วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ลำปางชู“เมืองมายโมเดล” ยกระดับการผลิตถั่วลิสงมาตรฐาน GAP

      

กรมวิชาการเกษตรเดินหน้านำผลงานวิจัยลงหิ้ง   หนุนสวพ.ทั่วประเทศเร่งขยายผลถ่ายทอดสู่เกษตรกรประยุกต์ใช้ในแปลงไร่นาล่าสุดหนุนสวพ.1ขยายผลโครงการ“เมืองมายโมเดลถั่วลิสงพืชใช้น้ำน้อยฯ” นำเทคโนโลยีทางการเกษตรกำจัดจุดอ่อนชาวไร่ถั่วลิสงพื้นที่เมืองมายจ.ลำปาง เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานGAPมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์และยกระดับรายได้เศรษฐกิจในชุมชน 

   

     

นายพิจิตร  ศรีปินตา ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1(สวพ.1) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้สวพ.1ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปางได้จัดเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การผลิตถั่วลิสงของเกษตรกร โดยนำผลการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตถั่วลิสงปี 2563 ซึ่งดำเนินงานในเกษตรกร 10 ราย มาขยายผลสู่เกษตรกรจำนวน 56 ราย พื้นที่ปลูกถั่วลิสงจำนวน 149 ไร่ ในชื่อ “เมืองมายโมเดล ถั่วลิสงพืชใช้น้ำน้อย สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน จังหวัดลำปาง”เป็นโมเดลที่นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมาขยายผลในพื้นที่การผลิตถั่วลิสง ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง 

ทางด้านนางเยาวภา เต้าชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง กล่าวว่า เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดและขยายผลสู่เกษตรกร ได้แก่ 

1) พันธุ์ถั่วลิสง เกษตรกรใช้พันธุ์ขอนแก่น 5 และพันธุ์ไทนาน 9 ขายในรูปแบบฝักสด 

2) ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วลิสงคลุกเมล็ดก่อนปลูก สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นถั่วและทำให้ปริมาณไนโตรเจนในต้นถั่วเพิ่มขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดถั่วได้โดยทำให้มีปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้นในเมล็ด วิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมถั่วลิสง อัตรา 200 กรัมต่อเมล็ดถั่วลิสง 10-15 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้นปลูกเมล็ดลงหลุมและกลบดิน

3) การใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยหลังจากปลูกแล้ว 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ และการผสมปุ๋ยโดยการใช้แม่ปุ๋ย 3 สูตรเพื่อให้ได้ปุ๋ยตามสูตรที่ต้องการ

4) ระยะต้นถั่วออกดอก ใส่ยิปซัมอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดการเกิดเมล็ดลีบ 

5) การป้องกันกำจัดวัชพืช มี 2 ระยะคือ หลังปลูกทันที ในขณะที่ดินมีความชื้น และหลังวัชพืชงอกเมื่อต้นถั่วมีอายุ 15 วัน พ่นสารเคมีได้ทั้งประเภทใบแคบและใบกว้าง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชควรพ่นสารเคมีในขณะที่ดินมีความชื้น

และ 6)การเก็บเกี่ยว เก็บเมื่อสีเปลือกด้านในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเปลือก เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสงช่วงเดือนเมษายน 2564

แปลงที่มีการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตได้ 27 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตถั่วลิสงฝักสดที่ได้เฉลี่ย 716 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรขายถั่วลิสงฝักสดราคา 14 บาทต่อกิโลกรัม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกรได้ 1,494,558 บาท และยังสร้างกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมจะพัฒนาการเรียนรู้โดยปรับจากการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการสนับสนุนการยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสู่การรับรองมาตรฐานการ ปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) มีการส่งเสริมการผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บ้านไผ่งาม หมู่ 4 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแปรูบเป็นผลิตภัณฑ์ OTP ถั่วลิสง ได้แก่ ถั่วอบสมุนไพร ถั่วคั่วทราย ถั่วอบเกลือ และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ผลิตภัณฑ์ถั่วแผ่นทอด ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ 

สำหรับจังหวัดลำปาง ปัจจุบันถือเป็นแหล่งปลูกถั่วลิสงที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ปลูก 4,282 ไร่ เกษตรกรมีการปลูกถั่วลิสง 2 ครั้งในรอบปี ครั้งที่ 1 ปลูกในพื้นที่ดอน (ฤดูฝน) และครั้งที่ 2 ปลูกในพื้นที่ลุ่มหลังการปลูกข้าว (ฤดูแล้ง) นิยมปลูกถั่วลิสงพันธุ์ที่เหมาะสำหรับกะเทาะเปลือก ส่วนใหญ่มีการปลูกพันธุ์ปน ส่งผลให้ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ การเร่งขยายผลผลงานวิจัยภายใต้โครงการเมืองมายโมเดลจึงถือเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน 

ทางด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ผอ.แผนงานวิจัย กล่าวว่า “ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายสำคัญในการให้สวพ.ทั่วประเทศเร่งขับเคลื่อนผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรในทุกมิติถ่ายทอดสู่เกษตรกรและเดินหน้าทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่พร้อมกับจัดเวทีวิจัยสัญจรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีส่วนได้เสียในแปลงไร่นาของเกษตรกร รูปแบบดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ผลงานวิจัยเกิดการขยายผลงานวิจัยและเกิดเครือข่ายการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรไทยในยามวิกฤติ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น