วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เฉลิมชัย” เร่งขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้ลดต้นทุนหนุนส่งออกเสนอครม.เห็นชอบล่าสุดยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าส่งออกสัตว์และซากสัตว์ดันปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกด้านปศุสัตว์กับต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้นโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคเกษตรเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรและผู้ประกอบการการค้าสินค้า จึงสั่งการให้มีการปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ตามกฎหมาย   ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจนมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อลดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการปศุสัตว์

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ ครม. เห็นชอบกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้

1. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ เข้ามาในราชอาณาจักร ตัวละ 25 บาท (เดิมตัวละ 250 บาท) 

2. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภทแพะ แกะ ออกนอกราชอาณาจักร ตัวละ 20 บาท (เดิมตัวละ 200 บาท)

3. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 3 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท)

4. กำหนดค่าที่พักซากสัตว์ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ประเภทจิ้งหรีด กิโลกรัมละ 2 บาท (เดิมกิโลกรัมละ 5 บาท)

5. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ ประเภท ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ที่นำออกนอกราชอาณาจักรโดยผ่านด่านศุลกากรบูเก๊ะตา

 6. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยานประเภทสุนัข แมว ไก่ เป็ด ห่าน สัตว์ปีกชนิดอื่น หรือไข่สำหรับใช้ทำพันธุ์ เฉพาะกรณีที่สัตว์นั้นยังอยู่ในเขตปลอดอากร จนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

7. ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยาน กรณีที่ไม่มีการเปิดตรวจตู้สินค้าหรือแบ่งถ่ายโอนสินค้า และยังอยู่ในเขตปลอดอากรจนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยานแล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ใหม่ ที่กระทรวงเกษตรฯ ยกร่างแก้ไขครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับใหม่ทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมขีดความสามารถด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยไปยังต่างประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับจิ้งหรีดซึ่งเป็นอาหารใหม่ประเภทโปรตีนทางเลือกใหม่นั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นฮับแหล่งผลิตแมลงของโลกโดยเน้นการพัฒนาการผลิตการแปรรูปและการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งฟาร์มจิ้งหรีด, อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) และการสนับสนุนสตาร์ทอัพเกษตรตั้งเป้าหมายเจาะตลาดโลกมูลค่า 3 หมื่นล้าน

“นโยบายและเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคจิ้งหรีดกันมากขึ้น เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีราคาถูก โปรตีนจากแมลงจัดเป็นซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) และเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูปและการตลาดรวมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC:Agritech and Innovation Center) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับอีกอย่างน้อย 4 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และ protein shakes ซึ่งกลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก

ซึ่งตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปยังสหภาพยุโรปได้ และกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ (Novel Food) ตลอดจน ประเทศเม็กซิโก ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการขอเปิดตลาดรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็ง (สะดิ้ง) ของไทยในเม็กซิโก โดยทำงานร่วมกับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัย และคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก หรือ SENASICA จนลุล่วง” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น