วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

วช.หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ  


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดีและนายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) - โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ



ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยไฟซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น 


ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก  


ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็นหนึ่งใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


ในโอกาสนี้ วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17  มีนาคม 2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น