วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ร่วมเปิดกิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อส่งต่อกำลังใจและความห่วงใย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 พร้อมชวนคนไทยอุดหนุนมังคุดชาวสวน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรงในขณะนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงวางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาประเทศที่ตอบโจทย์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจ วช. ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุนเศรษฐกิจได้เดินหน้า ไปสู่ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีหลักคิด คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และ เปลี่ยนจากภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยและนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่ามังคุดด้วยการวิจัยและพัฒนา “มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้บุคลากรด่านหน้า” เพื่อช่วยแก้ปัญหามังคุดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ในการแปรรูป รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการวิจัย “นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” โดย วช. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บูรณาการทำงานภาครัฐ และเอกชน และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมังคุดของจังหวัดชุมพร เพื่อเป็นต้นแบบของงานวิจัยเชิงพื้นที่โดยการสร้างอัตลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละพื้นที่ นำมาสร้าง Story เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมยกระดับขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกร และ วช. ขอร่วมส่งความห่วงใยไปยังบุคลากรด่านหน้าให้มีพลังแรงใจแรงกายปฏิบัติหน้าที่ต่อสู้โรคโควิด 19
นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า มังคุดซึ่งเป็นราชินีผลไม้ของไทย ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดชุมพร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้การตลาดในการจำหน่ายมังคุดประสบปัญหาราคาตกต่ำ และล้นตลาด ในขณะที่เกษตรกรสวนมังคุดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ประสบปัญหา แต่เกษตรกรลุ่มน้ำหลังสวนกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากคณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุด โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มังคุด 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เค้กมังคุดฝีพาย Synergy ผลิตภัณฑ์มังคุดคัดท้าย Selected ผลิตภัณฑ์เจลมังคุดต่อหวาย Connrct ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้ร้อยเรื่องราว ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีการแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง อันเป็นกีฬาพื้นเมืองที่บรรพบุรุษชาวลุ่มน้ำหลังสวนได้รังสรรค์และสืบทอดกันมากว่า 200 ปี ภายใต้แบรนด์ "มังคุดชิงธง" ซึ่งสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าผ่านเรื่องราวในบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าผสมผสานอัตลักษณ์ของจังหวัดชุมพรได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ในการทำวิจัยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา โดยการนำมังคุดตกเกรดของลุ่มน้ำหลังสวน มาทำการแปรรูปเป็นมังคุดแช่เยือกแข็ง และนำเปลือกมังคุดมาสกัดจนเป็นผง เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์มังคุดที่นำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้า มี 2 ผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN และผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY ทาง วช. และ สจล. สนับสนุนในการผลิต โดย ผลิตภัณฑ์น้ำหนึ่งใจเดียวแห่งลุ่มน้ำหลังสวน UNITY จำนวน 1,500 ซอง และผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดชิงธง WIN จำนวน 3,500 ขวด จะนำไปมอบให้บุคลากรด่านหน้าในเดือนกันยายนนี้
กิจกรรม มังคุดวิจัย...ส่งความห่วงใยให้กับบุคลากรด้านหน้า มีการเสวนาในเรื่อง “แก้ปัญหามังคุดล้นตลาด ด้วยงานวิจัยและพัฒนา” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมพร ปัจฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมเพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา และ นางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงานชุดโครงการ Innovative house เป็นผู้ดำเนินการเสวานา นอกจากนี้ยังมีการ Live สดเปิดตลาดขายมังคุดออร์แกนิค และมังคุดตัดสด จากกลุ่มเกษตรกร ผ่าน Facebook Live สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประชาชนผู้สนใจสามารถสั่งชื้อมังคุดชาวสวนได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา จังหวัดชุมพร Line : @ChumphonOnlineMarket หรือ โทร 082-939-9228, 093-549-4141
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น