วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

กระทรวงเกษตรฯ สืบสานพระราชปณิธานอนุรักษ์ไหมไทย เตรียมจัดงานใหญ่ “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15”

 


          กรมหม่อนไหม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมจัดงาน ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15” ประจำปี 2563  อย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษ กรมหม่อนไหม (10  ปี กรมหม่อนไหม) การอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน”  ระหว่างวันที่ 23 – 27 กันยายน 2563 ณ  อาคาร 6 - 7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พบกับ นิทรรศการผลงาน 10 ปี กรมหม่อนไหม  ผลงานประกวดผ้าไหมเส้นไหม ผลงานวิจัยและผลงานบูรณาการกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายผ้าไหม รวมถึงผลิตภัณฑ์หม่อนและไหมจากทั่วประเทศ

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แถลงข่าวการจัดงาน 
ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15” ประจำปี 2563  ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า
ด้วยพระราชปณิธาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และเพื่อให้ผ้าไหมเป็นที่เลื่องลือสู่สากล ไหมไทยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมายตรานกยูงเพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต และที่สำคัญ ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จึงจัดงาน
ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี  เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงมีพระราชปณิธานในการอนุรักษ์งานด้านหม่อนไหมให้คงอยู่กับประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์” ตรานกยูงพระราชทาน เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

 


สำหรับ “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15” ประจำปี 2563  กำหนดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด   ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษ ... กรมหม่อนไหม (10  ปี กรมหม่อนไหม) การอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน 2563  ณ ฮอลล์ 6 - 7 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  จังหวัดนนทบุรี  ซึ่งปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดงาน ในวันที่
25 กันยายน 2563 เวลา 17.30 น.

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวต่อไปว่า การจัดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เป็นการประชาสัมพันธ์ตรานกยูงพระราชทาน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการตรวจสอบจากกรมหม่อนไหม มีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ ต้องผลิตจากเส้นไหมที่ผลิต
ในประเทศไทยเท่านั้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป การใช้หรือการสวมใส่ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน นอกจากจะให้ความรู้สึกสง่างาม ด้วยความที่ผ้าไหมที่มีความแวววาว เงางาม มีลวดลายวิจิตรบรรจง เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังทำให้ผู้ใส่เกิดความภาคภูมิใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้สืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอันดีงามของชาติอีกด้วย

 


ทางด้าน นายวสันต์  นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า  การจัดงาน ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15” ประจำปี 2563   มีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับตรานกยูงพระราชทาน ผลงานการประกวดเส้นไหม สิ่งประดิษฐ์จากรังไหม (พานพุ่ม) และการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ที่รวมสุดยอดผ้าไหมเอกลักษณ์ประเภทต่าง ๆ ที่สวยงามวิจิตรบรรจงมาจัดแสดง  ปราชญ์หม่อนไหม ที่กรมหม่อนไหมได้คัดเลือกขึ้นมา จำนวน 88 ท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม ซึ่งเป็นผู้มีคุณความดี มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์สมควรเป็นปราชญ์หม่อนไหม ให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์และความสามารถสู่สังคม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมให้คงอยู่ต่อไป  แผ่นฟิล์มโปรตีน ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มที่ได้จากการสาวไหม เป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำที่เหลือจากการสาวไหมนำมาทำให้แห้งและทำเป็นแผ่นฟิล์ม ช่วยป้องกันการส่องผ่านของแสงยูวี สามารถใช้เป็นวัสดุป้องกันยูวี และยังสามารถนำไปพัฒนา ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป จะเห็นว่าผ้าไหมนั้น นอกจากจะมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีสารช่วยป้องกันแสงยูวีได้อีกด้วย  เทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์หม่อน การปักชำหม่อนด้วยวิธีการดัดแปลง บรรยากาศแบบควบแน่น ช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการผลิตให้แก่เกษตรกร สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมากในขนาดพื้นที่เท่ากัน ช่วยประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง และช่วยลดต้นทุนการผลิตต้นพันธุ์หม่อนให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี เครื่องสาวไหมอีรี่ เป็นเครื่องสาวไหมที่พัฒนามาเพื่อการสาวไหมอีรี่โดยเฉพาะ ซึ่งไหมอีรี่นั้นเป็นไหมที่ไม่ได้กินใบหม่อน แต่จะกินใบมันสำปะหลังหรือใบละหุ่งเป็นอาหาร เส้นไหมจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงต้องมีการใช้เครื่องสาวที่มีลักษณะพิเศษ จึงจะดึงเอาเส้นไหมมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมยังมีผลงานที่บูรณาการร่วมกับกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์  ในการผลิตเวชสำอางจากหม่อนและดอกดาหลา ซึ่งจะเป็นการนำดอกดาหลาไปใช้ในการเลี้ยงไหมดาหลา และไหมดาหลานี้จะให้เส้นใยที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บริษัทจุลไหมไทย ในการพัฒนาเครื่องสาวไหมเด่นชัยประยุกต์ให้การสาวไหมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญา ผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ ผ้าทอมือบ้านดอนขุนห้วย กะเหรี่ยงปาเกอะญอ กรมราชทัณฑ์ การส่งเสริมอาชีพหม่อนไหมในทัณฑสถาน ในโครงการคืนคนดีสู่สังคม เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความรู้ ความสามารถด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สามารถนำไปประกอบอาชีพโดยสุจริต สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวหลังพ้นโทษ

 


นอกจากนี้ ยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย เป็นการรวบรวมผ้าไหมคุณภาพจากทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการ และเกษตรกรมาร่วมออกร้าน กว่า 240 ร้าน เป็นร้านค้าจากผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนจากทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นการรวมสุดยอดผ้าไหมมาไว้ในงานนี้ รวมถึงได้นำผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เข้าร่วมจำหน่ายด้วย และที่กรมหม่อนไหมจัดให้มีเป็นพิเศษในปีนี้คือ การจัดหาร้านตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษและสตรี มาประจำอยู่ในงานวันละ 4 ร้าน โดยกรมหม่อนไหมได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคระบาด โควิด-19 อย่างเข้มงวด

กรมหม่อนไหม  ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชมงาน ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 15

ประจำปี 2563”  ซึ่งจะจัดในระหว่างวันที่ 23 - 27 กันยายน 2563  เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ฮอลล์ 6 -7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  และเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานหม่อนไหมของไทยให้คงอยู่ เพื่อเสริมสร้างรายได้ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ยั่งยืนสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น