วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รวมพลคนวิจัย ระดมสมองพัฒนากลไก ผลักงานวิจัย - นวัตกรรมไทยใช้ประโยชน์

สกสว. เปิดฟลอร์ระดมสมอง เร่งพัฒนากลไกการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หวังงานวิจัย-นวัตกรรมไทย สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้คุ้มค่าการลงทุน

25 กุมภาพันธ์ 2564 --- หลังจากวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) รัฐสภาลงมติรับหลักการร่าง พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ที่ถือเป็นการปลดล็อคกฎหมายให้นักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมออนไลน์ระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบ และการกำหนดนิยามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์” เพื่อให้นักวิจัย ผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ทั้งจากหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิตงานวิจัย หน่วยงานที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย และหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกว่า 100 ท่าน ร่วมกันระดมสมองหารือเกี่ยวกับนิยามและกรอบแนวคิด รวมถึงกลไกที่ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในแต่ละด้าน เพื่อจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ สกสว.นำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบระบบ รวมถึงการออกคู่มือให้กับหน่วยงานและนักวิจัยในระบบ ววน. ได้ใช้เป็นแนวทางในการผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อไป

รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ตามที่ได้มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณวิจัยได้อย่างมีทิศทางและมีความคล่องตัว ลดความทับซ้อนของงานวิจัย ผลิตผลงานวิจัยได้ตรงกับความต้องการของประเทศ ที่ผ่านมาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรมตามที่ภาคนโยบายและสาธารณชนคาดหวังได้อย่างเต็มที่  สกสว.เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นอกจากจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงระบบส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของประเทศ ซึ่งระบบดังกล่าวจะไปเกี่ยวข้องกับระบบติดตามประเมินผลซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้สังคมเห็นผลลัพธ์และความสำคัญในการลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรม  เนื่องจากระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเกี่ยวกับกรอบแนวคิดและนิยามการใช้ประโยชน์ รวมถึงกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯในวันนี้ขึ้น

ด้าน รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์  สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า  ปัจจุบัน สกสว. แบ่งประเภทของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization หรือ RU) ตามผู้ใช้ประโยชน์ (Users)  4 ด้าน คือ นโยบาย เศรษฐกิจ สังคม  และวิชาการ  ในด้านนโยบาย ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานระดับนโยบาย เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำหนดนโยบาย แผน แนวปฏิบัติ ระเบียบ มาตรการ กฎหมาย หรือใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยผู้ประกอบการทุกขนาดรวมถึง สตาร์ทอัพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ด้านสังคม  ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยชุมชน สังคม หรือคนในพื้นที่เป้าหมายเปลี่ยนระบบคิด พฤติกรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และด้านวิชาการ ผลงานวิจัยฯ ถูกนำไปใช้โดยนักวิชาการ นักวิจัยหรือคนในแวดวงวิชาการ นำไปสู่การเรียนรู้  จนเกิดการเผยแพร่และต่อยอดองค์ความรู้  โดยทั้ง 4 ด้าน ต้องสามารถแสดงหลักฐานการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน

ทั้งนี้จากการระดมความเห็น ได้ข้อสรุปสำคัญ คือ ทางด้านนโยบาย  มีข้อเสนอแนะว่า ควรคำนึงการใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมทั้ง  3 ฝ่าย  คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ปัญหาสำคัญที่ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการนโยบาย คือ 1)ส่วนใหญ่ความต้องการงานวิจัยมาอย่างรวดเร็ว กระบวนการทำวิจัยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการให้ทุนในรูปแบบใหม่ 2)ข้อเสนอแนะทางนโยบายขาดความคมชัด 3) งานวิจัยไม่ตอบโจทย์ ขาดเวทีสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ ควรมีการจัดตั้งหน่วยเชื่อมประสานเพื่อให้มีการรับส่งโจทย์วิจัยจากผู้ใช้ รวมไปถึงกระบวนการออกแบบนโยบายร่วมกัน 4) ขาดนักวิจัยด้านนโยบายรุ่นใหม่ ควรมีกลไกสนับสนุนงบประมาณสร้างนักวิจัยด้านนโยบาย เป็นต้น ทางด้านเศรษฐกิจ มีข้อเสนอแนะที่คล้ายคลึงกันคือ ยังขาดการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและงานวิจัยเช่นกัน การสร้างนวัตกรรมต้องมีกลไกภาครัฐคอยขับดันเช่นภาครัฐการันตีการเป็นผู้ซื้อนวัตกรรม  ผู้ประกอบการยังไม่สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการพัฒนานวัตกรรมไปถึงขั้นที่พร้อมใช้ สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เพียงตัวต้นแบบ  โดยทุกภาคส่วนต้องเห็นภาพเดียวกันตลอดห่วงโซ่ (Value Chain) ทางด้านสังคม  จากการระดมความเห็น มีการให้ปรับนิยาม และข้อเสนอแนะว่าควรสร้างกลไกให้นักวิจัยสามารถมองเห็นเป้าหมายทั้งเป้าหมายหลักและรองได้  นอกจากนี้ในการสนับสนุนงบประมาณ ควรมีการจัดสรรงบด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากงบประมาณวิจัยกล่าวคือมีการแยกส่วนกัน  ท้ายที่สุดนักวิจัยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกที่ทำให้มองเห็นปลายทาง และการประเมินผลกระทบ (Impact Pathway)  ได้ ทางด้านวิชาการ มีข้อเสนอแนะว่า นิยามควรมีการเพิ่มเติม ผลกระทบทางวิชาการในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นจริยธรรม กำหนดผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ ในศาสตร์หลายศาสตร์อย่างมนุษยศาสตร์ให้ชัดเจนขึ้น ในเรื่องการตีพิมพ์ การประเมินผลควรนับการตีพิมพ์อื่นๆนอกเหนือจากการตีพิมพ์ทางด้านวิชาการด้วย เพราะเข้าถึงสาธารณชน ด้านผลกระทบ ควรตั้งเป้าหมายไปถึง นักวิชาการไทยได้รับการยอมรับระดับสากล เป็นต้น  นอกจากนี้ในความป็นจริง งานด้านวิชาการไม่สามารถระบุผลกระทบได้ในระยะเวลาสั้น ควรมีหน่วยงานกลางสนับสนุนงานด้านข้อมูลได้ทั้งหมด ควรสร้างกลไกเชื่อมโยงประสานการทำงาน ซึ่งจากการประชุมจะเห็นได้ว่าระบบ ววน.ยังคงต้องการกลไกและหน่วยที่จะเชื่อมโยงการทำงานกัน 

ข้อสรุปจากการระดมสมองวันนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ สกสว. จะนำไปออกแบบแนวทางการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนให้งานวิจัยและนวัตกรรมจนสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำให้การติดตามและประเมินผลลัพธ์และผลกระทบการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการ ส.ป.ก. และคณะร่วมติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสงขลา

      ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแล...