วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

CPF ร่วมต้านภัยโควิดชายแดน ส่งอาหารปลอดภัย เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มที่ รพ.พบพระ จ.ตาก



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งมอบอาหารสำเร็จรูป CP ในโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพบพระ จ.ตาก เพื่อเป็นกำลังใจแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ดูแลคัดกรองผู้ป่วย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมและประเทศไทยให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยมี คุณธารินี ศิริวัลย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ เป็นผู้รับมอบ


ทั้งนี้ ซีพีเอฟ จะจัดเตรียมอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ 5 แห่ง ใน จ.ตาก ได้แก่ โรงพยาบาลพบพระ, โรงพยาบาลแม่สอด, โรงพยาบาลท่าสองยาง, โรงพยาบาลแม่ระมาด และ โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยทีมงานเดลิเวอรี่ของซีพี เฟรชมาร์ท จะจัดส่งอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ถึงที่ทุกโรงพยาบาล 

ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและได้แบ่งเบาภาระของ ก.สาธารณสุข ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยและประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ในครั้งนี้ บริษัทฯ ขอนำความเชี่ยวชาญด้านอาหาร มาช่วยแบ่งเบาภารกิจของทีมแพทย์ใน จ.ตาก อีกครั้ง เพื่อเติมกำลังกายและเป็นกำลังใจให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดและมีความเสี่ยงอย่างมากในสถานการณ์นี้ เนื่องจาก จ.ตาก เป็นจังหวัดชายแดนที่มีแรงงานจากเมียนมาเข้าออกเป็นจำนวนมาก



ซีพีเอฟ ชูผลิตภัณฑ์รักษ์โลกบรรลุรายได้ 30% ปี 2563 เดินหน้าสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ “ธุรกิจสีเขียว”

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  เดินหน้าเพิ่มรายได้สีเขียว (Green Revenue) เป็น 30% ปีนี้  สะท้อนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวในอนาคต 

นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปี 2562 กลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียวของบริษัทฯ กว่า 770 รายการ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก ผลิตภัณฑ์ไก่สด ผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็ดสดและเป็ดปรุงสุกแช่แข็ง ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อน ตามมาตรฐาน ISO 14067 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และฉลากวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐาน ISO 14046 จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถสร้างได้สีเขียวได้ 25% ของรายได้รวมของบริษัทฯ 

สำหรับปี 2563 อบก. ได้มอบฉลากลดโลกร้อนให้กับผลิตภัณฑ์อาหารไก่เนื้อของ ซีพีเอฟ 6 รายการ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 77,500  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2562 หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,280,000 ต้น  ซึ่งอาหารสัตว์ของ ซีพีเอฟ นอกจากจะให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของสัตว์แล้ว ยังคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอสพริกและซอสมะเขือเทศ 8 รายการ ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์  บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้สีเขียว 30% ในปี 2563   อาทิ นวัตกรรมการผลิตอาหารสุกรรักษ์โลก เพื่อให้สัตว์สุขภาพดีและรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน  ลดปริมาณไนโตรเจนในมูลสุกรได้ถึงร้อยละ 20-30 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ประมาณ 90 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 3,600 ไร่ ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ 

 


“การเพิ่มรายได้สีเขียวอย่างต่อเนื่องของ ซีพีเอฟ สะท้อนให้เห็นถึงหลักการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการหลายรูปแบบที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายหมายธุรกิจสีเขียวในอนาคต” นางสาวกุหลาบ กล่าว 

ซีพีเอฟ นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาเป็นแนวทางในการลดผลกระทบและของเสียในกระบวนผลิต เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์รูฟท็อป ติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน โซล่าร์ฟาร์ม และไบโอก๊าซ ติดตั้งในฟาร์มสุกร และการบำบัดน้ำเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่กว่า 90% ในธุรกิจฟาร์มกุ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ

ซีพีเอฟ ยังคงมุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตลงตามเป้าหมาย 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558 ตามเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพอเพียงให้กับมนุษยชาติ (People)  ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ (Planet)  และสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ (Profit) ให้กับบริษัทฯ โดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน

สวทช. ชวนเด็กๆ เรียนรู้ไวรัสโคโรนาและการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19

 


จากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 ก่อผลกระทบมากมายทั้งเศรษฐกิจ และสังคม และการสาธารณสุข  การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงได้จึงมีความสำคัญและประโยชน์อย่างมาก  

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยฝ่ายอาวุโสฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. พัฒนาสื่อการเรียนรู้ เกมและกิจกรรมให้ครู นักการศึกษา และเยาวชน เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและกลไกที่เข้าร่างกายและทำให้เกิดโรค  การสร้างจิตสำนึกในการดูแลตนเอง ตลอดจนมีทักษะการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคโควิด 19

ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น  รู้จักกับไวรัสโคโรนา ผ่านเกมและกิจกรรมวิทยาการคำนวณและการทดลอง  เช่น ไวรัสแต่ละชนิดมีลักษณะและทำให้เกิดโรคแตกต่างกันอย่างไร  และเข้าใจกลไกการเกิดโรคว่า ไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายและมีกระบวนการทำงานอย่างไรที่ให้เราเจ็บป่วย ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจ




ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเสริมสมรรถนะดูแลตนเองให้พ้นจากติดโรคโควิด 19   เช่น การสร้างเครื่องพ่นสปรย์แอลกอฮอลอัตโนมัติ  การทำเจลแอลกอฮอลล้างมือ การล้างมืออย่างไรให้สะอาดและมั่นใจ 

เด็กหญิงเสฏฐีรัตน์ ทาเเท่งทอง หรือน้องข้าวฟ่าง กล่าวว่า ชอบกิจกรรมสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ไวรัสโคโรน่า เพราะได้ความสนุกและทำให้คิดและได้ลงมือปฏิบัติ โดยเริ่มจากการรู้จักโคโนนาไวรัส และไวรัสชนิดต่างๆ ได้ถอดรหัสจากโค้ด โดยการร้อยลูกปัด รู้ถึงอันตรายจากโคโรนาไวรัส ว่าสามารถติดต่อได้ง่ายถ้าเราไม่ระวังตัว

การเรียนรู้ดังกล่าว นอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว  ได้มีการนำศิลปะภาพวาดมาเป็นผู้ช่วยทำให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่ายและจดจำได้ดีมากขึ้น 

เด็กหญิงพิชญธิดา  บงแก้ว ชอบภาพวาดที่กำลังล้างมือด้วยสบู่ เพราะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยการหมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน

เด็กหญิงชนัญธิดา  แสนขยัน ชอบภาพวาดคนนั่งในรถไฟฟ้า BTS BTS ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะสร้างความตระหนักว่า หากเราไม่ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือล้างมือบ่อยๆ อาจส่งผลให้เราได้รับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้

ส่วนเด็กชายศุภสิน กุลประชีพ น้องเฟิร์ส ชอบภาพการไวรัสตัวเล็กๆ ที่อยู่ในที่ต่างๆ เพราะกำลังสื่อถึงโคโรนาไวรัส ที่มีอยู่จำนวนมาก และอยู่ใกล้ตัว แต่มองไม่เห็น ทุกคนต้องทำป้องกันตัวเอง โดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่คนแออัด


"สุริยะ" ดึงกสอ.เปิดคอร์สระยะสั้นผลิตผ้ามัดย้อม ลงพื้นที่ชุมชนบางแคเพิ่มรายได้-สร้างอาชีพใหม่

          เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563  “สุริยะ” นำทัพ กสอ. ลงพื้นที่ช่วยชุมชนบางแค เปิดคอร์สฝึกอบรม “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ : การทำผ้ามัดย้อม เพิ่มทักษะ พัฒนาผลิตภัณฑ์  เข้าสู่ตลาด  สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ลดปัญหาว่างงานจากภัยโควิด 19   กิจกรรมได้รับการตอบรับเกินคาด ประชาชนแห่เข้าอบรมกว่า 300 คน มั่นใจสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชนปีละกว่า 18 ล้านบาท พร้อมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ



            นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดงาน “ฝึกทักษะอาชีพ สร้างรายได้ กระจายโอกาสสู่ชุมชน หลักสูตร “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ : การทำผ้ามัดย้อม” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงชุมชนต่างๆ โดยครั้งนี้ กสอ. ได้นำหลักสูตรของโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ : การทำผ้ามัดย้อม เป็นหลักสูตรระยะสั้นให้กับชุมชนในพื้นที่บางแค เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการว่างงาน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชน ตามแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 



            “ โควิด -19 กระทบต่อทุกภาคส่วนทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือหารายได้ได้ตามปกติ ทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีพ การเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ประชาชนบางส่วนจึงต้องกลับภูมิลำเนา แรงงานในระบบถูกเลิกจ้างเหล่านี้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จึงร่วมกันหาแนวทางการรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มรายได้   เพิ่มการจ้างงานในชุมชน  กสอ.เองได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 90 วันที่ผ่านมา ได้ให้กสอ

ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชน และภาคเกษตรอุตสาหกรรม โดยได้ใช้งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท ที่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ถึง 4,300 กิจการสร้างผู้ประกอบการและฝึกอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน 10,000 คน ให้มีรายได้ และช่วยรักษาอัตราการจ้างงาน 100,000 คน  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงชุมชน ให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปต่อยอดสร้างรายได้ และมีอาชีพเสริมจากการพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์” นายสุริยะ กล่าว

            ทั้งนี้ กสอ. ได้เปิดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติในหลักสูตรการทำผ้ามัดย้อม โดยผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมการย้อมผ้าที่เข้ามาเสริมทักษะพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน เนื่องจากการทำผ้ามัดย้อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือและสามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการนำเทคนิคการมัดย้อม เพื่อสร้างลวดลาย ในรูปแบบเป็นที่นิยมของตลาดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า  ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีประชาชนพื้นที่แขวงบางไผ่ เขตบางแค และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 300 คนเข้าร่วมฝึกอบรม  ที่อาคารฝึกอบรมวัดพรหมสุวรรณสามัคคี เขตบางแค ซึ่งคาดว่าในการจัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นเม็ดเงิน ราว 1.5 ล้านบาทต่อเดือนหรือคิดเป็นกว่า 18 ล้านบาทต่อปี เกิดการหมุนเวียนทางระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง



             พร้อมกันนี้ กสอ. ยังได้เปิดหน่วยเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต)ของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center : Thai-idc )   และ จุดให้บริการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มชุมชน วิเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด  19 ทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าขอรับคำปรึกษาเพื่อการวางแผนพัฒนาอาชีพ การประกอบการอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมอบรมทำผ้ามัดย้อม เพื่อไปต่อยอดไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กสอ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว ผ่านศูนย์ภาคที่มีอยู่ทั่วประเทศไปแล้ว 4 ครั้ง ทั้งภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ

           นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  "ในการเข้ามาส่งเสริมการฝึกอาชีพในพื้นที่ชุมชนบางแค ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากมีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานจำนวนมาก  ดังนั้นการเข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรม ครั้งนี้ถือเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล  ช่วยสร้างโอกาสด้านรายได้และอาชีพให้กับชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมั่นว่าโครงการจะเป็นแนวทางในการสร้างส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆอย่างต่อเนื่อง”