วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รัฐบาลลำเอียง อุ้มกุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย อาละวาดรุมทำร้ายกุ้งไทย


 สดับข่าว กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เปิดบ้านต้อนรับกุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ในเร็วๆนี้ ทำให้นึกถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ยุติธรรม “ลำเอียง” ซึ่งวันนี้ขอใช้กับรัฐบาลไทยที่ใส่ใจ “คนนอก” มากกว่าคนไทย จากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่ารัฐบาลเลือกทิ้งผู้เลี้ยงกุ้งไทย ให้เผชิญโชคชะตาตามลำพัง

 

สำนักข่าวต่างประเทศออกข่าวอ้างรัฐบาลเอกวาดอร์ ว่า ประเทศไทยจะนำเข้ากุ้งของเอกวาดอร์อีกครั้งจาก 36 ฟาร์ม หลังจากที่ทั้งไทยและเอกวาดอร์ กำหนดมาตรการความปลอดภัยและความปลอดภัยทางชีวภาพในขั้นตอนการส่งออก ทั้งที่เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ยังปิดประตูห้ามนำเข้าเข้มแข็ง

 

ผู้เลี้ยงกุ้งไทย เหมือนถูกทิ้ง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประกาศกลยุทธ์ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ 400,000 ตัน สร้างมูลค่าและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น มุ่งสร้างความสามารถแข่งขันส่งออก แต่ที่ผ่านมานโยบายประกาศมาเป็นปีแล้ว “กรมประมง” ที่รับผิดชอบโดยตรงเดินหน้าช้ากว่าเต่า ที่จะพัฒนาเกษตรกรให้เดินหน้าตามเป้าหมาย ไม่มีแนวทางการเลี้ยงที่ชัดเจนโดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคกุ้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ดันให้โอกาสกุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งไทยเข้ามาดั๊มพ์ราคาถึงในประเทศ “ชักศึกเข้าบ้าน” เพื่อประโยชน์ของใคร ที่สำคัญการนำเข้าไม่ใช่เฉพาะกุ้ง แต่อาจจะรวมถึงโรคที่มีอยู่แล้วและโรคอุบัติใหม่แถมด้วย

 

ขณะที่การผลิตกุ้งไทยตอนนี้ เกษตรกร 40,000 กว่าราย ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง ทั้งเรื่องโรคระบาดกุ้งและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผลักดันวัตถุดิบอาหารและต้นทุนพลังงานให้สูง  รวมถึงโครงการสินเชื่อที่รัฐบาลประกาศว่าจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาการเลี้ยงอย่างยั่งยืน ถึงตอนนี้ กรมฯ ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนแต่อย่างไร

 

ยิ่งช่วงเวลานี้ที่กุ้งไทยเนื้อหอม ต่างประเทศต้องการมาก ทำให้ราคาสูงแต่ผลผลิตน้อย ยิ่งทำให้เกษตรกรต้องป้องกันโรคกันสุดฤทธิ์ เพื่อรักษาโอกาสการส่งออกและมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่โดนทำร้ายโดยนโยบายเปิดนำเข้ากุ้งของภาครัฐ ทำให้เกิดคำถามว่าในวันที่เราเดือดร้อนทั้งเอกวาดอร์และอินเดียจะยื่นมือมาช่วยเหลือเป็นการตอบแทนหรือไม่ หรือผลักไสเราอย่างไม่ใยดี ขณะที่ไทยเสนอหน้าให้โอกาสเขาโดยไม่ได้ร้องขอแบบนี้ เรียกว่า “ลำเอียง” เพียงพอไหม อยากให้รัฐบาลใส่ใจปากท้องคนไทยและผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่านี้ 


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 กรมประมง ออกโรงในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ที่มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการทุกประการ นอกจากนั้นยังให้ผู้แทนจากห้องเย็นร่วมตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องที่มาของเป้าหมาย 400,000 ตัน คือมาจากการประเมินสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอาหารแช่เยือกแข็งและกำลังการผลิตของเกษตรกร และให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า การนำเข้ากุ้งจะช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องนำเข้าในราคาถูกเพื่อเฉลี่ยต้นทุนและนำมาซื้อกุ้งไทยในราคาที่สูงขึ้น การนำเข้ามีผลกับราคากุ้งในด้านบวกทำให้บวกราคาซื้อกุ้งไทยได้มากขึ้น การกดราคาทำให้เกษตรกรเลี้ยงน้อยลง...แปลกที่ 1

 

ที่แปลกกว่า คือ Shrimp Board แต่งตั้งเร่งด่วนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลเอกวาดอร์ประกาศผ่านสื่อฯ จะเริ่มส่งออกช่วงปลายเดือนเมษายน ..ประดุจว่าตั้งมาเพื่อการอนุมัตินำเข้าทันที กรมฯควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย 

 

หากไม่อยากเจอจุดจบ ก็ควรมีการตรวจสอบความโปรงใสของคณะกรรมการกุ้งชุดนี้ ว่าทำงานภายใต้หลักธรรมภิบาลอย่างแท้จริง เพราะกระทรวงเกษตรฯ ยังเป็นเจ้าภาพหลักอีก 2 คณะกรรมการสำคัญระดับประเทศ คือ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Board และคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ที่สร้างประโยชน์ส่วนรวมให้ทั้งเกษตรกรและประเทศไทย ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและคนไทย...รัฐบาลอย่าอุ้มชูกุ้งจากประเทศอื่นมาฉวยประโยชน์จากความเป็นไทยโดยเด็ดขาด

 

อัปสร พรสวรรค์ รายงานข่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น