วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ วช. ส่งมอบ ‘เปลความดันลบ’ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด ช่วยบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มอีก 7 โรงพยาบาล

 

วันที่ 15 กันยายน 2564 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งมอบ PETE (พีท) เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 7 ชุด ให้แก่โรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และทีมนักวิจัยเอ็มเทค เป็นผู้ส่งมอบฯ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และวิจัยพัฒนา ภายใต้ ศปก.ศบค. ได้มีการนำโจทย์จากประเด็นความสำคัญของประเทศมาดำเนินการผลักดันเพื่อให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยแแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรับโจทย์จากสถานการณ์จริง รวมถึงการส่งเสริมให้กับนักวิจัยและนักวิชาการได้ร่วมกันพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงปัจจุบัน โดยระยะแรกที่อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์เริ่มมีการขาดแคลน วช. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ทดแทนอุปกรณ์ดังกล่าว 


ตัวอย่าง เช่น ชุด PAPR ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับการสนับสนุน จำนวน 3,000 ชุด นอกจากนี้ วช. ยังมีการสนับสนุนห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ซึ่งนำไปติดตั้งและใช้งานจริงแล้วในหลายโรงพยาบาล สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย วช. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมถึง PETE (พีท) เปลปกป้อง ที่นำมาส่งมอบในวันนี้ เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้แก่ภาคเอกชนแล้ว ซึ่งเป็น “ผลงานพร้อมใช้” ที่ วช. ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน ได้เป็นอย่างดี

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์และด่านหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมสู้ภัยโควิด-19 ไปใช้ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือมูลนิธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ PETE เปลปกป้อง, หน้ากากอนามัยเซฟฟีพลัส (Safie Plus), หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีซี, ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 NANO COVID-19, แอปพลิเคชั่น DDC Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19, ระบบบริการการแพทย์ทางไกล AMED Telehealth สนับสนุนการทำงาน Home Isolation และ Community Isolation และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์เพื่อคนพิการ เป็นต้น สำหรับ PETE (พีท) เปลปกป้อง : เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่นำมาส่งมอบในวันนี้เป็นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดไปในแต่ละจุด 


โดยการออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรงและปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และยังสามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล โดยไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบ ช่วยลดการแพร่เชื้อโรคบนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และยังช่วยลดเวลา ลดจำนวนคนที่ต้องใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อีกด้วย โดยขณะนี้ได้ถ่ายทอดสิทธิให้กับบริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลักดันให้ผลงานถูกนำไปสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และที่ผ่านมาเอ็มเทค สวทช. ยังได้ส่งมอบเปลปกป้องเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครของหน่วยงานต่างๆ รวม 50 แห่ง 


การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในครั้งนี้ จึงทำให้เกิดการขยายผลและส่งมอบเปลปกป้อง  ให้กับโรงพยาบาลเพิ่มอีก 7 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลตากสิน 2. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ 3. โรงพยาบาลลาดกระบัง 4. โรงพยาบาลสิรินธร 5. โรงพยาบาลบางขุนเทียน 6. โรงพยาบาลบางไผ่ และ 7. โรงพยาบาลวังจันทร์   จ.ระยอง 


เพื่อใช้ในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปจากการแพร่กระจายเชื้อของโรคโควิด-19 ซึ่งการระบาดของ ‘โรคโควิด-19’ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดทำงานอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง รับหน้าที่เป็นเสมือนด่านหน้าในการต่อสู้กับโรค จึงจำเป็นต้องได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น