วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิจัย สกสว. เสนอภาครัฐเตรียมทำ Travel Bubble กับประเทศความเสี่ยงต่ำ หลังหลายประเทศเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19


ข้อมูลจากโครงการการศึกษาวิเคราะข้อมูลรายงานสถานการณ์ ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วิเคราะห์ผลกระทบการระบาดของโควิด19 ระบุว่า ปัจจุบันการระบาดของ COVID19 นําไป สู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก ถือเป็นภาวะตกต่ำที่สุดของเศรษฐกิจโลก แรงงานกว่า 1.6 พันล้านคนในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (Informal economy) มีโอกาสเสียงที่จะตกงานและสูญเสียรายได้จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้ โดยแรงงานเหล่านี้ จัดเป็นกลุ่มเปราะบางเนื่องจากไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองของสวัสดิการของภาครัฐหรือหน่วยงานทางการ และเป็นปัจจัยนําไปสู่ การเพิ่มขึนของจํานวนคนจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำ สําหรับภาคส่วนธุรกิจทีได้รับผลกระทบอย่างหนัก  ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจบริการและการท่องเทียว เป็นต้น

รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์  นักวิจัยโครงการ“การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า โรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 เพราะรัฐบาลเลือกปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และทำให้กิจการโรงแรมต้องหยุดชะงักเพื่อให้คนไทยปลอดจากเชื้อ COVID-19 ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญต้นทุนจมจากการที่โรงแรมมีสิ่งปลูกสร้างที่ต้องดูแลรักษา  แม้ภาครัฐจะส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศและการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ  แต่ความต้องการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นไม่น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยรายได้ของกลุ่มโรงแรมที่หายไปจากการปิดประเทศได้เพียงพอ ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินประสบปัญหาทางปฎิบัติและไม่มีประสิทธิผลโดยเฉพาะประเด็นการขอหลักทรัพย์เพิ่ม  

ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าภายหลังที่ประเทศทั่วโลกสามารถบริหารจัดการวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จ ธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงโรงแรมน่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว การให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมโรงแรมมีประโยชน์ส่วนเพิ่มกับระบบเศรษฐกิจไทย (มี Positive Externality)  ในทางกลับกันการไม่ให้ความช่วยเหลือ ธุรกิจโรงแรมจะกลายมาเป็นปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่สถาบันการเงิน อาจทำให้เกิดปัญหาแก่ระบบสถาบันการเงินได้ในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือดังที่เกิดขึ้นในวิกฤตในช่วงปี พ.ศ. 2540  

ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นกับกิจการทุกขนาด แต่มาตรการช่วยเหลือให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ในขณะที่มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจำนวนหนึ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป และบรรเทาผลกระทบต่อการจ้างงาน  แต่ไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือเพราะขนาดกิจการเกินเกณฑ์คำจำกัดความที่ใช้ในภาครัฐเล็กน้อย   

ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมและกลุ่มท่องเที่ยวเป็นการพิเศษตราบเท่าที่ยังเลือกที่จะไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  เพราะมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทำธุรกิจไม่ได้ตามปกติ 

โดยสามารถดำเนินการได้ใน 2 ลักษณะ การปล่อยกู้เงื่อนไขพิเศษกับผู้ประกอบการ โดยเงื่อนไขพิเศษโดยเฉพาะการเข้าค้ำประกันโดยภาครัฐ หรืออาจจัดตั้งกองทุนในลักษณะ Asset Management Fund (AMC) เพื่อเข้าถือหุ้นและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยดังที่เคยดำเนินการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เพื่อประคองการเสื่อมราคาของสินทรัพย์ การช่วยเหลือดังกล่าวจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขการยังคงจ้างแรงงาน เช่น การให้ความช่วยเหลือร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อเดิมหากผู้ประกอบการคงการจ้างงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการจ้างงานเดิมก่อนวิกฤต  และให้วงเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้ประกอบการทำ Re-skill/up-skill ให้กับแรงงาน เป็นต้น   

นอกจากนั้นภาครัฐควรทำงานเชิงรุกเพื่อเตรียมทำ Travel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ และประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน เช่น การพัฒนา Dashboard เพื่อรายงานสถานการณ์ COVID-19 และแนวทางการจัดหาวัคซีนของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ รับรู้อย่างทั่วถึง และเตรียมความพร้อมในการกำหนดเงื่อนไขและแนวทางปฎิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศ เช่น ต้องได้รับวัคซีน COVID-19 ก่อนเข้าประเทศ วัคซีนที่ยอมรับ และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นควรให้ความรู้ทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายเพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกรณีสุดวิสัยและถูกฟ้องล้มละลายตระหนึกถึงสิทธิในการขอฟื้นฟูกิจการและมีโอกาสกลับมาทำธุรกิจใหม่ได้โดยเร็ว จัดทำระบบลงทะเบียนออนไลน์สำหรับแรงงานที่เคยทำงานในภาคท่องเที่ยวและโรงแรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลและลดปัญหา Mismatching ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ และ/หรือ การดำเนินกิจกรรมการเพิ่ม/ปรับทักษะเพื่อให้แรงงานมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เร่งคืนภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ  และการยินยอมให้ธุรกิจโรงแรมนำเอาผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 จนกระทั่งมีการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้มาหักภาษีเงินได้ในปีถัดๆ ไปได้ (Carry Loss Forward)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น