วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วช.-ซินโครตรอน-มูลนิธิธรรมิกชน ใช้ “แสงซินโครตรอน”ผลิตอักษรเบรลล์”ช่วยผู้พิการสายตา

 


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมูลนิธิธรรมิกชน พัฒนาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ เสริมสร้างการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ส่งเสริมสวัสดิการแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุในหลายภาคส่วน ภายใต้การนำชุดข้อมูลจากการวิจัยมาใช้สนับสนุน ที่ผ่านมา วช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมกันจดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการและผู้อายุให้ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ขับเคลื่อนผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ลดภาระงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพได้ต่อไป

ดร.รุ่งเรือง  พัฒนากุล สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตามากกว่า 2 แสนคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในสถาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการระบาดของโควิด-19 จึงต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเข้ามาช่วยดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยง ไม่เพียงแค่การเดินทาง แต่ยังมีโอกาสในการรับเชื้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เครื่องมือในปัจจุบันนอกจากสมาร์ทโฟนที่ใช้เสียงในการสื่อสารแล้ว ยังมีเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่ใช้การรับส่งข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์มาแสดงเป็นข้อความอักษรเบรลล์ เพื่ออ่านผ่านการสัมผัสที่ปลายนิ้ว โดยอักษรเบรลล์ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการดำรงชีวิตของผู้พิการทางสายตา ไม่เพียงแค่ให้สามารถอ่านหนังสือหรือข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบันทึกองค์ความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต

ดร.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ผู้พิการทางสายตาส่วนมากมีฐานะยากจน ไม่สามารถซื้อเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่มีราคาหลายหมื่นบาทมาใช้งานได้ จึงเกิดเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน คณะวิจัยโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับสำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ วช. จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับผู้พิการทางสายตาโดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเข้ามาร่วมในการผลิตชิ้นส่วนและกลไกขนาดเล็กเพื่อผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ที่รองรับการส่งผ่านข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ โดยภายในเซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์มีโครงสร้างขนาดเล็กระดับไมโครเมตรถึงมิลลิเมตรที่ถูกควบคุมด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้สามารถบังคับการเคลื่อนที่ของจุดแสดงผลอักษรเบรลล์ได้อย่างอิสระ

โดยอักษรเบรลล์ 1 ตัวจะประกอบไปด้วย 6-8 จุดซึ่งในสภาวะปกติจุดทั้งหมดจะถูกซ่อนอยู่ภายใน แต่เมื่อได้รับข้อมูลจากหน่วยประมวลผลจะทำการแปลงข้อความเป็นรหัสเบรลล์เพื่อสั่งการให้จุดในแต่ละตำแหน่งเคลื่อนที่ขึ้นเพื่อแสดงข้อความและเคลื่อนที่ขึ้นใหม่อีกครั้งตามตำแหน่งของตัวอักษรเบรลล์ต่อไป ดังนั้นการอ่านข้อความด้วยเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์จึงสามารถทำได้อย่างไม่สิ้นสุด ในปัจจุบันต้นแบบเซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์นี้มีแผนการพัฒนาให้นำมาเชื่อมต่อกันเป็นแถวอักษรเบรลล์มากกว่า 10 เซลล์ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาอ่านข้อความที่ยาวขึ้นและต่อเนื่องเหมือนอ่านบนหนังสือเบรลล์

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น