วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566

วช. ยกย่อง “รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล” ผู้พัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทย เป็นนักวิจัยดีเด่นฯ ปี 66

 


วันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 3” เปิดตัว รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช.8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2566 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล แห่งสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้พัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ รวมถึงคลังข้อมูลในภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในการทำงานวิจัย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้ วช. 

จึงจัดให้มีการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติ ให้นักวิจัยไทยมืออาชีพที่ได้อุทิศตนให้กับการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่ามีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการสื่อสารของมนุษย์ ดังนั้นในการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผล ผู้ใช้ภาษาจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้ภาษาได้อย่างถูก การวิเคราะห์โครงสร้างของประโยค คอมพิวเตอร์ กับ ภาษา ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์ การสร้าง กฎ หรือ โมเดลจำลองรูปแบบความรู้นั้น นำไปสู่การพัฒนาคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ คลังข้อมูลภาษา

ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการเพราะเป็นแหล่งข้อมูลกลางที่นักวิจัยและนักศึกษาสามารถใช้สืบค้นหาข้อมูลที่ต้องการในงานวิจัยของตนเองได้ เครื่องมือหรือโปรแกรมที่เผยแพร่ มีบริษัทเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนักพัฒนาระบบจำนวนหนึ่งได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเครื่องมือเหล่านี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งผู้วิจัยได้ทำหน้าที่ออกแบบคลังข้อมูลและพัฒนาโปรแกรม Thai Language  Toolkit เครื่องมือที่ใช้ในการตัดคำ กำกับ ข้อมูลตัวบทและจัดเก็บคลังข้อมูล นอกจากคลังข้อมูลภาษาไทยแล้ว ผู้วิจัยยังได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในการพัฒนาและสร้างคลังข้อมูลเทียบบทภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย เพื่อให้นักวิจัย นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจสามารถสืบค้น เข้าถึงข้อมูล และตัวอย่างการแปลได้ ซึ่งคลังข้อมูลดังกล่าวได้เปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะ อาทิ โปรแกรมถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน โปรแกรมตัดคำภาษาไทย โปรแกรมถ่ายเสียงภาษาไทยเป็นสัทอักษร (Thai to IPA) โปรแกรมกำกับหมวดคำ โปรแกรมตัดหน่วยปริจเฉทพื้นฐาน หรือโปรแกรมเว็กเตอร์คำไทย (Thai word2vec) ปัจจุบัน โปรแกรมต่าง ๆ ที่พัฒนาได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของ Python Package TLTK  




(Thai Language Toolkit) ที่คนทั่วไปสามารถติดตั้งและเลือกใช้งานโมดูลที่ต้องการได้และยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมโมดูลการประมวลผลภาษาไทยต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาปรัชญา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566

กองทุนหมู่บ้านฯ ฟังทางนี้ ! “อนุชา” ชี้ช่องทางทำเงิน สร้างอาชีพ ให้พี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านโครงการโคล้านครอบครัว

  


นาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชวนพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ “โคล้านครอบครัว” ชี้เป็นหนทางช่วยประชาชนหลุดพ้นความยากจน และจะเป็นจุดพลิกผันให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว เน้นย้ำชัดว่าที่ผ่านมาได้มีการทดลอง ศึกษา และค้นคว้า ลงมือทำจริง และมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ โคล้านครอบครัว ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ที่ ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบดำเนินงานโครงการในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท  จำนวน 100,000 ครัวเรือน (เลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว)



เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมวิโรจน์ อิ่มพิทักษ์ อาคารศูนย์เรียนรวม 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้จัดงานแถลงข่าวโครงการ “โคล้านครอบครัว” เพื่อประกาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่พร้อมเดินหน้าทำให้โครงการสู่ความสำเร็จให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนมั่นคง โดยมีนักวิชาการมาร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ชี้ช่องรวย ด้วยโครงการโคล้านครอบครัว” โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค ตั้งแต่ต้น-กลาง-ปลายน้ำ อาทิ รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ธนพล หนองบัว รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิจัย เเละบริการวิชาการ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งต่อความรู้เรื่องกระบวนการเลี้ยงโคอย่างมีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงเพื่อให้สามารถทำกำไรสูงสุด พร้อมกับรับฟังประสบการณ์จากประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จังหวัดนครพนม นายธนูศร ปัญญาสาร และ คุณประสาท บุญญานันท์ เจ้าของบังอรฟาร์ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจวากิวโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโค และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้แทนฝั่งภาคการค้า ที่มาร่วมชี้ให้เห็นช่องทางตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้



"สมาชิกกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ผมได้เสนอแนวคิด "เงินบาทแรกของแผ่นดิน" ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เกิดจากน้ำ จากดินที่อยู่ให้ภาคการเกษตร ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรรม จากการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเป็นระยะเวลานาน พบว่าการทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรทวีคูณ ผมจึงนำแนวคิดนี้มาทำโครงการช่วยเหลือประชาชน โดยผ่านการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ผมค้นพบว่าการเลี้ยงวัวเลี้ยงไม่ยาก วัวกินแต่หญ้า เริ่มแรกสมาชิกจะได้รับการสนับสนุนวัว 2 ตัว เมื่อผ่านระยะเวลา 1 ปี จะได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 4 ตัว และปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ จากการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น 50,000 บาทแรก ผมมั่นใจว่าไม่เกิน 3 ปี จะสามารถคืนเงินทุนได้ทั้งหมด และปีต่อๆ ไปถือเป็นกำไรให้พี่น้องประชาชน ภายใน 6 ปี ประชาชนจะสามารถจับเงินล้านได้ไม่ยาก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นรายได้ที่ประชาชนจะได้รับอย่างยั่งยืน และเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยได้ในอนาคต" นายอนุชากล่าว



ในส่วนของเงื่อนไขสำหรับกองทุนหมู่บ้านฯ ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ นายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากองทุนหมู่บ้านและเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สทบ. ได้กล่าวว่า ทางกองทุนหมู่บ้านเรายึดหลักการให้พี่น้องกองทุนบริหารจัดการกองทุนได้ภูมิปัญญาของด้วยตนเอง ต้องเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีความพร้อมทุกด้าน กองทุนมีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมโครงการ สมาชิกต้องมีความประพฤติดี      มีวินัยด้านการเงิน และมีความพร้อม มีความสนใจจะสร้างรายได้ สร้างอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้จริง ก็สามารถ   เข้าร่วมโครงการได้ตามขั้นตอนผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ โดยสมาชิกสามารถเลือกสายพันธุ์โคที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือความพร้อมของตน ได้ด้วยตนเอง ทางหน่วยงาน สทบ. และกรรมการกองทุน พร้อมสนับสนุนให้ข้อมูลในการคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็น ชนิดสายพันธุ์ น้ำหนัก ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่



กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โคล้านครอบครัว สามารถเตรียมความพร้อมและสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขาเขต ทั้ง 13 สาขาเขต ในทุกภูมิภาค และศูนย์ประสานงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองประจำจังหวัด (ทุกจังหวัด)