบ จาก 58 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวิธีเกษตรกรที่ไม่ได้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างต่อเนื่องพบค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 53 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคิดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคพบต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดินเพิ่มจากวิธีเกษตรกร  ทั้งนี้จากทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจสามารถลดค่าสารเคมีและชีวภัณฑ์ได้มากกว่า ทั้งนี้ภาพรวมค่าเฉลี่ยต้นทุนการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าสูงกว่าวิธีเกษตรกรจาก 14,342 บาท/ไร่ เพิ่มเป็น 15,103 บาท/ไร่ ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ 

ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ผอ.แผนงานวิจัยฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่แปลงใหญ่ เพื่อให้งานวิจัยมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางขึ้น โดยใช้กระบวนการชุมชนมีส่วนร่วม มีการจัดเวทีวิจัยสัญจรให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการและภูมิปัญญา พร้อมกับสร้างเครือข่ายการพัฒนา ในการผลิตทุเรียน พบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีที่ได้จากผลงานวิจัย มีการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ดิน ความสมบูรณ์ของต้นทุเรียน ที่ส่งผลต่อการสร้างความต้านทานของพืชต่อโรครากเน่าโคนเน่า รวมถึงการปรับใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้นำโมเดลดังกล่าวเป็นต้นแบบขยายผล โดยเป็นต้นแบบให้กับแปลงใหญ่ทุเรียนและแปลงใหญ่พืชอื่นๆ ต่อไป 

ลำปางชู“เมืองมายโมเดล” ยกระดับการผลิตถั่วลิสงมาตรฐาน GAP

      

กรมวิชาการเกษตรเดินหน้านำผลงานวิจัยลงหิ้ง   หนุนสวพ.ทั่วประเทศเร่งขยายผลถ่ายทอดสู่เกษตรกรประยุกต์ใช้ในแปลงไร่นาล่าสุดหนุนสวพ.1ขยายผลโครงการ“เมืองมายโมเดลถั่วลิสงพืชใช้น้ำน้อยฯ” นำเทคโนโลยีทางการเกษตรกำจัดจุดอ่อนชาวไร่ถั่วลิสงพื้นที่เมืองมายจ.ลำปาง เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานGAPมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์และยกระดับรายได้เศรษฐกิจในชุมชน 

   

     

นายพิจิตร  ศรีปินตา ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1(สวพ.1) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้สวพ.1ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปางได้จัดเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การผลิตถั่วลิสงของเกษตรกร โดยนำผลการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตถั่วลิสงปี 2563 ซึ่งดำเนินงานในเกษตรกร 10 ราย มาขยายผลสู่เกษตรกรจำนวน 56 ราย พื้นที่ปลูกถั่วลิสงจำนวน 149 ไร่ ในชื่อ “เมืองมายโมเดล ถั่วลิสงพืชใช้น้ำน้อย สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน จังหวัดลำปาง”เป็นโมเดลที่นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมาขยายผลในพื้นที่การผลิตถั่วลิสง ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 

ทางด้านนางเยาวภา เต้าชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง กล่าวว่า เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดและขยายผลสู่เกษตรกร ได้แก่ 

1) พันธุ์ถั่วลิสง เกษตรกรใช้พันธุ์ขอนแก่น 5 และพันธุ์ไทนาน 9 ขายในรูปแบบฝักสด 

2) ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วลิสงคลุกเมล็ดก่อนปลูก สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นถั่วและทำให้ปริมาณไนโตรเจนในต้นถั่วเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดถั่วได้โดยทำให้มีปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้นในเมล็ด วิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วลิสง อัตรา 200 กรัมต่อเมล็ดถั่วลิสง 10-15 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้นปลูกเมล็ดลงหลุมและกลบดิน

3) การใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยหลังจากปลูกแล้ว 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ และการผสมปุ๋ยโดยการใช้แม่ปุ๋ย 3 สูตรเพื่อให้ได้ปุ๋ยตามสูตรที่ต้องการ

4) ระยะต้นถั่วออกดอก ใส่ยิปซัมอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดการเกิดเมล็ดลีบ 

5) การป้องกันกำจัดวัชพืช มี 2 ระยะคือ หลังปลูกทันที ในขณะที่ดินมีความชื้น และหลังวัชพืชงอกเมื่อต้นถั่วมีอายุ 15 วัน พ่นสารเคมีได้ทั้งประเภทใบแคบและใบกว้าง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชควรพ่นสารเคมีในขณะที่ดินมีความชื้น

และ 6)การเก็บเกี่ยว เก็บเมื่อสีเปลือกด้านในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเปลือก เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสงช่วงเดือนเมษายน 2564

แปลงที่มีการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตได้ 27 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตถั่วลิสงฝักสดที่ได้เฉลี่ย 716 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรขายถั่วลิสงฝักสดราคา 14 บาทต่อกิโลกรัม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกรได้ 1,494,558 บาท และยังสร้างกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมจะพัฒนาการเรียนรู้โดยปรับจากการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการสนับสนุนการยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสู่การรับรองมาตรฐานการ ปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) มีการส่งเสริมการผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บ้านไผ่งาม หมู่ 4 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแปรูบเป็นผลิตภัณฑ์ OTP ถั่วลิสง ได้แก่ ถั่วอบสมุนไพร ถั่วคั่วทราย ถั่วอบเกลือ และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ผลิตภัณฑ์ถั่วแผ่นทอด ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ 

สำหรับจังหวัดลำปาง ปัจจุบันถือเป็นแหล่งปลูกถั่วลิสงที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ปลูก 4,282 ไร่ เกษตรกรมีการปลูกถั่วลิสง 2 ครั้งในรอบปี ครั้งที่ 1 ปลูกในพื้นที่ดอน (ฤดูฝน) และครั้งที่ 2 ปลูกในพื้นที่ลุ่มหลังการปลูกข้าว (ฤดูแล้ง) นิยมปลูกถั่วลิสงพันธุ์ที่เหมาะสำหรับกะเทาะเปลือก ส่วนใหญ่มีการปลูกพันธุ์ปน ส่งผลให้ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ การเร่งขยายผลผลงานวิจัยภายใต้โครงการเมืองมายโมเดลจึงถือเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน 

ทางด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ผอ.แผนงานวิจัย กล่าวว่า “ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายสำคัญในการให้สวพ.ทั่วประเทศเร่งขับเคลื่อนผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรในทุกมิติถ่ายทอดสู่เกษตรกรและเดินหน้าทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่พร้อมกับจัดเวทีวิจัยสัญจรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีส่วนได้เสียในแปลงไร่นาของเกษตรกร รูปแบบดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ผลงานวิจัยเกิดการขยายผลงานวิจัยและเกิดเครือข่ายการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรไทยในยามวิกฤติ 

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

บอร์ด กยท. เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสิทธิ์เท่าเทียมให้ชาวสวนยางบัตรชมพูรับสิทธิ์เทียบบัตรเขียว

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางใหม่ เน้นดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศอย่างทั่วถึง สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ เตรียมออกประกาศคณะกรรมการ กยท.เร็วๆ นี้

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมบอร์ด กยท.ครั้งที่ 10/2564 มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยเพิ่มเติมเอกสารที่สามารถนำมาประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเอกสารรับรองอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ บัญชีเอกสารหลักฐานที่ดิน 2 ในส่วนของหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนต่างๆ ได้แก่ แบบคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.1) แบบคำขอขึ้นทะเบียนคนกรีดยาง (คบก.2) แบบหนังสือรับรองตนเอง (คบก.6) และแบบบันทึกค่าพิกัดแปลงสวนยาง (คบก.7) และแบบคำขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (คบก.8) กรณีเกษตรกรชาวสวนยางมีความประสงค์ขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน

  ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) 

พ.ศ. 2564 จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง จํานวน 456,061 ราย พื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่

ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับทั้งการสนับสนุน การช่วยเหลือ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่างๆ ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) (4) (5) และ (6) ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ต้องการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะไม่แยกบัตรเขียวและบัตรชมพูอีกต่อไป จึงขอให้ชาวสวนยางรอฟังประกาศอย่างเป็นทางการและศึกษารายละเอียด เพื่อเตรียมตัวติดต่อสำนักงาน กยท.จังหวัด/สาขาใกล้บ้านต่อไป