วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ผู้ผลิตหลังคาเหล็ก ยื่นหนังสือ รมว.พาณิชย์ ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีเหล็กส่งผลกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ ขณะที่ อดีตประธานสภาSME วอนรัฐเร่งแก้ปัญหา อย่าโยนปัญหาให้ผู้บริโภคปลายน้ำ

 

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีกลุ่มตัวแทนจากนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทยกว่า 60 คน นำโดย นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย(SME) ที่ปรึกษาสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย  นายศุภชัย แก้วศิริ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และนายชวลิต กาญจนาคาร ประธานสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็กไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยมีนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวแทนรับหนังสือของกลุ่มตัวแทนผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย


ทั้งนี้นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า จากมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด มีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 40% ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าเหล็กที่เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตหลังคาเหล็กได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาวัตถุดิบในการนำเข้าจากต่างประเทศที่สูงอย่างมาก ส่งผลให้ ราคาหลังคาเหล็กขยับตังสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้หลายสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยนำเข้าจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเหล็กเป็นอีกสินค้าที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างจีน ซึ่งผลกระทบซ้ำเติมอีก ทางหนึ่ง จนทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนอย่างหนัก จึงต้องรวมตัวยื่นหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าว


อย่างไรก็ตามขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการ ถือว่าเดือนร้อนมากจากการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ เอดี ที่นำมาใช้ในการปกป้องอุตสาหกรรมผู้ผลิตภายใน เป็นสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี หรือ พี-พี-จี-แอล (PPGL) และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบ หรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อน หรือ จี-แอล (GL) จากต่างประเทศมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้สินค้าเริ่มขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้น เพราะมีการจัดเก็บภาษีเอดี โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ในอัตราสูงถึง 40.77% 

 

ซึ่งข้อเท็จจริง แม้มาตรการเอดี จะมีผลตั้งแต่ปี 2564 และได้รับการขยายระยะเวลา เก็บภาษีอัตรา 0%  ออกไป 2 ครั้ง รวม 1 ปี จนถึงเดือนเมษายน 2565 แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้วจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และยังเจอมาตรการเอดี ทำให้ยิ่งกระทบหนัก เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถสู้ราคานำเข้าได้แล้ว และผู้ผลิตโรงรีดหลังคา ก็ไม่มีสินค้ามาผลิต และต่อไปอาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยขณะนี้ สต๊อกในประเทศ สินค้าหลายรายการ เริ่มหาซื้อไม่ได้แล้ว


สำหรับโรงงานผู้ประกอบการโรงรีดหลังคาใน  ไทย มีกว่า 1,600 โรงงาน ที่ใช้วัตถุเหล็กหลังคาประมาณ 120,000 - 140,000 ตันต่อเดือน ไม่สอดคล้องกับการอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศ ที่ทำได้เพียง 28,000 - 30,000 ตันต่อเดือนเท่านั้นจึงเรียกร้องให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ทบทวนการขยายระยะเวลา หรือ ยกเลิก การบังคับใช้มาตรการเอดี และในระหว่างการพิจารณาทบทวนนั้น ขอให้เรียกเก็บภาษี 0% ไปก่อน เพราะขณะนี้ช่องทางตลาดในประเทศอื่นนอกจากจีน ก็ถูกเรียกเก็บภาษีเอดีเช่นเดียวกันในอัตราที่แตกต่างกันไป


ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีความชัดเจนในการพิจารณามาตรการนี้ เพื่อให้กระทบทุกภาคส่วน รวมถึงผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ซึ่งตามมาตรา 7 ของ พรบ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้กำหนดให้พิจารณาใช้มาตรการโดยคำนึงถึงอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์ของสาธารณะ จึงต้องพิจารณาว่าการเรียกเก็บภาษีนี้เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และหากยังไม่มีการตอบรับจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ไข สมาชิกจะบุกไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง


ด้านนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาเอสเอ็มอี ย้ำว่าผู้ประกอบการเห็นด้วยกับมาตรการเอดี เพื่อดูแลอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง เพราะความต้องการใช้ ยังสวนทางกับกำลังการผลิต ที่ยังมีส่วนต่างจำนวนมาก  จึงมีการตั้งคำถามว่าทำไมภาครัฐไม่เร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอ และลดต้นทุนให้ใกล้เคียงกับการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะการขึ้นภาษีเอดีนี้ ส่งปลกระทบอย่างมากกับผู้ประกอบการและสุดท้ายก็จะมีการโยนภาระไปให้กับประชาชนที่ต้องซื้อสินค้าแพงเช่นเดิม

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2565 หลังกรมอุตุฯ เตือนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 19 - 23 พฤษภาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝน พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้ เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 19 – 25 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่  


โดยภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์  กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้  จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต


ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน อย่างใกล้ชิด และกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม  แนวคันกั้นน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรองเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที  รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรอีสาน เดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรเมืองชัยภูมิ วางแนวทางป้องกันการระบาดโรค ASF หลังพบปัญหาระบาดหนัก ส่งผลปริมาณสุกรมีชีวิตลดลงกว่า 20% เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยลดลงกว่า 60% หลังการแพร่หนักในช่วงที่ผ่านมา

 




สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความความรู้เกษตรฯ ในหัวข้อ “หลังเว้นวรรค เตรียมพร้อมอย่างไร ให้ปลอดภัยASF” โดยมี สพ.ญ.ศรีสมัย โชติวนิช  ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ เป็น ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา พร้อมกับ บรรยายพิเศษ​เรื่อง นโยบายกรมปศุสัตว์กับการพัฒนา และส่งเสริมการเลี้ยงสุกรปี 2565 โดยมี นายสิทธิพันธ์  ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งตัวแทนจากชมรมมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ให้การต้อนรับ โดยมีเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา กว่า 200 คน ณ โรงแรม สยามริเวอร์ รีสอร์ท จังหวัดชัยภูมิ

 


ทั้งนี้ สพ.ญ.ศรีสมัย กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ASF  ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณ ผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ  มีปริมาณสุกรในพื้นที่ลดลงกว่า 20%  และส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยลดลงกว่า 60%   จากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ ทั้งหมด 5,900 ราย ขณะนี้มีผู้เลี้ยงเหลือเพียง 2,277 ราย เท่านั้น ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นทางกรมปศุสัตว์ จึงพยายามเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการป้องกันโรคระบาดทุกวิถีทาง ทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อให้อยู่ในวงจำกัดให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงใหม่  ซึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงใหม่ ตามร่างประกาศของกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ ตามข้อกำหนดให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้เลี้ยงทุกคน จะต้องผ่านการอบรมหรือการฝึกอบรมให้ความรู้ ด้านการจัดการโรคระบาดในสัตว์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง   เพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาด  จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสุกรในประเทศฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มากขึ้น และต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ที่ร่วมกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดที่ผ่านมา ที่สามารถ แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว 


ขณะที่ ผศ.น.สพ.คัมภีร์​ กอธีรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสุกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการแพร่อีกครั้ง จะต้องมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในการป้องกันการระบาดที่เกิดขึ้น โดยต้องเลี้ยงตามกำลังที่มีอยู่ และการดูแลสุกรที่เลี้ยงเป็นพิเศษมากขึ้น ซึ่งจะเน้นเลี้ยงเฉพาะสายพันธุ์ในประเทศ เพราะสุกรที่รอดมาจากการระบาด ถือว่ามีภูคุ้มกันที่ดีมากกว่าที่แหล่งอื่น โดยห้ามนำเข้าลูกสุกรจากแหล่งอื่นมาเลี้ยงโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ เกษตรกรควรวางระบบการเลี้ยงดูโดยเน้นด้านสุขอนามัยเป็นหลัก ซึ่งก่อนเข้าไปในฟาร์มจะต้องมีการฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม เชื่อว่าหากร่วมมือกัน และเฝ้าระวังมากขึ้น จะทำให้อาชีพการเลี้ยงสุกรในประเทศ กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน โดยเชื่อว่า ปี 2565 และปี 2566 ราคาสุกร ยังจะมีราคาดี อย่างแน่นนอน 


ผศ.ดร.อภิชาติ อายนาเสียว คณะวิศวกรรมศาสตร์  กล่าาว่า ตนในฐานะเกษตรกรที่เคยประสบปัญหาการระบาดมาก่อน มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงแบบใหม่ โดยเลี้ยงระบบเปิด และนำเทคโนโลยีการควบคุมการให้อาหาร ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการเลี้ยงสุกร และพร้อมจะเปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้าไปเรียนรู้การเลี้ยงระบบใหม่โดยใช้นวัตกรรมควบการให้อาหาร 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นการลดการสัมผัสเชื้อจากคนสู่สุกร โดยจะต้องมีการกางมุ้งกันแมลง ในฟาร์มแบบเปิดที่เลี้ยง เพื่อไม่ให้แมลงเป็นพาหะนำเชื้อเข้ามาได้  รวมทั้งการวางระบบน้ำที่ชัดเจน และไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมาติโดยเด็ดขาด เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของโรคด้วยเช่นกัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ ห้ามนำเศษอาหาร จากคนมาเลี้ยงสุกรเด็ดขาด เพราะถือเป็นแหล่งที่มาของโรคระบาดด้วยเช่นกัน 


อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงสุกรแบบใหม่ จากนี้ไปเกษตรกรจะต้องเข้าใจหลักการเลี้ยงที่ชัดเจน โดยส่วนตัวเห็นว่าการเลี้ยงที่เกษตรกรจะรอดได้ คือที่ดีที่สุดควรจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด และไม่ควรเลี้ยงสุกรอย่างเดียว ควรวางแผนในการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทาง โดยการนำมูลสุกร ซึ่งถือว่าเป็นปุ๋ยที่ดีของหญ้า เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยง แพะ แกะ และ โคกระบือ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้อีกทางของเกษตรกรมากขึ้น เพราะหากมีปัญหาด้านราคา สุกร เกษตรกรยังสามารถขายสัตว์อย่างอื่นได้ ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ อันเกิดจากการใช้ปุ๋ยมูลสุกรด้วย 


 การอยู่รอดของเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรแบบใหม่ ต้องระวังเรื่องของการติดเชื้อ  โดยต้องระวังพาหะที่เป็นต้นเหตุของโรคทั้งหมด โดยควรกางมุ้งให้กับสุกร โดยใช้ผ้ามุ้งคุมเล้าสุกรในฟาร์ม ไม่ให้สัตว์ที่เป็นพาหะเข้าไปได้ โดยการให้อาหารจะใช้เทคโนโลยีในการให้อาหารสุกรโดยต้องเข้าฟาร์มให้น้อยที่สุด คนที่จะเข้าฟาร์มได้ต้องทำความสะอาด เพื่อเป็นการป้องกันโรค ที่สำคัญต้องอยู่ห่างจากชุมชน และนำมูลสุกรไปปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์อื่นๆ จะเป็นการสร้างรายได้อีกทางอย่างไรก็รอด เพราะต้นทุนต่ำ ผมคิดว่าอย่างไงก็รอดผศ.ดร.อภิชาติ กล่าว