วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักวิชาการเผย โควิดซา คนว่างงานน้อยลง แต่ทิ้งแผลเป็นทางเศรษฐกิจ คนเจนเอ็กซ์ / เจนวาย วัย 25 - 55 ปี รายได้ลด หนี้เพิ่ม บัณฑิตใหม่ไร้ทักษะวัยทำงาน

ผศ.ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ลูวิส  ผอ. ภารกิจการวิเคระห์สถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ “ศึกษาผลกระทบ มาตรการ และโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีจากการระบาดของโรคโควิด 19”  ซึ่งผลการวิจัยในชุดโครงการนี้  สกสว. จะนำไปพัฒนาโปรแกรมวิจัยที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ในแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) โดยชุดโครงการนี้ ประกอบด้วย 7 โครงการวิจัย คือ 1.ผลกระทบของโควิด 19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง  2.การศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การระบาดของ โควิด 19 : กลไกการรับมือ มาตรการช่วยเหลือ และวางแผนระยะยาว 3.การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม หลังวิกฤตโควิด 19 4.บทเรียนการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์เพื่อการควบคุมโรคและแนวโน้มการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีหลังวิกฤตโควิด 19  5.ความจำเป็นต้องจ้างแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย 6.โครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย  7.โครงการศึกษาพลวัตของความเหลื่อมล้ำในมิติรายได้และการบริโภคของครัวเรือนไทยและพลวัตของโครงสร้างของตลาดแรงงานไทยใน 3 ทศวรรษ  

ดร. สมชัย จิตสุชน  นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวให้ข้อมูลจาก “โครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 : กลไกการรับมือ มาตรการช่วยเหลือ และวางแผนระยะยาว”  ว่า งานวิจัยนี้ มุ่งเน้นการประมวลผลกระทบเชิงสังคม จากโควิด 19  เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณชน จากการสำรวจผลกระทบจากโควิด 19 ทางด้านเศรษฐกิจพบว่า ประชากร ร้อยละ 73.2 มีรายได้ลดลงหลังเกิดการระบาด โดยร้อยละ 39.9 มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผู้มีการศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่รายได้ลดมากกว่าผู้มีรายได้สูง ประชากรร้อยละ 8 ย้ายที่อยู่ระหว่างการระบาด คาดว่าย้ายกลับภูมิลำเนาร้อยละ 16.2 (ไม่รวมกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐ)  มีบุคคลกลายเป็นคนว่างงาน ร้อยละ 1.7  โดยออกจาก แรงงานรับจ้างทั่วไปหรือที่ทำงานแบบไม่ประจำมากสุด  ด้านผู้ประกอบการต่างปิดตัวลงไปตามๆกัน มีเพียงร้อยละ 65 เท่านั้นที่ยังคงเปิดกิจการต่อด้วยจำนวนลูกจ้างเกิน 10 คน  คนเคยว่างงานหรืออยู่นอกกำลังแรงงานจำนวนหนึ่งต้องพยายามกลับมาหางานทำ กว่าร้อยละ 70 ถูกกระทบจากโควิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ถูกพักงาน เลิกจ้าง ยอดขายลดลง หรือปิดกิจการ และทุกมาตรการ “ปิดเมือง”  มีผลกระทบต่อการทำมาหากินทั้งสิ้น ผลกระทบด้านสังคม ประชากร ร้อยละ 49 มีความวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งความไม่สะดวกในการเดินทาง และความไม่สะดวกในการรับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย  ร้อยละ 46 ของครัวเรือนที่มีเด็กวัยเรียน ตอบว่าไม่พร้อมที่จะเรียนระบบออนไลน์ เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก/แท็บเล็ตเหตุผลรองลงมา เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเวลาในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์

สำหรับประเด็นการว่างงาน  จากการปิดเมือง ผลการสำรวจช่วงที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั่วประเทศไทย มีคนที่ตกงานหลังสถานการณ์โควิด ประมาณ 5.69 ล้านราย เยาวชนอายุ 15 - 24 ปี หรือกลุ่มเจน และผู้ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปไม่ประจำ (ลูกจ้างรายวัน/ผู้รับเหมาช่วง) เป็นกลุ่ม เป็นผู้เสี่ยงตกงานมากที่สุดจากการปิดเมือง 

ผลการสำรวจครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม  2563  พบว่าสัดส่วนคนว่างงานน้อยลงเหลือประมาณ 3.4 ล้านราย แต่พบแผลเป็นทางเศรษฐกิจ คือ บัณฑิตจบใหม่เป็นผู้ว่างงานเป็นระยะเวลานานจนสูญเสียทักษะคนวัยทำงานเต็มตัว อย่าง เจนเอ็กซ์ (40 - 55 ปี) และ เจนวาย  (25 - 39 ปี) เป็นผู้มีรายได้ลดลง แต่หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม ทำให้การขยับสถานะทางสังคม (social mobility) เป็นไปได้ยากขึ้น เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน ในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการรวดเร็วขึ้น   เด็กนักเรียนขาดการเรียนหรือการได้รับโภชนาการที่เหมาะสม  เกิดความความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์ ลดศักยภาพในการขยับสถานะระหว่างรุ่น การสร้างงานและส่งเสริมศักยภาพแรงงานในระยะยาว  สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข นักศึกษาจบใหม่ปีการศึกษา 2563 จำนวน       5 แสนคน สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงาน โครงการต่างๆ ที่ช่วยเหลือ อาจจะรับรองได้ไม่หมด

ด้าน ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาเรื่อง  “ผลกระทบของโควิด 19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง”  ที่ศึกษาจาก การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม  การสำรวจเชิงปริมาณ สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างคนไร้บ้านจำนวน 137 คน  โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมูลนิธิกระจกเงา  โดยพบว่าโจทย์สำคัญสำหรับสวัสดิการสังคมหลังโควิด 19 คือ 1.ควรมีฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบที่ครอบคลุมทันสมัย 2. ควรพัฒนาระบบสวัสดิการให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ อย่าง การมี “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” หรือ UBI  มีบำนาญถ้วนหน้าหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากประกันสังคมมาตรา 40 ยังไม่จูงใจคนเข้าร่วม 3. ควรทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำ  เนื่องจากเรื่องกองทุนหมุนเวียนในชุมชนยังมีถูกหยิบยกมากล่าวถึงในช่วงโควิด นอกจากนี้ ความท้าทายด้านสวัสดิการของประเทศไทย สำหรับคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด 19 คือ สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งมีข้อกัดหลายประการ เช่น อยู่ไกลผู้รับบริการส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ศูนย์ที่พักทางเลือกโดยองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มีการจัดการยืดหยุ่นกว่า มีข้อดีด้านความสะดวกในการเข้าถึง  จึงอาจต้องมีมาตรการแก้ไขช่องว่างนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น