วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

“ครูกัลยา” เดินหน้าขยายผลโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ เตรียมจับมือ AGS องค์กรสากล และ มจธ. ช่วยคนไทยสู้ภัยแล้ง แก้จนอย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


“คุณหญิงกัลยา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เดินหน้าขยายผลโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ พร้อมเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยคนไทยสู้วิกฤตภัยแล้ง และแก้จนได้อย่างยั่งยืน หลังคิกออฟ ลงพื้นที่ วษท. ร้อยเอ็ด สร้างกระแสตื่นตัวในชุมชน จนได้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนจังหวัด

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในเดือนตุลาคม 2563 นี้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จะมีการลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดศรีสะเกษ ตามแผนการขยายผลโครงการบริหารจัดการน้ำฯ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 3 ภูมิภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พร้อมกับการสร้างหลักสูตรชลกร ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อถ่ายทอดหลักสูตรบริหารจัดการน้ำ มุ่งขยายผลสู่ชุมชน เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จนอย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ได้เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) นำโดยคุณธเนศ นะธิศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำใต้ดินของสหรัฐฯ และประธานกลุ่ม AGS และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดยดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ในการให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ให้สำเร็จลุล่วงเพื่อช่วยคนไทยสู้วิกฤตภัยแล้ง และแก้จนอย่างยั่งยืน


“ต้องขอขอบคุณอาจารย์ธเนศและทีม AGS รวมไปถึงดร.ปริเวท ที่มีจิตสาธารณะ อยากช่วยเหลือพี่น้องคนไทย ที่ประสบภัยแล้งและความอยากจน พร้อมให้การสนับสนุนทั้งเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ทางทีม มจธ. และ AGS ได้ทำภาพถ่ายดาวเทียมและทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินของทั้ง 5 วิทยาลัยฯ ที่จะลงพื้นที่แล้วซึ่งประกอบด้วย วิทยาลัยฯ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ยโสธร สระแก้ว อุบลราชธานี ซึ่งการที่เราได้องค์ความรู้ในระดับสากล และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย มั่นใจว่าจะส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว  

ทั้งนี้หลังลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) แล้ว โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จะมีการขยายผลเพิ่มเติม โดยมีแผนที่จะพัฒนายกระดับองค์ความรู้เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินในประเทศไทยให้เข้าสู่หลักสากล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการด้านวิศวกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีการสร้างหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำสำรับชุมชน และครัวเรือน โดยมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างเครือยข่ายของ AGS เช่น  MWRD (Metropolitan Water Reclamation District of Greater Chicago), WWM (water and waste management India) เพื่อให้เทคนิคการจัดการน้ำสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงและง่ายต่อการเข้าใจและดำเนินการต่อชาวบ้าน และผู้สนใจในโครงการ รวมไปถึงสร้างองค์ความรู้ know how เรื่องบทบาทและหน้าที่ water management และ watershade protection ฉบับทั่วไปที่ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วม ให้กับศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำทั้ง 6 วิทยาลัยในเครือข่ายเพื่อเผยแพร่ให้กับภาครัฐและเอกชน


ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก นอกจากนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะได้รับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อนำความรู้ไปขยายผลสู่ชุมชนของตนเองได้ในอนาคตแล้ว ทางหน่วยงานราชการของจังหวัดร้อยเอ็ดยังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และจะนำโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ไปเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนของจังหวัดอีกด้วย


“หลังจากลงพื้นที่เปิดโครงการอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชุน ตามแนวพระราชดำริ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2563 โดยมีผู้เข้าอบรมจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่ง ได้แก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี รวม 87 คน ก็เกิดกระแสตอบและตื่นตัวจากชุมชน จังหวัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จังหวัดร้อยเอ็ดกลายเป็นต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ในการขยายผลไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น