วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สมาคมหมูวอนรัฐ แก้ปัญหาลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนทะลักจากต่างประเทศ หลังพบหมูกล่องราคาต่ำกระจายตามร้านหมูกระทะอื้อ หวั่นกระทบเกษตรกรในประเทศ

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการแถลงข่าวร่วมกับ นายกสมาคมสุกร 4 ภาค เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ จำนวนมากจนอาจส่งผลกระทบผู้เลี้ยงสุกรในประเทศระยะยาว 

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าสังเกตการณ์ การกระทำผิดมาสักระยะหนึ่ง ของเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพบว่ามีขบวนการลักลอบการนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนหรือที่เรียกว่าหมูกล่องอย่างเปิดเผย โดยพบว่ามีการจำหน่ายเนื้อสุกร ราคาถูกกว่าปกติ โดยคาดว่ามีหมูกล่องราคาถูกที่นำไปขายในตลาดหมูกระทะกว่าร้อยละ 80-90 แม้กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงต้องเรียกร้องให้ภาครัฐเอาจริงกับการปราบปรามการลักลอบการนำเข้า โดยภาครัฐควร ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์  และกรมการค้าภายใน ควรจะเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพราะปัจจุบันเราส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงและมีบางส่วนเสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะ ASF ที่เกษตรกรกำลังเริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ เราจะปล่อยให้มีการลักลอบต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อตลาดสุกรในประเทศโดยปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโรค ASF ในสุกรเริ่มคลี่คลาย และหากยังมีการลักลอบนำเข้าอาจทำให้เนื้อสุกร ที่ติดเชื้อเข้ามามีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง 


ทั้งนี้เกษตรกรยังมีปัญหาภาวะต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุน ในไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-101 บาทต่อกิโลกรัม  


นอกจากนี้ผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้นปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยได้จึงขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 


ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เท่าที่มีการตรวจสอบพบว่าขณะนี้มีการลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศกว่าเดือนละ 1,000 ตู้(ตู้ละ 25 ตัน) เข้ามาตีตลาดไทยซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก และไม่ทราบว่าใครเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะประกาศชัดเจนไม่ให้มีการนำเข้า แต่มีขบวนการลักลอบนำเข้าโดยมีการสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อลักลอบในการนำเข้าจำนวนมาก และถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในระบบอีก เพราะไทยเราเริ่มคุม ASF ได้แล้ว เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นมีการวางจำหน่ายแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ตามรายงานจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) ยืนยันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ว่ามีการระบาดของ ASF ที่เยอรมัน ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่เขาต้องทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ หากปล่อยให้อยู่ในระบบก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้ง Supply ส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อเชื้อได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด 

ด้าน นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้ มีราคาที่ต่ำกว่าราคาในบ้านเรามาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านเราที่ยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ในขณะที่ข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย ดังนั้นเนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ  ASF ทั้งหมด ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจจากหน่วยชันสูตรโรคสัตว์กลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเชื้อ ASF ในเนื้อหมูทั้งหมดจาก 3 ตัวอย่าง จากที่ขายลดราคาในตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ  ช่วง 12-19 กุมภาพันธ์ 2565 และเก็บตัวอย่างห้างชานเมือง กรุงเทพฯ ตรวจพบ 3 จาก 4 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนเมายน 2565  และครั้งที่ 3 เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรจากห้างย่านสุขุมวิท  ตรวจพบ 8 จาก 20 ตัวอย่าง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด  


ดังนั้น “หมูกล่อง” ที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศ ที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า “ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้ วันนี้เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน” 

ด้าน นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นปี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ตั้งแต่อีสานเหนือ จนถึงอีสานใต้เพื่อแนะนำให้เกษตรกรที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ที่ร่วมสัมมนาได้รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกวิธี และถ้าหากยังมีการปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้า เนื้อสุกรที่มีเชื้อโรคเข้ามาอาจทำลายขบวนการเลี้ยงสุกรได้โดยประเมินได้ว่ามีเกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ฯลฯ ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูง เช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายของเชื้อในเนื้อหมูนี้มากเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่  


สำหรับแนวทางแก้ไขผมเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น 

ด้าน นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า “ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัวต่อวัน โดยปี 2564 มีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วจากพื้นที่อื่นประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ปรากฎว่าเดือนมกราคม ปี 2565  ซากสุกรที่เชือดแล้วมีถึง 8 ล้านกิโลกรัม  ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลงประมาณ 30-50% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว  ถึงแม้การกลับเข้าขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ 

จึงเป็นข้อสงสัยกว่าหมูเกือบไม่เหลือแล้ว ทำไมในตลาดจึงมีจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ร้านจำหน่ายปลีกหมูของโบรกเกอร์รายหนึ่งมีการโฆษณาราคาส่วนสะโพกกิโลกรัมละ 150 บาท หัวไหล่ 135 บาท เมื่อตรวจที่บรรจุภัณฑ์ระบุปีผลิต 2020 เป็นหมูตกค้างเกรงว่าจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน 

นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับทางสมาคมฯ เร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้นิ่งนอนใจจากข้อมูลที่ได้รับ ตนจะนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมปศุสัตว์จะร่วมมือกับกรมศุลกากร  กรมการค้าภายใน เพื่อร่วมกันทำงานแบบบูรณาการณ์ และยืนยันว่าที่ผ่านมา มีการประกาศชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศมาโดยตลอด และหากตรวจพบก็จะมีการยึดอายัดและทำลายทันที ซึ่งจากนี้ไปคงจะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกด่านเข้มงวดในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น