วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565

กยท. เตรียมจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” อย่างยิ่งใหญ่ โชว์นวัตกรรมแปรรูปยางพารา หนุนเกษตรกรต่อยอดธุรกิจ ที่ จ.นครศรีธรรมราช

 วันที่ 30 มีนาคม 2565 นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวงาน มหกรรมยางพารา 2564ณ ห้องประชุม อาคารข่าวสด โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อผู้ขาย ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลาด นำการผลิต รวมถึงการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนัวตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา 

โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เพื่อรองรับ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาล สู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ


ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เนื่องด้วย กยท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการปลูกยางพาราในประเทศไทย สำหรับการจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน ฯลฯ ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานมหกรรมยางพาราอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย และกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา เกิดแนวคิดในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

โดยแนวทางการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อโชว์ศักยภาพไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราของโลก และเป็นเวทีการเจรจาธุรกิจเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราระดับนานาชาติ

ในวันงานทุกท่านจะได้เห็นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการดูแลจัดการมาตรฐานในสวนยางพารา วันนี้มาตรฐานในสวนยางพาราถือเป็นเรื่องสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการผลักดันในเรื่องของมาตรฐาน FSCTM ซึ่งในงานเราก็จะมีการจัดโชว์เคส แนะนำในเรื่องของการแสดงปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับพี่น้องชาวสวนยางไม่เฉพาะแค่ชาวนครศรีธรรมราช แต่เป็นของทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก และกำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระของโลก ส่งเสริมให้ยางพาราที่เป็นพืชหลักในการผลักดัน ตามที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ทาง กยท.ผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมยางพาราในหลายรูปแบบ เช่น 1. การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น เพื่อปรับพฤติกรรมของเกษตรกรให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อยืนยันว่าการจัดการดูแลสวนยางพาราของเกษตรกร ทันตามมาตรฐานโลก และสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความสามารถทางการแข่งขันโดยการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสนับสนุน 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต/ผลิตยางกั้นล้อ ระดมแปรรูปยางเป็น ยางกั้นล้อรุ่นพิเศษของ พีทีทีโออาร์ให้บริษัทในเครือ ปตท. 3. โชว์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น นวัตกรรมสระน้ำยางพารา เก็บกักน้ำสู้ภัยแล้ง 4. ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ กยท. เตรียมเปิดบริการตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าแบบส่งมอบจริง และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจ ให้แก่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมงานและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช


สำหรับความสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกยางเป็นอันดับต้นๆ ส่งผลให้จังหวัดมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยางพาราอย่างมาก โดยยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกถึง 1,880,560 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.26 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 6,214,064 ไร่ ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่นครศรีธรรมราช สามารถให้ผลผลิตน้ำยางคุณภาพดีติดอันดับโลก ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในที่ตั้งตลาดกลางยางพาราที่มีความสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยางพาราในนครศรีธรรมราชก็มีปัจจัยหนุนด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัด ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่นๆ ได้โดยสะดวก

ในแต่ละปีจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งปีคิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท อันดับหนึ่งเป็นผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีมูลค่าประมาณ 47,000 ล้านบาทต่อปี อันดับ 2 เป็นค้าปลีก ซึ่งทั้ง 2 ภาคนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและพร้อมที่จะไปแข่งขันในระดับนานาชาติ นี่คือศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรนครศรีธรรมราชในทุกมิติ อย่างอำเภอนาบอน มีโรงงานอุตสาหกรรมการยาง ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปยางพาราชนิดต่างๆ ทั้งโรงงานน้ำยางข้น โรงงานยางแผ่น และโรงงานผลิตยางแผ่นอบแห้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทขึ้นไป ราว 5 แห่ง และนครศรีธรรมราชถือเป็นหมุดหมายในแผนฉบับที่ 13 ที่จะต้องพัฒนาในเรื่องของพลังงานต่างๆ เพราะฉะนั้นการปูพื้นเรื่องยางพาราจะเป็นศักยภาพที่จะก้าวกระโดดไปการแข่งขันนานาชาติได้

สุดท้าย นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราว่า พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างมาก ซึ่งทางคาราบาวกรุ๊ปขอร่วมชื่นชมและยกย่องพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และเพื่อมอบสิ่งดีๆ กลับคืนให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป ทางคาราบาวกรุ๊ปขอถือโอกาสนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการมอบความสุขและความสนุกสนาน ด้วยการขนทัพบู๊ธจัดกิจกรรมแจกของมากมาย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมกรีดยาง โดยมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดงแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1-3 แล้วพบกันที่งาน มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา นายกมลดิษฐ กล่าวทิ้งท้าย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น