วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566

กองทุนหมู่บ้านฯ ฟังทางนี้ ! “อนุชา” ชี้ช่องทางทำเงิน สร้างอาชีพ ให้พี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านโครงการโคล้านครอบครัว

  


นาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชวนพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ “โคล้านครอบครัว” ชี้เป็นหนทางช่วยประชาชนหลุดพ้นความยากจน และจะเป็นจุดพลิกผันให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว เน้นย้ำชัดว่าที่ผ่านมาได้มีการทดลอง ศึกษา และค้นคว้า ลงมือทำจริง และมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ โคล้านครอบครัว ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ที่ ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบดำเนินงานโครงการในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท  จำนวน 100,000 ครัวเรือน (เลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว)



เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมวิโรจน์ อิ่มพิทักษ์ อาคารศูนย์เรียนรวม 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้จัดงานแถลงข่าวโครงการ “โคล้านครอบครัว” เพื่อประกาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่พร้อมเดินหน้าทำให้โครงการสู่ความสำเร็จให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนมั่นคง โดยมีนักวิชาการมาร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ชี้ช่องรวย ด้วยโครงการโคล้านครอบครัว” โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค ตั้งแต่ต้น-กลาง-ปลายน้ำ อาทิ รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ธนพล หนองบัว รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิจัย เเละบริการวิชาการ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งต่อความรู้เรื่องกระบวนการเลี้ยงโคอย่างมีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงเพื่อให้สามารถทำกำไรสูงสุด พร้อมกับรับฟังประสบการณ์จากประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จังหวัดนครพนม นายธนูศร ปัญญาสาร และ คุณประสาท บุญญานันท์ เจ้าของบังอรฟาร์ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจวากิวโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้แทนฝั่งภาคการค้า ที่มาร่วมชี้ให้เห็นช่องทางตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้



"สมาชิกกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ผมได้เสนอแนวคิด "เงินบาทแรกของแผ่นดิน" ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เกิดจากน้ำ จากดินที่อยู่ให้ภาคการเกษตร ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรรม จากการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเป็นระยะเวลานาน พบว่าการทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรทวีคูณ ผมจึงนำแนวคิดนี้มาทำโครงการช่วยเหลือประชาชน โดยผ่านการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ผมค้นพบว่าการเลี้ยงวัวเลี้ยงไม่ยาก วัวกินแต่หญ้า เริ่มแรกสมาชิกจะได้รับการสนับสนุนวัว 2 ตัว เมื่อผ่านระยะเวลา 1 ปี จะได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 4 ตัว และปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ จากการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น 50,000 บาทแรก ผมมั่นใจว่าไม่เกิน 3 ปี จะสามารถคืนเงินทุนได้ทั้งหมด และปีต่อๆ ไปถือเป็นกำไรให้พี่น้องประชาชน ภายใน 6 ปี ประชาชนจะสามารถจับเงินล้านได้ไม่ยาก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นรายได้ที่ประชาชนจะได้รับอย่างยั่งยืน และเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยได้ในอนาคต" นายอนุชากล่าว



ในส่วนของเงื่อนไขสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ นายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากองทุนหมู่บ้านและเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สทบ. ได้กล่าวว่า ทางกองทุนหมู่บ้านเรายึดหลักการให้พี่น้องกองทุนบริหารจัดการกองทุนได้ภูมิปัญญาของด้วยตนเอง ต้องเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีความพร้อมทุกด้าน กองทุนมีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการ สมาชิกต้องมีความประพฤติดี      มีวินัยด้านการเงิน และมีความพร้อม มีความสนใจจะสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้จริง ก็สามารถ   เข้าร่วมโครงการได้ตามขั้นตอนผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ โดยสมาชิกสามารถเลือกสายพันธุ์โคที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือความพร้อมของตน ได้ด้วยตนเอง ทางหน่วยงาน สทบ. และกรรมการกองทุน พร้อมสนับสนุนให้ข้อมูลในการคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็น ชนิดสายพันธุ์ น้ำหนัก ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่



กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โคล้านครอบครัว สามารถเตรียมความพร้อมและสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขาเขต ทั้ง 13 สาขาเขต ในทุกภูมิภาค และศูนย์ประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประจำจังหวัด (ทุกจังหวัด)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น