วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

วช. โชว์ต้นแบบความสำเร็จด้วยเทคโนโลยีผลิตองุ่นไชน์มัสแคท ณ สวนองุ่นฮักริมปิง เชียงใหม่



 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โชว์ต้นแบบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตองุ่นไชน์มัสแคท ณ สวนองุ่นฮักริมปิง เชียงใหม่ ผลงานการบูรณาการองค์ความรู้ของนักวิจัย ม.นเรศวร ในด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ ตลอดจนการประเมินคุณภาพองุ่น



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำชมความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สวนองุ่นฮักริมปิง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์พร้อมคณะ ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคท ทั้งจากญี่ปุ่นและสวนองุ่นในไทย ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและตาก ทำให้ได้รับทราบปัญหาของเกษตรกรโดยตรง และได้ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาในแปลงปลูกองุ่นไซน์มัสแคทในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นได้รวบรวมองค์ความรู้ เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ และการประเมินคุณภาพองุ่น                          


สำหรับงานวิจัยสนับสนุนองค์ความรู้ดังกล่าว ได้แก่ 1. งานวิจัยการผลิตองุ่นไซน์มัสแคท ตั้งแต่เริ่มเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูกและการดูแล ตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ถ่ายทอดแก่เกษตรกร ได้แก่  การตัดแต่งกิ่ง การควบคุมทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยและน้ำ การใช้กรดจิบเบอเรลลิก (GA3) และ CPPU การตัดแต่งช่อผล เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น ไม่มีเมล็ด และช่อใหญ่ รสชาติหวาน 


2. งานวิจัยการเข้าทำลายโรค แมลง และการป้องกันกำจัดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ โรคราน้ำค้าง โรคกิ่งแห้ง โรคแอนแทรคโนส แสคป โรคใบจุด โรคราสนิม โรคราแป้ง โรคลำต้นและรากเน่าจากเห็ด โรคใบไม้ใบลวก โรคใบจีบคล้ายพัด ส่วนแมลงศัตรูพิชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้หอม แมลงวันผลไม้ และหนอนเจาะสมอฝ้าย 


3. ระบบการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย เช่น การปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว การคัดบรรจุ การเก็บรักษาอุณหภูมิต่ำ และยืดการอายุการเก็บรักษาด้วยการดัดแปลงสภาพบรรยากาศ และสุดท้ายคือ 4. การรวมกลุ่มของเกษตรกร การตลาด โดยมีกิจกรรมให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง และกลุ่มเกษตรกรร่วมเสวนา เพื่อหาแนวทางการจัดการและการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น