วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สวพ.6 ชู “ท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดล”แก้ปัญหาการปลูกทุเรียนภาคตะวันออก ดันเทคโนโลยีผสมผสานเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่

สวพ.6 ชู“ท่ากุ่ม-เนินทรายโมเดลเทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียนจังหวัดตราด” เดินหน้าขยายในพื้นที่แปลงใหญ่พร้อมเร่งพัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพื้นที่ภาคตะวันออก มุ่งเพิ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพและป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าอย่างยั่งยืน  

 นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออกได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตทุเรียนพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล แต่พบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของเกษตรคือโรครากเน่าโคนเน่าส่งผลให้อัตราการรอดของทุเรียนลดลงและคุณภาพไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะมักพบแพร่ระบาดสร้างความเสียให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตราด สืบเนื่องจากภูมิประเทศมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาสวพ.6ได้นำวิชาการมาส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนการแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบการผลิตในฟาร์มจนถึงการส่งออกผลผลิตในโรงคัดบรรจุ 

ทั้งนี้ไม้ผลส่งออกทุกชนิดโดยเฉพาะทุเรียน ต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำที่แปลงปลูก ต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการคัดบรรจุจึงจะประสบความสำเร็จได้ผลผลิตคุณภาพส่งออกปัจจุบัน สวพ.6 ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากาเกษตรจันทบุรีได้เร่งเดินหน้าขยายผล “โครงการท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดลเทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียนจังหวัดตราด” สู่เกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย อ.เมือง จ.ตราด โดยความร่วมมือจากผู้นำกลุ่มแปลงใหญ่ นายเรือง ศรีนาราง และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดทำการคัดเลือกเกษตรกรนำร่องขยายผลจำนวน 30 ราย ขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนร่วมกับเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กำหนดแผนขับเคลื่อนการขยายผลด้วยการจัดเวทีวิจัยสัญจร วิเคราะห์กลุ่ม พูดคุยหารือแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน จัดหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญตามที่เทคโนโลยีกำหนด นักวิจัยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเป็นรายแปลง เก็บดินวิเคราะห์ธาตุอาหารและจัดกิจกรรมลงแขกผลิตทำเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสดใช้ในแปลงทุเรียนอย่างต่อเนื่อง   

ทางด้านนางสาวเครือวัลย์ ดาวงษ์และนางสาวกมลภัทร ศิริพงษ์ ได้ร่วมดำเนินงานวิจัยขับเคลื่อนโครงการ “ท่ากุ่มเนิน-ทรายโมเดล”กล่าวว่า  กรมวิชาการเกษตรได้ทดสอบและเผยแพร่เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน ตั้งแต่ปี 2542 เกษตรกรได้ปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังพบการแพร่ระบาดของโรคได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค จากการสำรวจแนวทางป้องกันกำจัดโรคของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ตามรายงานการแพร่ระบาดของโรคในปี 2560 – 2561 สามารถสรุปปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ดังนี้ (1) ไม่ได้สำรวจโรคเป็นประจำ มักสังเกตพบอาการเมื่อแผลลุกลามใหญ่ ทำให้การรักษาต้องใช้เวลานานและรักษาได้ยาก (2) ขาดความเข้าใจในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง (3) การประยุกต์ใช้แนวทางป้องกันกำจัดโรคพืชโดยวิธีผสมผสาน พบว่าเกษตรกรไม่ทราบถึงความจำเป็นในการปรับสภาพดินให้ไม่เหมาะต่อการเกิดโรค ไม่ได้สลับใช้ชีวภัณฑ์ร่วมด้วย ส่งผลการควบคุมการเกิดโรคไม่ประสบความสำเร็จ (4) ความรุนแรงของโรครากเน่าโคนเน่าที่เข้าทำลายทุเรียนยืนต้นตายอย่างรวดเร็ว สารเคมีที่แนะนำไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรคได้ เกิดข้อสงสัยประเด็นการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดอื่นรวมกับเชื้อราไฟทอปธอรา ส่งผลให้มีการทดลองใช้สารเคมีหลากหลายชนิดตามความเชื่อของเกษตรกรและใช้ในอัตราที่สูง ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นความต้านทานของเชื้อโรคพัฒนาการดื้อยาในอนาคตได้ จากปัญหาสืบเนื่องดังกล่าว จึงมีความจำเป็นในการจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อถ่ายทอดขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนได้ถูกต้อง และปรับใช้ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเน้นการสำรวจการเกิดโรคเพื่อรักษาได้ทัน จัดการเขตกรรมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานร่วมการใช้ชีววิธี รวมถึงการปรับปรุงสภาพดินและใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าได้อย่างยั่งยืน  


นอกจากดำเนินการขยายผลในพื้นที่จังหวัดตราดแล้ว ยังได้ทำการทดลองในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ  จังหวัดจันทบุรี ระยอง โดยความร่วมมือของทีมนักวิจัย สวพ.6 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรีและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง เริ่มการทดสอบเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ดำเนินการจัดการโรคอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการจัดการโรคแบบผสมผสาน เริ่มจากการจัดการธาตุอาหารให้ทุเรียนแข็งแรงจากการวิเคราะห์ดิน ดินกรดปรับด้วยโดโลไมท์ การเขตกรรมลดการเกิดโรคด้วยการระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังโคนต้นและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลดปริมาณเชื้อราไฟทอปเธอร่าด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกับปุ๋ยหมัก ต้นที่เป็นโรครุนแรงใบเหลืองโทรม ดำเนินการฟื้นฟูระบบรากด้วยการราดโคนต้นด้วยสารเคมีฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80%WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสด อัตรา 100 กรัมเชื้อสด ต่อน้ำ 20 ลิตร กรดฮิวมิค 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และปุ๋ยเกร็ดสูตร 20-20-20 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารทั้ง 4 ชนิดเข้ากันราดให้ทั่วบริเวณรอบทรงพุ่ม ความถี่ทุก 2 เดือน  

ทั้งนี้ เมื่อสภาพต้นเริ่มฟื้นฟู เริ่มมีใบอ่อนจึงลดเหลือการราดเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการรักษาแผลที่โคนต้นด้วยสารเคมีตามอัตราแนะนำ หรือใช้น้ำหมักเปลือกมังคุดรักษาต่อเนื่องจนแผลแห้งเกิดเนื้อไม้ใหม่ ผลการทดสอบเทคโนโลยีช่วงปีแรก (ตุลาคม 2562 - ธันวาคม 2563) ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด รวม 15 แปลง พบต้นทุเรียนที่ดำเนินการตามวิธีแนะนำมีค่าเฉลี่ยความรุนแรงของโรคลดลงกว่าก่อนการทดสอบ จาก 58 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวิธีเกษตรกรที่ไม่ได้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างต่อเนื่องพบค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 53 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคิดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคพบต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดินเพิ่มจากวิธีเกษตรกร  ทั้งนี้จากทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจสามารถลดค่าสารเคมีและชีวภัณฑ์ได้มากกว่า ทั้งนี้ภาพรวมค่าเฉลี่ยต้นทุนการรักษาโรครากเน่าโคนเน่าสูงกว่าวิธีเกษตรกรจาก 14,342 บาท/ไร่ เพิ่มเป็น 15,103 บาท/ไร่ ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ 

ด้านนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8 ผอ.แผนงานวิจัยฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่แปลงใหญ่ เพื่อให้งานวิจัยมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางขึ้น โดยใช้กระบวนการชุมชนมีส่วนร่วม มีการจัดเวทีวิจัยสัญจรให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการและภูมิปัญญา พร้อมกับสร้างเครือข่ายการพัฒนา ในการผลิตทุเรียน พบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีที่ได้จากผลงานวิจัย มีการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ดิน ความสมบูรณ์ของต้นทุเรียน ที่ส่งผลต่อการสร้างความต้านทานของพืชต่อโรครากเน่าโคนเน่า รวมถึงการปรับใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้นำโมเดลดังกล่าวเป็นต้นแบบขยายผล โดยเป็นต้นแบบให้กับแปลงใหญ่ทุเรียนและแปลงใหญ่พืชอื่นๆ ต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น