วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สภาเกษตรกรแห่งชาติลงนามความร่วมมือสร้างความต่างสินค้า ลั่น! “ไม่สีขายจนกว่าจะมีออเดอร์” ข้าวที่ขายต้องสดและใหม่เท่านั้น!!

 


นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการประมูลข้าวกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายรัตนะ  สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับ บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด โดย นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการ ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด ด้วยเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายคืออยากเห็นการปรับตัวของเกษตรกรและบุคลากรด้านการเกษตรมีความรู้เรื่องข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรือตลาดออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้าการลงนามครั้งนี้นั้นได้มีการทดลองปฏิบัติการร่วมกันระยะหนึ่งกับกลุ่มชาวนาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และนครศรีธรรมราชมาแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี และอยากขยายผลสำเร็จออกไปจึงลงนามความร่วมมือกันเพื่อทำให้ตลาดสินค้าข้าวออนไลน์ได้กระจายออกไปให้กว้างขวางเป็นที่ประจักษ์ ด้วยข้อตกลงตรงกันว่า “ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกจะยังไม่สีจนกว่าจะมีออเดอร์เข้ามา เพราะเราอยากเห็นผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่สีใหม่และสด” ไม่สีเก็บ การันตีสินค้าไม่มีมอดหรือแมลงปนเปื้อน สินค้าข้าวจะเป็นสินค้านำร่องแล้วจะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพราะอยากจะเห็นการปรับตัวของเกษตรกรไทยให้ใช้งานจากระบบดิจิทัลได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการประกอบอาชีพของตนเองรวมถึงการตลาดด้วย ในข้อตกลงจะมีการพัฒนาบุคลากรของสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดเพื่อนำความรู้ไปกระจายถ่ายทอดต่อเกษตรกร เมื่อเกษตรกรมีความรู้และปฏิบัติการได้แล้วก็จะสามารถกระจายถ่ายทอดต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรข้างเคียงให้ได้รู้และเข้าใจด้วยเช่นกัน 


     เราต่างก็ฝันว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเกิดการปรับตัวในเรื่องของการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ภาคการเกษตรให้มากขึ้น พี่น้องเกษตรกรจะได้มีความรู้เรื่องดิจิทัลให้มากขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ลูกหลานพี่น้องเกษตรกรก็กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เยอะ จะได้ถือโอกาสนี้ปลูกฝังให้มีความร่วมมือกันในการพัฒนาเรื่องระบบดิจิทัลในการผลิต ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร Big Data เรื่องการจัดการ การผลิต การตลาด  ถือเป็นเรื่องดีเป็นก้าวแรกที่เราได้เริ่มขยับขยาย  ที่จริงนั้นสินค้าเกษตรนั้นขายออนไลน์มามากแล้วแต่ส่วนใหญ่ก็จะขายผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ แต่ครั้งนี้เรามีแอปพลิเคชันของเราเอง ความคล่องตัวก็จะมากขึ้น ที่สำคัญก็คือเราขายสินค้าเกษตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีคอมมิชชั่น เพราะทั้งหมดจะโอนเงินผ่านศูนย์กลางแล้วกระจายไปถึงพี่น้องชาวนาเลย  นอกจากนี้ชาวนาทุกคนก็พร้อมใจกันนำเงินจากการขายส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนเล็กๆเพื่อจะเอามาบริหารกันเอง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นรวมทั้งมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆเพราะเชื่อว่าทุกคนพยายามดิ้นรนที่จะพึ่งตนเองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้อยู่รอดในทุกสภาวการณ์ ” นายประพัฒน์  กล่าว 


 ขณะที่ นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด (SE ปากพนัง) กล่าวเสริมว่า บ.SE ปากพนัง วิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ด้วยเจตนารมณ์และแนวทางที่ชัดเจนว่าเราทำงานเพื่อสังคม 100% จะไม่มีการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น กำไรจากการประกอบการจะนำไปจัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และกองทุนพัฒนาสวัสดิการนักจัดการตลาดชุมชน พัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนาสร้างระบบสวัสดิการให้กับทั้งฝ่ายคนผลิตและฝ่ายผู้บริโภค ระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนา คือ การสร้างและจัดความสัมพันธ์ใหม่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชาวนา ผู้บริโภค และภาคีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ข้าวให้มีความเป็นธรรม เพื่อให้ชาวนา ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบระบบตลาดแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ชาวนาซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนทรัพยากรปัจจัยสี่ ปัจจัยการผลิตระหว่างกัน รวมทั้งผู้บริโภคที่ประกอบอาชีพอื่นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการตลาดแบบใหม่  ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจข้าวและชาวนาจะได้ตระหนักถึงการ “อยู่ได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา”    


โดยระบบนิเวศนี้จะเริ่มจาก ครัวเรือน องค์กร กลุ่มชาวนา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรระดับนโยบาย เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่วนราชการและภาคเอกชนทุกข้อต่อในห่วงโซ่เศรษฐกิจข้าว ทุกระดับจากแปลงนาจนถึงประชาคมโลก ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่ SE ปากพนัง พัฒนาขึ้นในนามของคนไทยดอทคอม หรือ www.konnthai.com  เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ทั้งการจัดการระบบงานทั้งหน้า-หลังร้าน ขายผ่านระบบแอปพลิเคชัน ANT ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้ระบบนิเวศเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้น โดยเกษตรกรจำเป็นต้องสร้างระบบข้อมูลครัวเรือน การเพาะปลูก การตลาดซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกได้เองในแพลตฟอร์มและอยู่ภายใต้กฎหมาย PDPA และเป็นข้อมูลเพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ค้าส่ง โรงสี โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น สามารถรู้ข้อมูลรายครัวเรือนล่วงหน้าเพื่อวางแผนการจัดการรวมทั้งความชัดเจนเรื่องการตลาดของข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เน้นเป็นข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ รวมทั้งคุณภาพทางวิทยาศาสตร์จะมีรายงานเป็นรายแปลงให้ ซึ่งข้อนี้ผู้ประกอบการจะไม่เคยไม่รับข้อมูลมาก่อน เช่น ข้าวพันธุ์ปน สิ่งเจือปน ความชื้น การวิเคราะห์-วิจัย ก่อน-หลังเก็บเกี่ยว เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาประมูล ตกลงราคา จับคู่ซื้อขาย  โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าแพลตฟอร์มได้ฟรี แต่จะมีเงื่อนไขเรื่องค่าธรรมเนียมในกรณีเมื่อตกลงซื้อขายในราคาสินค้าล็อตใหญ่และจะโอนคืนกลับให้เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวง และรับประกันคืนเงินหากสินค้ามีปัญหา



SUN เปิดกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน ดันไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) สู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตร

 


บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “KC” มุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) สู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร เตรียมจัดกิจกรรมเปิดไร่ตะวันหวาน (Open house) ในวันที่ 9 กันยายน 2565 


นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้ปริมาณและคุณภาพตามคาดหวัง อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพมากขึ้น ในปี 2564 บริษัทจึงได้ริเริ่มโครงการไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บนพื้นที่กว่า 1,074 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิต และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน สนับสนุนความรู้และการเข้าถึงทรัพยากรของเกษตรกร ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะสู่การเกษตรแม่นยำ และยกระดับศักยภาพของภาคการเกษตรของไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล 


ปัจจุบัน ไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพาะปลูกอย่างแม่นยำ เช่น Drone เพื่อการเกษตร, เทคโนโลยี loT Sensor, รถปลูกและรถเก็บเกี่ยว และ Application ทางการเกษตร เป็นต้น และเริ่มพัฒนาการปลูกวัตถุดิบ ข้าวโพดหวาน ถั่วลายเสือ ผักเกษตรปลอดภัย และพืชมูลค่าสูงอื่น ๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ตอบโจทย์ในการแปรรูปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งหวังพัฒนาไร่ตะวันหวาน ให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางการเกษตร และอบรมบ่มเพาะด้านการเกษตร ที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร และมุ่งสู่การเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 กันยายน 2565 บริษัทได้เตรียมจัดกิจกรรมเปิดไร่ตะวันหวาน (Open house) ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงพระพิรุณ การประกวดข้าวโพดหวาน สาธิตการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และให้ความรู้ด้านการปลูกข้าวโพดหวานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมมากกว่า 300 ราย นอกจากนี้ ยังมีองค์กรพันธมิตร ร่วมนำข้อมูลองค์กรจัดแสดงและให้ความรู้ในงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหาร และยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้เติบโตต่อไป

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สมาคมหมูวอนรัฐ แก้ปัญหาลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนทะลักจากต่างประเทศ หลังพบหมูกล่องราคาต่ำกระจายตามร้านหมูกระทะอื้อ หวั่นกระทบเกษตรกรในประเทศ

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการแถลงข่าวร่วมกับ นายกสมาคมสุกร 4 ภาค เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ จำนวนมากจนอาจส่งผลกระทบผู้เลี้ยงสุกรในประเทศระยะยาว 

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าสังเกตการณ์ การกระทำผิดมาสักระยะหนึ่ง ของเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพบว่ามีขบวนการลักลอบการนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนหรือที่เรียกว่าหมูกล่องอย่างเปิดเผย โดยพบว่ามีการจำหน่ายเนื้อสุกร ราคาถูกกว่าปกติ โดยคาดว่ามีหมูกล่องราคาถูกที่นำไปขายในตลาดหมูกระทะกว่าร้อยละ 80-90 แม้กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงต้องเรียกร้องให้ภาครัฐเอาจริงกับการปราบปรามการลักลอบการนำเข้า โดยภาครัฐควร ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์  และกรมการค้าภายใน ควรจะเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพราะปัจจุบันเราส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงและมีบางส่วนเสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะ ASF ที่เกษตรกรกำลังเริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ เราจะปล่อยให้มีการลักลอบต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อตลาดสุกรในประเทศโดยปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโรค ASF ในสุกรเริ่มคลี่คลาย และหากยังมีการลักลอบนำเข้าอาจทำให้เนื้อสุกร ที่ติดเชื้อเข้ามามีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง 


ทั้งนี้เกษตรกรยังมีปัญหาภาวะต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุน ในไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-101 บาทต่อกิโลกรัม  


นอกจากนี้ผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้นปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยได้จึงขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 


ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เท่าที่มีการตรวจสอบพบว่าขณะนี้มีการลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศกว่าเดือนละ 1,000 ตู้(ตู้ละ 25 ตัน) เข้ามาตีตลาดไทยซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก และไม่ทราบว่าใครเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะประกาศชัดเจนไม่ให้มีการนำเข้า แต่มีขบวนการลักลอบนำเข้าโดยมีการสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อลักลอบในการนำเข้าจำนวนมาก และถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในระบบอีก เพราะไทยเราเริ่มคุม ASF ได้แล้ว เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นมีการวางจำหน่ายแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ตามรายงานจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) ยืนยันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ว่ามีการระบาดของ ASF ที่เยอรมัน ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่เขาต้องทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ หากปล่อยให้อยู่ในระบบก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้ง Supply ส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อเชื้อได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด 

ด้าน นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้ มีราคาที่ต่ำกว่าราคาในบ้านเรามาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านเราที่ยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ในขณะที่ข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย ดังนั้นเนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ  ASF ทั้งหมด ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจจากหน่วยชันสูตรโรคสัตว์กลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเชื้อ ASF ในเนื้อหมูทั้งหมดจาก 3 ตัวอย่าง จากที่ขายลดราคาในตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ  ช่วง 12-19 กุมภาพันธ์ 2565 และเก็บตัวอย่างห้างชานเมือง กรุงเทพฯ ตรวจพบ 3 จาก 4 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนเมายน 2565  และครั้งที่ 3 เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรจากห้างย่านสุขุมวิท  ตรวจพบ 8 จาก 20 ตัวอย่าง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด  


ดังนั้น “หมูกล่อง” ที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศ ที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า “ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้ วันนี้เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน” 

ด้าน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นปี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ตั้งแต่อีสานเหนือ จนถึงอีสานใต้เพื่อแนะนำให้เกษตรกรที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ที่ร่วมสัมมนาได้รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกวิธี และถ้าหากยังมีการปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้า เนื้อสุกรที่มีเชื้อโรคเข้ามาอาจทำลายขบวนการเลี้ยงสุกรได้โดยประเมินได้ว่ามีเกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ฯลฯ ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูง เช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายของเชื้อในเนื้อหมูนี้มากเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่  


สำหรับแนวทางแก้ไขผมเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น 

ด้าน นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า “ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัวต่อวัน โดยปี 2564 มีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วจากพื้นที่อื่นประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ปรากฎว่าเดือนมกราคม ปี 2565  ซากสุกรที่เชือดแล้วมีถึง 8 ล้านกิโลกรัม  ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลงประมาณ 30-50% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว  ถึงแม้การกลับเข้าขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ 

จึงเป็นข้อสงสัยกว่าหมูเกือบไม่เหลือแล้ว ทำไมในตลาดจึงมีจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ร้านจำหน่ายปลีกหมูของโบรกเกอร์รายหนึ่งมีการโฆษณาราคาส่วนสะโพกกิโลกรัมละ 150 บาท หัวไหล่ 135 บาท เมื่อตรวจที่บรรจุภัณฑ์ระบุปีผลิต 2020 เป็นหมูตกค้างเกรงว่าจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน 

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับทางสมาคมฯ เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้นิ่งนอนใจจากข้อมูลที่ได้รับ ตนจะนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมปศุสัตว์จะร่วมมือกับกรมศุลกากร  กรมการค้าภายใน เพื่อร่วมกันทำงานแบบบูรณาการณ์ และยืนยันว่าที่ผ่านมา มีการประกาศชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศมาโดยตลอด และหากตรวจพบก็จะมีการยึดอายัดและทำลายทันที ซึ่งจากนี้ไปคงจะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกด่านเข้มงวดในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565

จี้กรมประมงเข้มงวดห้องเย็น...รับซื้อกุ้งในประเทศให้หมดก่อนนำเข้า

 


ฤดูฝนมาครั้งใด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องคอยระมัดระวังและดูแลผลผลิตเป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่อัตราเสียหายสูง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงไปในบ่อส่งผลต่อค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ทำให้กุ้งกินอาหารลดลง ซึ่งปกติกุ้งจะกินอาหารได้ดีที่อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ในช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำในบ่อจะมีอุณหภูมิลดลง กุ้งจะกินอาหารน้อยลงจึงโตช้า เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งขายเพื่อลดความเสี่ยง ผลผลิตกุ้งจึงไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ  ส่งผลให้ราคาอ่อนลงเป็นวัฏจักร


ช่วงเวลานี้ นับเป็น ”นาทีทอง” ของห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่จะซื้อกุ้งเก็บเป็นสต๊อก เพื่อบริหารต้นทุนให้เหมาะสมและสนับสนุนการผลิตในช่วงที่ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อย เพื่อช่วยพยุงราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป แทนการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิต


ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ซึ่งมีนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธาน ประกาศประกันราคาขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไมขนาดต่างๆ พร้อมเงื่อนไขรับซื้อและความต้องการวัตถุดิบกุ้งของโรงงาน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการรับซื้อไปจนถึงสิ้นปี 2565 ตลอดจนรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร โดยเกณฑ์ราคาประกันอยู่ระหว่าง 119-180 บาท/กก. ตามขนาดกุ้ง 100-30 ตัว/กก. อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่สูงมากเพราะเป็นการคำนวณจากต้นทุนการผลิตในปี 2562 อาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรในปัจจุบัน


สำคัญที่สุด กรมประมงต้องจับตาใกล้ชิดและเข้มงวดอย่าให้มีผู้ซื้อตุกติก ดึงเวลาชะลอการซื้อกุ้ง รอราคาลงต่ำมาเท่ากับราคาประกันจึงเข้าซื้อ หรืออาจกดราคาต่ำกว่าได้อีก เพราะรู้ดีว่ามีแต้มต่อเหนือเกษตรกร ยิ่งช่วงนี้ฝนชุกมากเกษตรกรยิ่งเร่งจับกุ้งขาย กุ้งจับมาแล้วไม่มีที่เก็บราคายิ่งตกต่ำ ทำให้จำเป็นต้องขายในราคาถูก ดีกว่าขายไม่ได้


สำหรับฟาร์มที่จะขายกุ้งในโนโครงการประกันราคาขั้นต่ำกุ้งได้นั้น กุ้งต้องผ่านคุณภาพต่างๆ เช่น ต้องไม่มีหางไหม้ เนื้อน้ำตาล เปลือกหลุด ตัวนิ่ม กุ้งพิการ กุ้งผอม ไม่เกิน 5% และต้องมีผลตรวจสารตกค้าง 3 รายการ ได้แก่ Nitrofurans Fluoroquinolone และ Tetracycline ณ วันจับกุ้ง ให้กับโรงงาน ซึ่งห้องเย็นและโรงงานแปรรูปย้ำว่าเป็นราคารับซื้อที่ปากบ่อ และต้องได้คุณภาพกุ้งสวย สด และได้ขนาดตามต้องการ ซึ่งเงื่อนไขนี้เกษตรกรรายเล็กอาจจะหมดโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการรับซื้อจากเกษตรกรในราคาสูง เพื่อหันไปนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูก


สำหรับผู้ซื้ออย่างห้องเย็นและโรงงานแปรรูป Shrimp Board อนุมัติให้นำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียในปริมาณ 10,000 ตัน เพื่อให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปมีวัตถุดิบเพียงพอเลี้ยงระบบการผลิตและส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด โดยต้องซื้อกุ้งในประเทศในราคาประกันที่ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด หากแต่เกษตรกรมีความกังวลว่าการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว และไม่ตอบโจทย์เป้าหมายการทวงแชมป์โลกกุ้งส่งออกของไทยที่มีเป้าหมายการผลิต 400,000 ตัน ปี 2566


ดังนั้น Shrimp Board ควรกำหนดเงื่อนไขให้ห้องเย็นรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรจนหมด ก่อนพิจารณาให้นำเข้าเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรหลักหลายรายการ ที่รัฐบาลกำหนดรูปแบบการนำเข้าในลักษณะโควต้า หรือส้ดส่วนการนำเข้าระหว่างซื้อผลผลิตในประเทศ จึงจะสามารถนำเข้าได้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพราคาให้เกษตรกร เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรลงกุ้งรอบใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว


ความกังวลของผู้เลี้ยงกุ้งไทยขณะนี้ คือ ห้องเย็นอาจใช้กลยุทธ์ชะลอการรับซื้อกุ้ง เป็นการดึงราคาในตลาดให้ต่ำลงเท่ากับราคาประกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และรอจังหวะนำเข้า จะทำให้ได้ต้นทุนต่ำ 2 เด้ง กรมประมงจึงจำเป็นต้องดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อ ที่สำคัญกรมฯ ควรมีมาตรการจูงใจที่เป็นรูปธรรมให้กับเกษตรกรในการลงกุ้งรอบใหม่ เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง


Shrimp Board ยังรายงานสถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลไทยช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 ว่ามีผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงรวม 138,733 ตัน (เป็นกุ้งขาวแวนนาไม 93.06%) แสดงให้เห็นว่าการผลิตกุ้งของไทยฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้น และมีเป้าหมายการผลิตที่ 320,000 ตัน ภายในสิ้นปีนี้ และ 400,000 ตันในปี 2566 ซึ่งในระยะกลางและระยะยาว ผู้เลี้ยงกุ้งต้องการเห็นภาครัฐยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่มีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม มีงานวิจัยสนับสนุนการทำฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาพ่อ-แม่พันธ์กุ้งคุณภาพดี ต้านทานโรคสูง เพื่อเพิ่มอัตรารอดของกุ้งให้สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สู่ความสำเร็จในการทวงคืนแชมป์โลกและรักษาสถานะได้อย่างยั่งยืน

รายงานข่าวโดย ศิระ มุ่งมะโน

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สนง.ปศุสัตว์มุกดาหาร จับมือ สมาคมฯ-ชมรมฯ หมูอีสาน จัดสัมมนาสัญจร ให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรับมือ โรคระบาด “หลังเว้นวรรค เตรียมความพร้อมอย่างไร ให้ปลอดภัย AFS”

 


เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายพิภพ เพียรวิเศษ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานเปิดงานการจัดงานสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 10/2565 ในหัวข้อ “หลังเว้นวรรค...เตรียมความพร้อมอย่างไร...ให้ปลอดภัย AFS” โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมี นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางวัชรี จันทรสาขา ผอ.กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร  ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ กลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกร มากกว่า 200 รายให้การต้อนรับ และเข้าร่วมสัมมนา 


ทั้งนี้ นายพิภพ เพียรวิเศษ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า นโยบายกรมปศุสัตว์กับการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสุกรปี 2565 ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสุกร โดยเล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวจังหวัดมุกดาหาร จากปัญหาโรค AFS จึงเร่งให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดและ เพื่อให้เกษตรกรที่เคยประสบปัญหา ได้กลับมาเลี้ยงใหม่ได้โดยเร็ว เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน 


ขณะที่ นางวัชรี จันทรสาขา ผอ.กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่รบาดโรค AFS ที่เกิดขึ้นในประเทสจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้สุกรมีชีวิตในประเทศมีปริมาณลดลงและมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ราคาสุกรชำแหละมีราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้มีมาตรการคุมเข้มห้ามส่งออกสุกรเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม-5 เมษายน 2565 และมีการกำหนดมาตรการควบคุมปริมาณสุกร และราคาจำนวน 3 ฉบับ ในส่วนของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของค่าครองชีพ เช่น จัดโดครงการหมูพาณิชย์ จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 150 บาท/กิโลกรัม แก้ปัญหาในเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน โดยการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อนำมาชดเชยส่วนที่ขาดในประเทศ ดังนั้นต้องยอมรับว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นบางส่วน จึงเป็นที่มาของการผ่อนปรนลดภาษีนำเข้าเพื่อไม่ให้ต้นทุนอาหารสูงขึ้น แล้วไม่ไปขึ้นราคาจนกระทบต่อผู้บริโภค 


 ด้าน ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการแพร่อีกครั้งเกษตรกรควร จะต้องมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในการป้องกันการระบาดที่เกิดขึ้น โดยต้องเลี้ยงตามกำลังที่มีอยู่ และการดูแลสุกรที่เลี้ยงเป็นพิเศษมากขึ้น ซึ่งจะเน้นเลี้ยงเฉพาะสายพันธุ์ในประเทศ เพราะสุกรที่รอดมาจากระบาด ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดีมากกว่าที่แหล่งอื่น โดยห้ามนำเข้าลูกสุกรจากแหล่งอื่นมาเลี้ยงโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ เกษตรกรควรวางระบบการเลี้ยงดูโดยเน้นด้านสุขอนามัยเป็นหลัก ซึ่งก่อนเข้าไปในฟาร์มจะต้องมีการฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม เชื่อว่าหากร่วมมือกัน และเฝ้าระวังมากขึ้น จะทำให้อาชีพการเลี้ยงสุกรในประเทศ กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน โดยเชื่อว่า ปี 2565 และปี 2566 ราคาสุกร ยังจะมีราคาดี อย่างแน่นนอน 



อย่างไรก็ตามการจัดสัมมนาครั้งนี้ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว ขอขอบคุณหน่วยงานราชการ ภาครัฐและภาคเอกชน ผู้สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ เกษตรกรผู้เข้าร่วมงาน และเป็นกำลังใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย และรายกลางทุกท่าน ขอให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน







วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รัฐบาลลำเอียง อุ้มกุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย อาละวาดรุมทำร้ายกุ้งไทย


 สดับข่าว กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เปิดบ้านต้อนรับกุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ในเร็วๆนี้ ทำให้นึกถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ยุติธรรม “ลำเอียง” ซึ่งวันนี้ขอใช้กับรัฐบาลไทยที่ใส่ใจ “คนนอก” มากกว่าคนไทย จากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่ารัฐบาลเลือกทิ้งผู้เลี้ยงกุ้งไทย ให้เผชิญโชคชะตาตามลำพัง

 

สำนักข่าวต่างประเทศออกข่าวอ้างรัฐบาลเอกวาดอร์ ว่า ประเทศไทยจะนำเข้ากุ้งของเอกวาดอร์อีกครั้งจาก 36 ฟาร์ม หลังจากที่ทั้งไทยและเอกวาดอร์ กำหนดมาตรการความปลอดภัยและความปลอดภัยทางชีวภาพในขั้นตอนการส่งออก ทั้งที่เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ยังปิดประตูห้ามนำเข้าเข้มแข็ง

 

ผู้เลี้ยงกุ้งไทย เหมือนถูกทิ้ง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประกาศกลยุทธ์ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ 400,000 ตัน สร้างมูลค่าและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น มุ่งสร้างความสามารถแข่งขันส่งออก แต่ที่ผ่านมานโยบายประกาศมาเป็นปีแล้ว “กรมประมง” ที่รับผิดชอบโดยตรงเดินหน้าช้ากว่าเต่า ที่จะพัฒนาเกษตรกรให้เดินหน้าตามเป้าหมาย ไม่มีแนวทางการเลี้ยงที่ชัดเจนโดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคกุ้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ดันให้โอกาสกุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งไทยเข้ามาดั๊มพ์ราคาถึงในประเทศ “ชักศึกเข้าบ้าน” เพื่อประโยชน์ของใคร ที่สำคัญการนำเข้าไม่ใช่เฉพาะกุ้ง แต่อาจจะรวมถึงโรคที่มีอยู่แล้วและโรคอุบัติใหม่แถมด้วย

 

ขณะที่การผลิตกุ้งไทยตอนนี้ เกษตรกร 40,000 กว่าราย ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง ทั้งเรื่องโรคระบาดกุ้งและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผลักดันวัตถุดิบอาหารและต้นทุนพลังงานให้สูง  รวมถึงโครงการสินเชื่อที่รัฐบาลประกาศว่าจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาการเลี้ยงอย่างยั่งยืน ถึงตอนนี้ กรมฯ ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนแต่อย่างไร

 

ยิ่งช่วงเวลานี้ที่กุ้งไทยเนื้อหอม ต่างประเทศต้องการมาก ทำให้ราคาสูงแต่ผลผลิตน้อย ยิ่งทำให้เกษตรกรต้องป้องกันโรคกันสุดฤทธิ์ เพื่อรักษาโอกาสการส่งออกและมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่โดนทำร้ายโดยนโยบายเปิดนำเข้ากุ้งของภาครัฐ ทำให้เกิดคำถามว่าในวันที่เราเดือดร้อนทั้งเอกวาดอร์และอินเดียจะยื่นมือมาช่วยเหลือเป็นการตอบแทนหรือไม่ หรือผลักไสเราอย่างไม่ใยดี ขณะที่ไทยเสนอหน้าให้โอกาสเขาโดยไม่ได้ร้องขอแบบนี้ เรียกว่า “ลำเอียง” เพียงพอไหม อยากให้รัฐบาลใส่ใจปากท้องคนไทยและผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่านี้ 


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 กรมประมง ออกโรงในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ที่มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการทุกประการ นอกจากนั้นยังให้ผู้แทนจากห้องเย็นร่วมตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องที่มาของเป้าหมาย 400,000 ตัน คือมาจากการประเมินสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอาหารแช่เยือกแข็งและกำลังการผลิตของเกษตรกร และให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า การนำเข้ากุ้งจะช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องนำเข้าในราคาถูกเพื่อเฉลี่ยต้นทุนและนำมาซื้อกุ้งไทยในราคาที่สูงขึ้น การนำเข้ามีผลกับราคากุ้งในด้านบวกทำให้บวกราคาซื้อกุ้งไทยได้มากขึ้น การกดราคาทำให้เกษตรกรเลี้ยงน้อยลง...แปลกที่ 1

 

ที่แปลกกว่า คือ Shrimp Board แต่งตั้งเร่งด่วนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลเอกวาดอร์ประกาศผ่านสื่อฯ จะเริ่มส่งออกช่วงปลายเดือนเมษายน ..ประดุจว่าตั้งมาเพื่อการอนุมัตินำเข้าทันที กรมฯควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย 

 

หากไม่อยากเจอจุดจบ ก็ควรมีการตรวจสอบความโปรงใสของคณะกรรมการกุ้งชุดนี้ ว่าทำงานภายใต้หลักธรรมภิบาลอย่างแท้จริง เพราะกระทรวงเกษตรฯ ยังเป็นเจ้าภาพหลักอีก 2 คณะกรรมการสำคัญระดับประเทศ คือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Board และคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ที่สร้างประโยชน์ส่วนรวมให้ทั้งเกษตรกรและประเทศไทย ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและคนไทย...รัฐบาลอย่าอุ้มชูกุ้งจากประเทศอื่นมาฉวยประโยชน์จากความเป็นไทยโดยเด็ดขาด

 

อัปสร พรสวรรค์ รายงานข่าว 

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

SUN แถลงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 รายได้โตตามแผน เร่งปรับตัวรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก

 


บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ รายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “KC” ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 รายได้ยังโตต่อเนื่อง แม้กำไรจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และแรงกดดันในห่วงโซ่อุปทานจากวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมประกาศเดินเกมรุกครึ่งปีหลัง หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม ตอกย้ำคุณภาพสินค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เดินหน้าขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUN เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2/2565 บริษัทมีรายได้ 893 ล้านบาท เติบโต 27%QoQ ทำรายได้สุงสุดใหม่ (New High) จากอุปสงค์ความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับงวด 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 มีรายได้ 1,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากงวดเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 56 ล้านบาท ซึ่งสามารถทำผลงานออกมาได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้มีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูงขึ้น จากราคาบรรจุภัณฑ์ ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามบริษัทได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ และเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการบริหารต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น 

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินงาน บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารปลอดภัยที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับองค์กรและเพิ่มคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและรองรับลูกค้าใหม่ได้อย่างทั่วถึง โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีความเหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบและออเดอร์ที่เข้ามา อาทิ เครื่องฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูงแบบต่อเนื่อง (Hydrolock), เครื่องตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนด้วย X-Ray และ โครงการ Big Can Packing Automation Line เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังมีการตรวจสอบคุณภาพโดยใช้นโยบาย Unannounced Audit Policy เป็นเครื่องมือใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร เสริมสร้างความแข็งแกร่งของมาตรฐานสินค้าอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2565 ได้รับสัญญาณที่ดีจากความต้องการสินค้าข้าวโพดหวานแปรรูปในตลาดโลกที่สูงขึ้น หลายประเทศฟื้นจากสถานการณ์โควิด และเริ่มเปิดการค้ามากขึ้น รวมถึงความต้องการด้านอาหารปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้การส่งออกไทยดีขึ้น ทั้งนี้บริษัทยังมุ่งเน้นการขยายตลาดต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าใหม่ ใน Middle east รวมถึงเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดในประเทศ โดยเพิ่มสินค้าในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Read to Eat) ภายใต้ตราสินค้า KC จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ สร้างการรับรู้แบรนด์ เพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้ตามเป้าหมาย คาดยอดขายมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 10-15%

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กรมประมง ไร้แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทย แต่อนุมัตินำเข้ากุ้งนอก

 


เกษตรกร สิ้นหวัง “กรมประมง” ไม่คืบหน้าแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้ง  ปล่อยเกษตรกรเผชิญโรคระบาด ขาดเงินทุนหมุนเวียน บั่นทอนความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก ซ้ำอนุมัติให้ห้องเย็นนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียกว่า 10,000 ตัน ไปแปรรูปสรวมสิทธิ์กุ้งไทยส่งออก ทำลายภาพลักษณ์ผู้ผลิตอาหารมั่นคงและปลอดภัย

 การอนุมัตินำเข้ากุ้งครั้งนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยแพร่หลายหรือแจ้งแก่สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ กรมประมงเพียงออกประกาศ กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้นำเข้าซากกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ออกโรงแถลงข่าวยอมรับว่ากรมประมงจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียได้แล้วเป็นเรื่องจริง ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board)

 ทั้งนี้ จะนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย โดยหลังประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยลดลงอย่างมาก เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของไทยในเวทีโลก โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ–ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ 


นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา กล่าว การนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไข แต่ไม่ใช่เกษตรกรทั่วประเทศได้ประโยชน์ และมีผลทำให้ราคากุ้งในประเทศลดลง เพราะขณะนี้กุ้งในประเทศราคาดีเนื่องจากผลผลิตน้อย การนำเข้าจึงเป็นการบิดเบือนกลไกราคา และยังเสี่ยงมีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต

 

นอกจากนี้ การนำเข้าวัตถุดิบภายใต้ “คลังสินค้าทัณฑ์บน” (Bonded Warehouse) เป็นการนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ผลิตเพื่อการส่งออก 100% และเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและส่งออก แต่เป็นการทำลายภาพลักษณ์กุ้งส่งออกของไทย เพราะที่ผ่านมาสินค้ากุ้งของไทยเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบ 100% (Local Content) ซึ่งเป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยของกุ้งไทยและได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งชั้นนำของโลกด้านคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลกมาแล้ว

 

“อยากให้กรมประมง ให้ความสำคัญกับ เรื่องที่สัญญาไว้กับเกษตรกร คือ การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 เพื่อทวงแชมป์โลกลับมา เพราะจนถึงขณะนี้เกษตรกรยังไม่รับทราบหรือรับรู้ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูแต่อย่างไร ที่สำคัญทั้งสองประเทศไม่เคยให้นำเข้ากุ้งจากประเทศไทย ทั้งที่เคยมีการเจรจากัน” นายอักษร กล่าว 


นายอักษร กล่าวต่อว่า ผู้เลี้ยงกุ้งเจอปัญหาโรคระบาดมาเป็นเวลานาน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมาแก้ปัญหา รวมถึงข้อเสนอที่ต้องการให้กรมฯ พัฒนาแนวทางหรือการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรทุกกลุ่มก็ยังไม่เคยมีการนำเสนอ ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

 “กรมฯ ควรจริงจังในการขับเคลื่อนเป้าหมายผลิตกุ้ง 400,000 ตัน โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาพัฒนาที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับในระดับโลก ก่อนที่การนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตตลอดไป" นายอักษร กล่าวย้ำ

 สำหรับคาดการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยปี 2565 จะอยู่ที่ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 280,000 ตัน ในปี 2564 เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รัฐบาล หมดท่าปล่อยนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์และอินเดีย ทำร้ายเกษตรกร

 


 กรมประมง อ่อนยวบเปิดนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียกว่า 10,000 ตัน ทั้งที่ยืนกรานปกป้องผลประโยชน์ประเทศมานานกว่าปี หวั่นทำลายแรงจูงใจเกษตรกรเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจไทยแน่นอน 

นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา กล่าวว่า เกษตรกรประหลาดใจกับการตัดสินใจของกรมประมงในครั้งนี้มากที่อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่ผ่าน กรมฯ ปกป้องเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากกุ้งที่นำเข้าจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต  

"เกษตรกรขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ทบทวนนโยบายการนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศนี้อีกครั้ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับในระดับโลก ก่อนที่การนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตตลอดไป" นายอักษร กล่าวย้ำ 

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันกุ้งทะเลที่มาจากการเพาะเลี้ยงที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ต้องมาจากแหล่งผลิตต้นทางที่มีระบบควบคุมโรคและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด 

นายอักษร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด ทั้งมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดยเฉพาะด้านการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP (Good Aquaculture Practice) และมาตรฐานสากล รวมถึงการเจาะตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก นอกจากนี้ การนำกุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปบรรจุใหม่ และนำไปส่งออกขายต่างประเทศในนามประเทศไทย อาจกระทบภาพลักษณ์กุ้งคุณภาพดีของไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกมายาวนาน 

“เป็นเรื่องที่ช็อกเกษตรกรมากที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ากุ้ง ทั้งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ระงับการนำเข้ามาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรมุ่งมั่นพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยมีราคาเป็นแรงจูงใจในการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หากมีการนำเข้ากุ้ง จะทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ ทำลายภาคการผลิตของเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายอักษร กล่าว 

สำหรับคาดการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยปี 2565 จะอยู่ที่ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 280,000 ตัน ในปี 2564 เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก