วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“คุณหญิงกัลยา” มอบหมายโฆษกและคณะกรรมการ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ” ณ. วทษ.อุบล หลังร่วมมือ AGS องค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา



“ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายโฆษกและคณะกรรมการ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ” ณ. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี หลังความร่วมมือกับ สถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) เชื่อมโยงนำองค์ความรู้สากลมาปรับใช้กับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่มีคุณหญิงกัลยา เป็นประธานฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อน “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี หนึ่งในวิทยาลัยนำร่อง ที่นำโดยนายไตรรงค์ คลังบุญครอง ผู้อำนวยการวิทยาลัย

พร้อมกันนี้คณะกรรมการโครงการ ผู้แทนของวิทยาลัย และจิตอาสาที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการ ได้มีการประชุมแบบ Teleconference เพื่อหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศตัวแทนของสถาบันองค์กรน้ำใต้ดินอเมริกา (American Groundwater Solution : AGS) ในการกำหนดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ก่อนการขุดเจาะพื้นที่ในวิทยาลัยเพื่อความแม่นยำ โดยการประสานกับผู้เชี่ยวชาญของไทย ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนไปเยี่ยมชมโมเดลการเก็บน้ำไว้ใต้ดินของ อบต.ยางขี้นก อ.เขื่อนใน จ.อุบลราชธานี ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการบริหารจัดการน้ำ

ที่มาของโครงการดังกล่าว เกิดจากดำริของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในการแก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” และเห็นว่าปีนี้ถือเป็นปีที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง หากไม่เร่งแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำของชุมชนอย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานซึ่งมีที่ดินนอกเขตชลประทานถึง 80% ที่ต้องได้รับการบริหารจัดการให้สามารถกักเก็บน้ำฝนที่อยู่นอกเขตชลประทานได้ ปัจจุบันในพื้นที่อีสานสามารถกักน้ำฝนไว้ใช้ได้เพียง 3.5% จากปริมาณน้ำฝนโดยรวมซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงต้องเร่งแก้ไขและดำเนินการให้ทันก่อนฝนจะหมดในปีนี้


หลักคิดในการทำโครงการคือชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยรัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้องค์ความรู้ และกระทรวงศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของคุณหญิงกัลยา จะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ และจะมีการหลักสูตรสร้างชลกร คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อเองได้

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมทีมผู้เชี่ยวชาญจาก AGS และ มจธ. รวมถึงจิตอาสาอีกหลายท่านที่มาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมใจกันกันถวายเป็นพระราชกุศล และนับเป็นความสำเร็จไปอีกขั้นในการเชื่อมโยงนำองค์ความรู้ที่เป็นสากลมาปรับใช้กับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำหลาก ให้กับคนในพื้นที่ ตามนโยบายของคุณหญิงกัลยา












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น